แอมเนสตี้แถลงหลังสภาผู้แทนฯ รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ย้ำ กม. ต้องให้ความยุติธรรมต่อผู้เสียหาย

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 1682 ครั้ง

แอมเนสตี้แถลงหลังสภาผู้แทนฯ รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ย้ำ กม. ต้องให้ความยุติธรรมต่อผู้เสียหาย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงหลังสภาผู้แทนฯ รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ย้ำ กม. ต้องให้ความยุติธรรมต่อผู้เสียหาย เรียกร้องทางการไทยให้ประกาศใช้กฎหมาย โดยให้ใช้นิยามของการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายที่สอดคล้องตามเนื้อหาของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ กำหนดความรับผิดชอบทางกฎหมายต่อเจ้าพนักงานในทุกระดับของสายการบังคับบัญชา และให้เคารพหลักการไม่ส่งกลับ (ไปยังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง) ตามกฎหมาย

17 ก.ย. 2564 กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนเสียงเห็นชอบในหลักการต่อร่างกฎหมาย ที่มุ่งกำหนดความผิดอาญาจากการกระทำทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้นต่อกฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดอาญาดังกล่าวที่เดินหน้ามาถึงจุดนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองบุคคลให้รอดพ้นและปลอดภัยจากการละเมิดที่ร้ายแรง รวมทั้งคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายและครอบครัว ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมมาเป็นเวลานาน

“ในบัดนี้ทางการต้องเร่งดำเนินการขั้นต่อไปและประกันว่าร่างกฎหมายฉบับปัจจุบันต้องสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยอย่างเต็มที่ และประกาศใช้เป็นกฎหมายอย่างรวดเร็ว”

“ความล่าช้าของรัฐบาลในการกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญา ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายคนอื่นไม่กล้าออกมาร้องเรียน ทั้งยังส่งสัญญาณต่อเจ้าพนักงานว่า พวกเขาไม่อาจกระทำการละเมิดเช่นนี้ได้อีกโดยไม่ต้องรับโทษ”

“ผู้เสียหายจากการทรมานและญาติของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ทั้งกรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร และนักกิจกรรมอย่างนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกอุ้มหาย ยังคงยืนหยัดในการรณรงคให้มีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้พวกเขาได้รับความยุติธรรม เข้าถึงความจริง และการเยียวยาสำหรับครอบครัว ร่างกฎหมายนี้ภายหลังการแก้ไขเพิ่มเติม อาจเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยพวกเขาในเรื่องนี้ได้”

“การลงคะแนนเสียงเห็นชอบร่างกฎหมายนี้นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญ แต่ยังไม่เพียงพอ รายงานข่าวล่าสุดเกี่ยวกับการทรมานโดยตำรวจ เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องหาทางแก้ไขปัญหาการทรมานและการใช้อำนาจอย่างมิชอบของเจ้าพนักงานบางคนอย่างมีประสิทธิภาพ”

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้ประกาศใช้กฎหมาย โดยให้ใช้นิยามของการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายที่สอดคล้องตามเนื้อหาของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ กำหนดความรับผิดชอบทางกฎหมายต่อเจ้าพนักงานในทุกระดับของสายการบังคับบัญชา และให้เคารพหลักการไม่ส่งกลับ (ไปยังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง) ตามกฎหมาย”


ข้อมูลพื้นฐาน

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบหลักการของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. และกำหนดกรอบเวลาที่จะประกาศใช้กฎหมายนี้ภายในต้นปี 2565 ภายหลังการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายดังกล่าวในเวลาเจ็ดวัน รัฐสภาจะรวมเนื้อหาของร่างฉบับนี้กับร่างอีกสามฉบับในประเด็นเดียวกัน จากนั้นจะเสนอต่อรัฐสภาอีกครั้งเพื่อการพิจารณาในช่วงเวลา 90-120 วัน

รัฐบาลเริ่มจัดทำร่างกฎหมายนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2557 แต่ได้เกิดความล่าช้าหลังจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง มีการถ่วงเวลาและกระทำการล่าช้าอย่างชัดเจน จนทำให้ไม่สามารถประกาศใช้กฎหมายนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ยังคงมีช่องว่างสำคัญในร่างกฎหมายฉบับปัจจุบัน รวมทั้งในประเด็นเกี่ยวกับข้อกำหนดเพื่อป้องกันสิทธิระหว่างการควบคุมตัว เขตอำนาจศาลสากล ข้อห้ามต่อการนำข้อมูลที่ได้จากการทรมานมาใช้เป็นพยานหลักฐาน รวมทั้งข้อกังวลเกี่ยวกับการกำหนดอายุความ

แม้ว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีในปี 2550 และลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายในปี 2555 แต่เจ้าหน้าที่ยังคงละเมิดอนุสัญญาเหล่านี้มาตลอด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เก็บข้อมูลการทรมานและการปฏิบัติอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีอย่างกว้างขวางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพบก รวมทั้งการบังคับบุคคลให้สูญหายในอีกหลายกรณี นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องหาคดีก่อความไม่สงบ ผู้เข้าเมือง ผู้ใช้ยาเสพติด และทหารเกณฑ์ในระหว่างการฝึก ล้วนตกเป็นเหยื่อจำนวนมากของอาชญากรรมเหล่านี้ นอกจากนั้น ทางการไทยยังบังคับส่งกลับบุคคลไปยังประเทศที่พวกเขาเสี่ยงจะถูกทรมาน ซึ่งถือเป็นการละเมิดต่อหลักการไม่ส่งกลับ

ทางการไทยยังทำให้ปัญหาการลอยนวลพ้นผิดเลวร้ายขึ้น โดยมีการดำเนินคดีอาญากับผู้เสียหายและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งแสดงความกังวลของตนต่อสาธารณะ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: