เปิดรายละเอียด 'บ.ทรูม้ง โกลบอล' หลังภาคประชาชนหวั่นผูกขาด 'กัญชง' ไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 7235 ครั้ง

เปิดรายละเอียด 'บ.ทรูม้ง โกลบอล' หลังภาคประชาชนหวั่นผูกขาด 'กัญชง' ไทย

รายงานพิเศษจากสื่อ 'ผู้จัดการออนไลน์' จากกรณี สธ.กำหนดค่า THC ในกัญชงไม่เกิน 0.5% ภาคประชาชนจับตา 'บริษัท ทรูม้ง โกลบอล ดีสทริบิวชั่น จำกัด' ผูกขาดกัญชงไทย เผยรายเดียวที่ได้รับอนุมัติ ชี้ปี 2563 ตั้งเป้าผลิตถึง 1.4 พัน กก. ตั้งข้อสังเกตจับมือกับ บริษัท Titan Hemp สิทธิส่งออกอยู่ในมือต่างชาติ ที่มาภาพประกอบ: wikipedia.org

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2562 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าจากการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 เพื่อปลดล็อกสารสำคัญบางส่วนของพืชกัญชา และกัญชง ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางได้นั้น แทนที่จะได้รบเสียงชื่นชม แต่กลับเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การกำหนดให้ CBD ที่สกัดจากกัญชงต้องบริษุทธิ์ถึง 99% อาจเป็นการเอื้อภาคเอกชน เพราะเป็นการสกัดที่ต้องใช้เทคโนโลยีและมีค่าใช้จ่ายสูง ประชาชนไม่สามารถทำได้ อีกทั้งมีการกำหนดความหมายของกัญชงที่ต้องมี THC ในใบและดอกไม่เกิน 0.5% จากเดิมที่กฎกระทรวงเดิมปี 2559 กำหนดไว้ที่ 1% ก็ดูจะไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของกัญชงสายพันธุ์ไทยซึ่งมี THC 0.6-1.0% ซึ่งนอกจากกฎเกณฑ์ใหม่จะไม่ใช่การปลดล็อคกัญชงและกัญชาจากยาเสพติดแล้วยังเป็นขันล็อคให้แน่นขึ้น ทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับกลุ่มทุน

ขณะที่ในเรื่องของการปลูกกัญชงนั้น นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในขณะนั้น ก็ระบุว่าผู้ปลูกต้องขออนุญาตจากภาครัฐ และกำลังปรับแก้กฎกระทรวง เพื่อให้เอกชนเข้ามาขออนุญาตปลูกได้ ส่วนเรื่องของสายพันธุ์นั้น ตามกฎกระทรวงเดิมภาครัฐต้องอนุญาต และต้องเป็นพันธุ์ที่มีการรับรอง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เน้นเส้นใยเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้ขออนุญาตปลูกแล้ว ส่วนสายพันธุ์กัญชงที่จะอนุญาตให้ปลูกนั้นเดิมมีการขึ้นทะเบียน 4 สายพันธุ์ ซึ่งมี THC ต่ำอยู่แล้ว

ทั้งนี้ จากเงื่อนไขเกี่ยวกับการปลูกและการนำกัญชงซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับกัญชามาใช้ประโยชน์ดังกล่าวนั้นทำให้บรรดาองค์กรเครือข่ายที่สนับสนุนให้นำกัญชามาใช้รักษาโรค ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากล และเกรงว่าจะเป็นการออกข้อกำหนดเพื่อเอื้อให้เอกชนบางรายสามารถผูกขาดกัญชงในประเทศไทย โดยพุ่งเป้าไปที่ “บริษัท ทรูม้ง โกลบอล ดีสทริบิวชั่น จำกัด” ซี่งร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงในการปลูกกัญชงในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ชื่อ “โครงการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เชิงพาณิชย์” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้ว่าเป็นการดำเนินการในลักษณะผูกขาดกัญชงไทย เนื่องจากเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐ

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Bio Thai) ตั้งข้อสังเกตว่า จากคำให้สัมภาษณ์ของอดีตเลขาธิการ อย.เรื่องสายพันธุ์กัญชงที่อนุญาตให้ปลูกนั้นตีความได้ว่า เป็นสายพันธุ์กัญชงที่มี THC ต่ำ ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงปลูกอยู่ และจากข้อมูลก็พบว่าสถาบันแห่งนี้เป็นหน่วยงานที่ร่วมกับบริษัท ทรูม้ง ในการปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ ขณะที่ประชาชนและเอกชนไทยรายอื่นไม่สามารถปลูกกัญชงที่มี THC ต่ำตามข้อกำหนดใหม่ได้เพราะกัญชงสายพันธุ์ไทยมี THC สูง และจากข้อมูลพบว่าโครงการปลูกกัญชงของบริษัท ทรูม้ง นั้นมีลักษณะผูกขาดชัดเจนเพราะเป็นรายเดียวที่ได้รับอนุญาตในการผลิตและพัฒนากัญชง โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกกัญชงหลายแสนไร่

“ถามว่าบังเอิญเกินไปหรือไม่ที่จู่ๆ การออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ตามข้อเสนอของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ก็กำหนดให้กัญชงที่ถูกกฎหมายและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มี THC ลดลง เหลือแค่ 0.5% ทั้งๆ ที่กัญชงของไทยมี THC อยู่ที่ 1% และบริษัท ทรูม้ง ซึ่งร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ทำโครงการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์หรือกัญชงในเชิงพาณิชย์ก็ปลูกกัญชงที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเช่นกัน” นายวิฑูรย์ตั้งข้อสังเกต

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เพจ “ธีระวัฒน์ เหมะจูฑะ Thiravat Hemachudha” เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2561 ได้พูดถึงการผูกขาดกัญชงของบริษัท ทรูม้ง ว่า “บริษัท ทรูม้ง ผูกขาดกัญชง จับมือกับบริษัท Titan Hemp สหรัฐฯ เสียกัญชงให้ต่างชาติไปแล้ว กัญชงนำมาใช้ประโยชน์ได้มหาศาล ไม่ใช่แต่เพียงทำกระเป๋าแต่ใช้เป็นวัสดุแทนพลาสติกในการประกอบรถยนต์ และอุตสาหกรรมอย่างอื่นได้ นอกจากนั้นยังสามารถสกัดสารต้านอนุมูนอิสระโอเมกา 3 และในบางสายพันธุ์มีปริมาณของสาร CBD ซึ่งนำมาใช้รักษาโรคได้มหาศาล เพราะในกัญชาธรรมดามักจะมีตัวเมามากกว่า”

โดยมีการอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.prnewswire.com/news-releases/titan-hemp-secures-exclusive-rights-for-global-marketing-and-distribution-of-all-hemp-products-from-thailand-300492689.html ซึ่งระบุว่า... “กันชง ในที่สุดถ้าเป็นตามข่าวนี้ สิทธิในการปลูก ตลาดขายส่งออกของ hemp จากประเทศไทยไปทั่วโลก อยู่ในมือของต่างชาติ บริษัท Titan Hemp ทั้งหมด ใครจัดการให้ คือรัฐบาลไทยอนุญาต ผ่านให้บริษัท true hmong global distribution ให้เป็นผู้จัดการ การปลูกและการส่งออกของผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยทั้งหมด

และบริษัท Titan มีแผนที่จะปลูกกันชงในประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านเอเคอร์ ภายใน 5 ปีข้างหน้า Hemp (หรือกัญชง) ของประเทศไทย มีลักษณะพิเศษที่ดีเยี่ยมในการทำเป็นเส้นใยในอุตสากรรม ส่วนประกอบของรถยนต์และแทนพลาสติกและอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนั้นยังมีส่วนของสารที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอีกส่วนหนึ่งด้วย หลุดไปได้อย่างไร? และกัญชา ท่าทางคงไม่รอด?????”

และ เพจ “Dr.Somyot” เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2560 ระบุว่า “บริษัท Titan Hemp ประกาศข่าวดี ได้สิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชงที่ผลิตจากประเทศไทย เข้าสู่ตลาดโลกแต่เพียงผู้เดียว เท่านั้น ชัดเจนนะ คาด กัญชาทางการแพทย์ โมเดลเดียวกัน???” โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.prnewswire.com/news-releases/titan-hemp-secures-exclusive-rights-for-global-marketing-and-distribution-of-all-hemp-products-from-thailand-300492689.html

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ทรูม้ง โกลบอล ดีสทริบิวชั่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2558 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท มีนายชาญวิทย์ เฟื่องฟูกิจการ รองประธานเครือข่ายตระกูลม้งในประเทศไทย เป็นประธานกรรมการบริษัท มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการนำเข้าส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งอยู่ที่ 99/29 หมู่ที่ 3 ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ 50140

โดยบริษัท ทรูม้ง เริ่มทำการปลูกกัญชงตั้งแต่ปี 2558 ดำเนินในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และ จ.ตาก ซึ่งเป้าหมายของโครงการนั้นจะขยายพื้นที่ปลูกและเพิ่มปริมาณผลผลิตขึ้นทุกปี จากปี 2558 มีพื้นที่ปลูก 150 ไร่ ปริมาณผลผลิต 1,050,000 กิโลกรัม มาถึงปี 2562 มีพื้นที่ปลูก 100,000 ไร่ ปริมาณผลผลิต 560 ล้านกิโลกรัม และได้ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2563 จะมีพื้นที่ปลูก 200,000 ไร่ ปริมาณผลผลิต 1,400 ล้านกิโลกรัม

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าทั้งที่โครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด แต่การดำเนินงานของบริษัท ทรูม้ง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมานั้น ปรากฏเป็นข่าวน้อยมาก อีกทั้งเว็บไซต์ https://www.truehmonghemp.com ของบริษัท ทรูม้ง ก็เป็นเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ ขณะที่ประธานบริษัท กรรมการบริษัท รวมถึงเกษตรที่เข้าร่วมโครงการปลูกและแปรรูปกัญชงส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าม้ง ที่สำคัญมูลค่าของกัญชงที่ผลิตได้ในแต่ละปียังสูงมากเพราะผลผลิตจากกัญชงนั้นนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ยารักษาโรค เครื่องสำอาง อิฐที่ใช้ในการก่อสร้าง หรือส่วนประกอบในรถยนต์

อีกทั้งหลายฝ่ายยังวิตกว่าการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขใหม่ที่กำหนดให้กัญชงที่ถูกกฎหมายและนำมาใช้ประโยชน์ได้ต้องมี THC ในใบและดอกไม่เกิน 0.5% นั้นอาจะขัดแย้งกับมติ ครม.ที่ออกมาเมื่อเดือน ธ.ค.2559 ซึ่งอนุมัติให้ปลูกกัญชงนำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัด 15 อำเภอ ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่วาง แม่ริม สะเมิงและแม่แจ่ม, จ.เชียงราย 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เทิง เวียงป่าเป้า และแม่สาย, จ.น่าน 3 อำเภอได้แก่ อ.นาหมื่น สันติสุข และสองแคว, จ.ตาก เฉพาะที่ อ.พบพระ, จ. เพชรบูรณ์ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.หล่มเก่า เขาค้อ และเมือง และจ.แม่ฮ่องสอน ในพื้นที่ อ.เมือง โดยสายพันธุ์ที่นำมาปลูกได้ต้องนั้นจะต้องมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือสารทีเอชซี (THC) ไม่เกิน 1%

จึงเป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่งว่าหากการออกข้อกำหนดเกี่ยวกับสาร THC ในกัญชงนำไปสู่การผูกขาดจริงอย่างที่หลายฝ่ายเป็นห่วง คนไทยคงหมดโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์จากกัญชงซึ่งกำลังจะได้รับการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถทำรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: