รัฐบาลประยุทธ์ : มีอำนาจ แต่ไม่อาจปกครอง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล | 20 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 4816 ครั้ง


รัฐบาลประยุทธ์กำลังก้าวเข้าสู่สภาวะที่เรียกได้ว่า “มีอำนาจ แต่ไม่อาจปกครอง” อย่างชัดเจนมากขึ้น

Gene Sharp นักวิชาการด้านยุทธวิธีไร้ความรุนแรง ได้เคยเสนอประเด็นอันแหลมคมเกี่ยวกับอำนาจรัฐไว้ใน Power, Struggle, and Defence (แปลเป็นไทย “อำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรง” โดยชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และคมสัน หุตะแพทย์, 2529) ด้วยการพิจารณาว่าอำนาจทางการเมืองมิได้ขึ้นอยู่กับกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งครองอำนาจอย่างเป็นทางการเมือง และใช้อำนาจเหล่านั้นในการกำกับหรือควบคุมประชาชนเพียงอย่างเดียว

ในด้านตรงกันข้าม อำนาจทางการเมืองดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการยินยอมพร้อมใจของประชาชนต่อผู้มีอำนาจการเมือง หากเมื่อใดที่ประชาชนปฏิเสธการเชื่อฟังต่อผู้มีอำนาจทางการเมืองก็จะมีผลเป็นการสั่นคลอนต่อการดำรงอยู่ของอำนาจนั้น ๆ ในฐานะของผู้สนใจยุทธิวิธีแบบไร้ความรุนแรง Gene Sharp ได้รวบรวม 198 วิธีการในการต่อสู้กับอำนาจการเมืองจากสังคมต่าง ๆ เช่น การติดธงหรือสัญลักษณ์ การหยุดงาน การคว่ำบาตรทางสังคม การผละงาน เป็นต้น

หัวใจสำคัญของการแสดงให้เห็นการไม่ร่วมสมาคมหรือไม่ปฏิบัติตามกับผู้มีอำนาจนำอย่างเปิดเผยก็เพื่อสั่นคลอนการดำรงอยู่ของผู้มีอำนาจ ยิ่งการแสดงออกเป็นไปอย่างกว้างขวางเพียงใดก็ยิ่งมีผลต่อความชอบธรรมของผู้มีอำนาจมากขึ้น รวมถึงการทำให้ผู้มีอำนาจที่แม้จะมีอำนาจอย่างเป็นทางการ แต่ก็จะไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ

ในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นและสืบเนื่องมาจนกระทั่งกลายเป็นการชุมนุมแบบดาวกระจายของ “ราษฎร” ในขณะนี้ ก็คือการแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับต่อรัฐบาลและมีผลต่อความชอบธรรมของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

รัฐบาลที่นำโดยประยุทธ์ ซึ่งกระเหี้ยนกระหือรือต่อการใช้อำนาจแบบรุนแรงกับกลุ่มผู้มาชุมนุมนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา ด้วยความเข้าใจที่ตื้นเขินว่าเมื่อมีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำของการเคลื่อนไหวแล้วก็คงสามารถยุติการชุมนุมได้เฉกเช่นเดียวกันกับที่เคยใช้แนวทางนี้กับกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มคนผู้ต่อต้านรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม การชุมนุมแบบดาวกระจายของราษฎรทำให้รัฐบาลประยุทธ์ต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการรับมือกับการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้เป็นอย่างมาก

ไม่ว่าจะด้วยการกระทำด้วยเจตจำนงของตนเองหรืออยู่ใต้คำสั่งของพญามัจจุราช แต่ความล้มเหลวและความผิดในการบริหารงานที่ดำเนินมาตั้งการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 ท่าทีต่อกลุ่มคนที่ได้วิพากษ์วิจารณ์และเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในแง่ร้าย รวมทั้งยังคงมุ่งใช้กำลังและกฎหมายตามอำเภอใจ ทำให้รัฐบาลประยุทธ์ก็จะต้องตกอยู่ในภาวะของการ “มีอำนาจ แต่ไม่อาจปกครอง” และจะนำพาสังคมไทยให้จมดิ่งสู่ความยากลำบากเพิ่มมากขึ้น

“ประยุทธ์ออกไป” จะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่เปิดให้สามารถการแก้ไขปัญหานานัปการมีความเป็นไปได้ และเช่นเดียวกันหากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดที่ยังคงสนับสนุนนายกรัฐมนตรีชื่อ ประยุทธ์ ก็ควรต้องออกไปจากตำแหน่งด้วยเช่นกัน

 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่เฟสบุ๊ก ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: