ธนารักษ์สำรวจบ้านโบราณ 200 แห่งทั่วประเทศ ดึงกลับเข้าแผนพัฒนาให้เอกชนทำโรงแรม-ร้านกาแฟ

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 7586 ครั้ง

ธนารักษ์สำรวจบ้านโบราณ 200 แห่งทั่วประเทศ ดึงกลับเข้าแผนพัฒนาให้เอกชนทำโรงแรม-ร้านกาแฟ

ธนารักษ์เตรียมนำอาคารเก่าโบราณ เปิดให้เอกชน-หน่วยงานพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มทำโรงแรม-ร้านกาแฟ นำร่องบ้านผีสิงตึกเขียวอยุธยา พัฒนาเป็นบูทีคโฮเตล ตรวจพบอาคารเก่าพัฒนาเชิงอนุรักษ์กว่า 200 หลัง ที่มาภาพประกอบ: Voice TV

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2562 ว่านายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่ากรมธนารักษ์กำหนดแนวทางนำอาคารเก่าแก่โบราณสถาน มีความสวยงามเชิงสถาปัตยกรรมและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ นำออกมาให้เอกชน และหน่วยงานต่างๆ ประมูลเพื่อพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะนี้ได้สำรวจพบว่าทั่วประเทศมีอาคารเก่าแก่ แต่ยังคงสภาพนำไปพัฒนาได้ประมาณ 200 หลัง จึงต้องทำการสำรวจศักยภาพอาคารเหล่านั้นทำอะไรได้บ้าง หากปล่อยทิ้งร้างหรือทำลายจะเสียประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ตึกเขียวขุนพิทักษ์ จ.พระนครศรีอยุธยา มีกระแสข่าวตามโซเชียลว่าเป็นบ้านผีสิง จึงเหมาะแก่การนำมาพัฒนาเป็นบูทีค โฮเตล รานกาแฟ สปา ร้านอาหาร หรือปรับให้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ หรือสร้างประโยชน์ภายใต้ข้อกำหนดการอนุรักษ์อาคารโบราณ

“กรมธนารักษ์ไม่ต้องการรื้ออาคารเก่าแก่ เพราะมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ควรนำพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ โรงแรม หากยังไม่ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร ไม่ได้จำกัดว่า ต้องนำไปพัฒนาอย่างไรบ้าง โดยสามารถพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติมด้วย อาคารทันสมัย เพิ่มเติมเข้าไป แต่โครงสร้างเดิมต้องอนุรักษ์ตามข้อกำหนด โดยมีเจ้าหน้าที่กำกับดูแลไม่ให้ผิดแบบไปจากเดิม”นายอำนวยกล่าว

นางสาวอมรรัตน์ กล่ำพลบ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า พื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ มีอาคารเก่าแก่ที่มีศักยภาพนำไปพัฒนา 21 แห่ง อย่างเช่น วังบ้านดอกไม้ อาคารกรมศุลกากร อ.ท่าเสด็จ จ.หนองคาย เตรียมส่งมอบให้กรมธนารักษ์เร็วๆนี้ แม้ว่าเงินค่าธรรมเนียมหรือรายได้จากค่าเช่าอาคารเหล่านี้อาจไม่สูงมากนัก แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ประโยชน์อันทรงคุณค่าของอาคารเก่าแก่ควรได้รับการอนุรักษ์ไว้ เมื่อเปิดให้ภาคเอกชนประมูลพัฒนา ไม่ปล่อยให้รื้อถอนทำตามวัตถุประสงค์ของตัวเอง ขณะนี้เทรนด์ ของการนำอาคารเก่ามาพัฒนา ผสมกับแนวสมัยใหม่กำลังได้รับความนิยม จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งในการสร้างเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้กับรัฐบาล

นางสาวอมรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังเดินหน้านำกำแพงเมือง คูเมือง 1,400 แห่งทั่วประเทศ นำมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะหลายจังหวัดได้มีกำแพงเมือง คูเมืองเก่านับพันปีหลายแห่ง ขณะนี้ได้ทะยอยกำหนดแนวเขตให้ชัดเจน บางแห่งเหมาะแก่การเสนอให้เป็นมรดกโลกได้ด้วย เมื่อกำหนดเขตชัดเจนจะลดปัญหาการบุกรุกของชาวบ้าน และบางส่วนจะได้จัดสรรให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ชัดเจน เนื่องจากพบว่า หากเปิดให้เอกชนมาประมูล พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือสถานที่สำคัญ จะสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวได้อีกหลายแห่ง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: