แนะเร่งพัฒนา 'ทักษะแรงงาน' ท่ามกลาง 'การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและ COVID-19'

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 5557 ครั้ง

เสวนา ‘แนวทางการขับเคลื่อนตลาดแรงงานไทยเพื่อก้าวผ่านยุค COVID-19 : การปรับตัวของแรงงานทุกกลุ่มทุกช่วงวัยเพื่อความก้าวหน้า มั่นคงและยั่งยืน’ ชี้ COVID-19 ให้บทเรียนว่าในยามเกิดวิกฤตกลุ่มแรงงานนอกระบบมีความเปราะบาง ทุกภาคส่วนควรเร่งพัฒนา-ออกแบบระบบสวัสดิการสังคมที่ยืดหยุ่นให้ครอบคลุมแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ควรเร่งกระบวนการพัฒนาทักษะแรงงานกำลังคนในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและ COVID-19 อย่างขนานใหญ่เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศ รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างระบบการศึกษาที่ผลิตกำลังคนให้สอดคล้องก้าวทันกับความต้องการของตลาดแรงงานไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา | ที่มาภาพประกอบ: Marcel Crozet/ILO

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมามีการสัมมนาเรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนตลาดแรงงานไทยเพื่อก้าวผ่านยุคโควิด-19: การปรับตัวของแรงงานทุกกลุ่มทุกช่วงวัยเพื่อความก้าวหน้า มั่นคงและยั่งยืน โดยเป็นการสัมมนาผ่านทางระบบออนไลน์ (Video Conference)  จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลและความคิดเห็นจากประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมการสัมมนาต่อการปรับตัวของแรงงานทุกกลุ่มทุกช่วงวัย และการวางแผนของทุกภาคส่วนในระยะกลางและระยะยาว พร้อมทั้งร่วมกันแสวงหาแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือต่อวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รัฐบาลไทยได้ระดมสรรพกำลังเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งได้รับการยอมรับในระดับสากล ส่งผลให้การควบคุมการแพร่ระบาดของไทยนั้นอยู่ระดับที่น่าพึงพอใจ  อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ผลกระทบต่อแรงงานที่เกิดขึ้นมีเหตุปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือ ผลกระทบที่เกิดจากมาตรการควบคุมสถานการณ์ของรัฐ และผลกระทบที่เกิดจากการปรับตัวของภาคธุรกิจและการจ้างงาน ประการที่สอง คือผลกระทบจากการปรับตัวของภาคธุรกิจและการจ้างงานที่เกิดเป็นแนวคิด “New Normal” ผลักดันให้แรงงานจำเป็นต้องรอบรู้ทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี เพิ่มทักษะการทำงานให้สอดรับกับการจ้างงานแบบยืดหยุ่น ด้วยเหตุนี้ บทบาทของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งทบทวนพิจารณาและวางแผนขับเคลื่อนการส่งเสริมการจ้างงาน การสร้างรายได้ที่เหมาะสม การปรับระบบประกันสังคม การคุ้มครอง ช่วยเหลือเยียวยาแรงงานให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาและเสริมทักษะให้แรงงาน 

จากนั้น นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน ได้กล่าวชี้แจงถึงแนวทางการดำเนินนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานไทยให้ก้าวผ่านช่วง COVID-19 อย่างมั่นคงและยั่งยืน ใน 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ แรงงานจะต้องปลอดจากการติดเชื้อ COVID-19 และประเด็นที่ 2 เมื่อแรงงานได้รับผลกระทบจะต้องได้รับการดูแลคุ้มครอง เยียวยา รวมทั้งจัดหางานและเพิ่มทักษะฝีมือ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ดำเนินการคุ้มครอง โดยให้คำแนะนำสร้างความรู้ความเข้าใจระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีแก่นายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการ รวมถึงการใช้แนวทางมาตรา 75 ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว เพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด ด้านการเยียวยา สำนักงานประกันสังคมมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการจ่ายเงินชดเชยจากการว่างงานจากเหตุสุดวิสัย COVID-19 ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 62 ของค่าจ้าง  นอกจากนี้ ยังได้จัดหางานและเพิ่มทักษะฝีมือ โดยศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) ได้เตรียมตำแหน่งงาน Part-time รวมถึงโครงการจ้างงานโดยภาครัฐสำหรับบัณฑิตจบใหม่ อีกทั้งยังร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการเตรียมงบประมาณเพื่อดำเนินการจ้างงานและการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอีกด้วย สำหรับแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางานมีมาตรการชะลอการอนุมัตินำเข้าในทุกขั้นตอนตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ  และผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มบัตรชมพูสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้จนถึง 30 พ.ย. 2563 และกลุ่ม MOU รวมทั้งกลุ่มไป - กลับ สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้จนถึง 31 ก.ค. 2563

สำหรับในช่วงการนำเสนอเรื่อง “การนำเสนอแนวโน้มการปรับตัวและความเปลี่ยนแปลงหลังยุค COVID-19” ได้เริ่มต้นด้วย ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงแนวทางความร่วมมือทำงานขับเคลื่อนสังคมและตลาดแรงงานไทยหลังยุค COVID-19 ของจุฬาฯ โดยมุ่งส่งเสริมองค์ความรู้ด้านแรงงานผ่านการส่งเสริมงานวิจัย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัย ตลอดจนการสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่และนักวิจัย ส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ และเน้นการเชื่อมโยงไปสู่นโยบายที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน โดยเครือข่ายนักวิจัยไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยจากจุฬาฯ เท่านั้น แต่ยังเน้นการขยายภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ จุฬา ฯ รวมถึงการขยายผลการดำเนินงานและร่วมกันทำงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบในภาพรวมทั้งเชิงลบและเชิงบวกต่อตลาดแรงงานไทยใน 3 มิติหลัก

จากนั้น ดร.มนทกานต์ ฉิมมามี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬา ฯ และ CU-Collar ได้นำเสนอสรุปผลการชุดสัมมนาออนไลน์ทั้ง 7 ครั้งที่ผ่านมา (เดือน พ.ค. - ต้นเดือน มิ.ย. 2563) ในหัวข้อ “ตลาดแรงงานไทยหลังยุค COVID-19: การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืน” ของ CU-Collar โดยเป็นการร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ความรุนแรงของวิกฤต COVID-19 ตลอดจนแนวทางการปรับตัวในอนาคต ซึ่งผลจากการจัดสัมมนาออนไลน์สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบในภาพรวมทั้งเชิงลบและเชิงบวกต่อตลาดแรงงานไทยใน 3 มิติหลักๆ ด้วยกัน ดังนี้  

1) วิกฤต COVID-19 ซ้ำเติมและเปิดเผยปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะปัญหาการพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำ ปัญหาแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองทางสังคม และปัญหา Mismatch ระหว่างอุปสงค์และอุปทานของแรงงาน 

2) วิกฤต COVID-19 เร่งให้เกิด Digital transformation โดยถือว่า COVID-19 นั้นเป็น The Biggest Digital Disruptor แห่งศตวรรษที่ 21 ที่ผลักดันให้ระบบ AI เข้ามามีบทบาทในการทำงานเร็วยิ่งขึ้น และขยายวงกว้างไปยังทุกภาคส่วน 

3) วิกฤต COVID-19 ก็มีผลเชิงบวกที่ก่อให้เกิดการสร้างงานใหม่และโอกาสใหม่อันเป็นผลมาจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน หรือประกอบธุรกิจมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ในการรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ 

สำหรับสรุปข้อเสนอแนะ ทาง CU-Collar ได้เสนอแนวคิด 4 เสาหลักและ 1 แนวทางในการบริหารจัดการแรงงานเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในตลาดแรงงานสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ และพัฒนาให้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป ดังนั้น จึงควรมุ่งไปทิศทางของ “สนับสนุนงานเดิม เพิ่มเติมงานใหม่ คุ้มครองให้ปลอดภัย ร่วมแก้ไขหารือ มุ่งพัฒนาฝีมือ ยกระดับไทยก้าวไกลยั่งยืน” 

วิทยากรท่านถัดมาคือ ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการจุฬาอารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้บรรยายในประเด็น “ผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อประชากรและแนวทางการปรับตัว” โดย เน้นย้ำผลกระทบของ COVID-19 ต่อผลกระทบเชิงโครงสร้างต่อตลาดแรงงานและผู้สูงอายุและครอบครัวของแรงงาน ในขณะที่สัดส่วนของผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเตรียมการให้พร้อมเพื่อยามสูงวัยอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะคนรุ่นอายุ 40 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ เพื่อความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงชีวิต ทั้งมิติของการวางแผนที่อยู่อาศัย การออมเงิน การพัฒนาศักยภาพตนเอง รวมถึงการดูแลสุขภาพกายและใจ

ภาครัฐปรับบทบาทเพื่อช่วยเพิ่มพูนทักษะการทำงานและทักษะชีวิตของประชากรอายุ 40-50 ปี

ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ เสนอให้ภาครัฐปรับบทบาทเพื่อช่วยเพิ่มพูนทักษะการทำงานและทักษะชีวิตของประชากรอายุ 40-50 ปี ที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ช่วยลดความเหลื่อมล้ำผ่านการส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจฐานราก และการกระจายศูนย์กลางความเจริญไปสู่การปฏิบัติจริง สร้างความเข้มแข็งของชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถทำหน้าที่ในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ อีกทั้งเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลของประชากรในระดับพื้นที่มาใช้วางแผนการพัฒนาทั้งในยามปกติและยามวิกฤต โดยควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างบ้านให้มั่นคง สร้างงานใกล้บ้าน ให้งานวิ่งสู่ชุมชน สร้างระบบชุมชนให้รองรับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการย้ายถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำ บรรเทาปัญหาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม 

หัวข้อสุดท้ายของช่วงการบรรยาย คือประเด็น “ความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานไทยและแนวโน้มทางธุรกิจหลังCOVID-19” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามชวนฉุกคิดว่า “พวกเราได้ผ่านจุดที่แย่สุดไปแล้วหรือยัง” COVID-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ต่างกันออกไป ผลบวกมีแนวโน้มเกิดขึ้นกับ ธุรกิจอาหาร สุขภาพ และการสื่อสาร หากแต่ผลลบนั้นกินวงกว้างไปในหลายธุรกิจ เช่น การศึกษา เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ สาธารณูปโภค และส่งผลลบรุนแรงไปยัง ธุรกิจการเดินทาง สายการบิน นันทนาการ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น หลังจากนี้ ผลกระทบของ COVID-19 จะเป็นอย่างไรนั้น ปัจจัยที่สำคัญคือความเชื่อมั่นของ ภาคธรุกิจและประชาชน เพราะถ้าหากภาคธรุกิจและประชาชนยังไม่เชื่อมั่นว่า สถานการณ์ COVID-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้นดีขึ้นจริง ภาคธรุกิจและประชาชนก็ยังคงตัดสินใจเสมือนว่าสถานการณ์ COVID-19 ยังเลวร้ายอยู่   

ในส่วนของลักษณะอาชีพก็มีความต่างในประเด็นของความยาก-ง่ายของการใช้แนวปฏิบัติของ Social Distancing โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ ความสำคัญของ การทำงานเป็นทีม การพบปะลูกค้าหรือผู้รับบริการโดยตรง และการทำงานในที่ทำงานเท่านั้นเพราะต้องใช้เครื่องมือที่จำเป็น จากผลงานวิจัยของ อ.ปิยะชาติและคณาจารย์ที่ศศินทร์ แสดงให้เห็นว่ามีอาชีพที่สามารถใช้แนวปฏิบัติระยะห่างทางกายภาพได้ง่ายและยากต่างกันไป เช่น พิสูจน์อักษร โปรแกรมเมอร์ หรือนักเศรษฐศาสตร์ สามารถใช้ได้ง่าย แต่อาชีพผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ ตำรวจสายตรวจ หรือช่างซ่อมไฟฟ้า จะประสบกับความยากลำบากในการใช้แนวปฏิบัติดังว่านี้ อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตนั้นยังคงมีโอกาส หัวใจสำคัญอยู่ที่ “การปรับตัว” ถ้าเราสามารถทำให้เทคโนโลยี เข้ามาเสริมกับทักษะหรือลักษณะการทำงานของแรงงานก็จะช่วยเสริมผลิตภาพของแรงงานได้ ในยุคปกติใหม่นี้ เราควรคิดใหม่ ทำใหม่ เพราะอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ต่อการปรับตัว คือการรับมือกับวิกฤตด้วยวิธีคิดแบบเก่า ๆ

แนวนโยบายที่จำเป็นสำหรับแรงงานทุกกลุ่มหลังยุค COVID-19 เพื่อเพิ่มความอยู่รอดและยั่งยืน

ในช่วงการเวทีเสวนา “แนวนโยบายที่จำเป็นสำหรับแรงงานทุกกลุ่มหลังยุค COVID-19 เพื่อเพิ่มความอยู่รอดและยั่งยืน” ดำเนินการโดย ผศ.ดร.รัตติยา ภูละออ ผู้อำนวยการ CU-Collar และอาจารย์ประจำวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

คุณประพันธ์  สิมะสันติ ผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึง นโยบายที่จำเป็นขณะนี้คือ การเยียวยาให้กับแรงงานโดยเฉพาะบริการท่องเที่ยว โรงแรม ทั้งผู้ประกอบการ ทั้งแรงงาน และระดับการเยียวยาโดยเฉพาะแรงงานในภาคที่ได้รับผลกระทบสูง อย่างไรก็ดี ควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนในการที่จะให้เขาได้รับความรู้ ด้านภาษามากขึ้น การให้บริการที่ดีขึ้น การพัฒนาทักษะเพื่อให้ตรงความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น 

นอกจากนี้ คุณมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยและอนุกรรมาธิการด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ระบุถึงความจำเป็นในด้านภาพรวมคือ นโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้หลักประกันทางสังคม เรื่องสิทธิประโยชน์การคุ้มครอง ถึงความเป็นไปได้ของการทำ “ประกันสังคมแบบถ้วนหน้า” นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายบางส่วนที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงานโดยพื้นฐาน เพราะในอนาคตอันใกล้นี้การจ้างงานจะเปลี่ยนรูปแบบใหม่ไปเรื่อย ๆ ต่อไปอาจจะทำงานบนออฟฟิศหรือทำงานที่บ้านก็ได้ สิ่งเหล่านี้ถ้าเราควรมีสวัสดิการ มีหลักประกันสังคม เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรปฏิรูประบบประกันสังคมแบบทั่วหน้า โดยต้องหาตัวเลขให้ได้ว่าเขาต้องจ่ายยังไง กรณีที่มีการเปลี่ยนผ่านการจ้างงานเป็นอาชีพใหม่ ก็อยากให้เพิ่มเป็นประกันสังคมแบบถ้วนหน้าทุกคนก็สามารถเข้าถึงสิทธิได้ รวมถึงรัฐบาลน่าจะมีนโยบายส่งเสริมภาคการผลิตทางการเกษตร คือควรมีการสนับสนุนงบประมาณให้กับผู้ประกอบการที่มีการลงทุนทำกิจการอาหารแปรรูปมากขึ้น เพื่อรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างหลังจากสถานประกอบการปิดกิจการในช่วง COVID-19 และควรมีนโยบายให้แรงงานภาคการเกษตรอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานด้วยครับ

อีกทั้งคุณสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มีด้วยกัน 5 ประเด็น ประเด็นที่ 1 คือ การยกระดับเรื่องการชดเชยเยียวยาเข้าสู่หลักประกันสังคมแบบถ้วนหน้า ทำเรื่องชดเชยการเยียวยาให้เป็นธรรม และยกระดับไปถึงระบบสวัสดิการรวมถึงผู้สูงอายุภาคการเกษตรด้วย ประเด็นที่ 2 คือผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนโยบายควรคำนึงถึงการปรับตัวของเกษตรกรและชุมชน เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคงและเป็นธรรม ประเด็นที่ 3 คือต้องพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของชุมชนโดยเปิดโอกาสให้มีตลาดหลายช่องทาง และก็อาจจะไม่ใช่แพลตฟอร์มทางดิจิทัลอย่างเดียว โดยต้องมีนโยบายให้มีการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจของชุมชนในภาคการเกษตร และสร้างให้คนสามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม ทำให้เกิดการผลิตแล้วก็การมีงานทำควบคู่กันไปด้วย ประเด็นที่ 4 เป็นเรื่องกลไกการเฝ้าระวังในเรื่องวิกฤตมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าระวังเรื่องภัยพิบัติ เรื่องสุขภาพ หรือการเฝ้าระวังไม่ให้อาชีพมันสั่นคลอน อาจจะต้องมีกลไกเหล่านี้ให้เกิดขึ้น และประเด็นสุดท้ายคือ เครือข่ายทางสังคมมีความสำคัญมากจึงควรทำโครงสร้างเหล่านี้ให้เข้มแข็ง อาจจะเป็นแบบที่หลายท่านเสนอว่าอาจจะมี sector ต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่ sector ในชุมชน แต่อาจจะข้ามข่ายผ่านทางโซเชียลมีเดียด้วย โครงสร้างทางสังคมเหล่านี้หากมีการศึกษา และทำให้เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อรองรับวิกฤตและพัฒนาในเชิงรุกได้ด้วย 

ควรเร่งพัฒนา 'ทักษะแรงงาน' ท่ามกลาง 'การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและ COVID-19'

ดร.เสาวณี  จันทะพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย นำเสนอว่าวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้นับเป็น “วิกฤตที่ไม่เหมือนวิกฤตใดในอดีต”  ส่งผลหลายด้าน รวมถึงด้านการจ้างงาน แรงงานกลุ่มลูกจ้างเกือบร้อยละ 70 ของแรงงานทั่วโลกได้รับผลกระทบจากมาตรการล๊อกดาวน์ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากสุดอยู่ในสาขาธุรกิจ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวและขนส่ง ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และธุรกิจการค้าปลีกค้าส่ง นอกจากนี้กลุ่มแรงงานกลุ่มวัยแรงงานตอนต้น อายุ 15-24 ปีเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างมากกว่ากลุ่มแรงงานผู้ใหญ่เพราะมีสัดส่วนสูงกว่าในสาขาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูง  ในกรณีของไทยก็มีผลกระทบต่อการจ้างงานพิจารณาได้จากจำนวนประชาชนที่ขอรับเงินเยียวยาจากภาครัฐภายใต้ “โครงการเราไม่ทิ้งกัน” ถึง 22.3 ล้านราย ล่าสุดสภาพัฒน์เสนอว่าควรใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสเร่งปฏิรูปและสร้างระบบนิเวศน์พัฒนาตลาดแรงงานทุกกลุ่มและทุกมิติเพื่อยกระดับทักษะ รายได้ และคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยทั้งมาตรการระยะสั้นช่วยเหลือเยียวยา มาตรการยกเครื่องปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม และมาตรการปฏิรูปเชิงโครงสร้างตลาดแรงงาน 

ดร.เสาวณียังได้เน้นย้ำเพิ่มเติมใน 4 ประเด็นหลักคือ 1) ควรเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานด้านแรงงานการศึกษาเข้าด้วยกันเพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาคนของประเทศต่อไป 2) แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศควรเน้นให้เกิดการเติบโตที่ก่อให้เกิดการจ้างงานเต็มที่ให้ประชาชนทุกคนมีงานทำ มีรายได้สูงขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดี 3) COVID-19 ให้บทเรียนว่าในยามเกิดวิกฤตกลุ่มแรงงานนอกระบบมีความเปราะบาง ทุกภาคส่วนควรเร่งพัฒนา/ออกแบบระบบสวัสดิการสังคมที่ยืดหยุ่นให้ครอบคลุมแก่ประชาชนทุกกลุ่ม และ 4) ควรเร่งกระบวนการพัฒนาทักษะแรงงานกำลังคนในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและ COVID-19 อย่างขนานใหญ่เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศ รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างระบบการศึกษาที่ผลิตกำลังคนให้สอดคล้องก้าวทันกับความต้องการของตลาดแรงงานไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
 
ผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง https://www.facebook.com/labourcluster/videos/259979325304540/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: