ยอดขอ รง.4 EEC เดือน มิ.ย. 2561 พุ่งเฉียด 250%

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2460 ครั้ง

ยอดขอ รง.4 EEC เดือน มิ.ย. 2561 พุ่งเฉียด 250%

กรมโรงงานฯ เผยยอด รง.4 เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เดือน มิ.ย. 2561 โตเฉียดร้อยละ 250 พร้อมโชว์ยอดจัดตั้ง-ขยายโรงงานครึ่งปีเอสเอ็มอี ลงทุนคึกคัก ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2561 ว่านายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่าจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในช่วงไม่ถึง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้การลงทุนในพื้นที่อีอีซียังคงมีความคึกคักอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาการขออนุญาตประกอบและขยายกิจการ 53 โรงงาน มูลค่าการลงทุนเติบโตขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2,820 เป็น 9,863.24 ล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 250 โดยในจังหวัดฉะเชิงเทรามีการจดประกอบและขยายกิจการ 10 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 3,111.29 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี 24 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 1,363.35 ล้านบาท และจังหวัดระยอง 19 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 5,388.60 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจดประกอบและขยายกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ และกลุ่มแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้

ส่วนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการและการขยายกิจการ (ร.ง.4) ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา (ม.ค. – มิ.ย.) พบว่า มีจำนวน 2,504 โรงงาน แบ่งเป็นกลุ่มที่ขออนุญาตประกอบกิจการใหม่ 2,043 โรงงาน กลุ่มขยายกิจการ 461 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 168,523.69 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการขออนุญาตประกอบและขยายกิจการมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่าการลงทุน 30,592 ล้านบาท อุตสาหกรรมพลาสติก 13,067 ล้านบาท อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง 12,552 ล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 10,600 ล้านบาท และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 9,966 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่าการขออนุญาตประกอบกิจการและการขยายกิจการใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.52 มูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 31.38 ซึ่งปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกันมีโรงงานที่ขอใบอนุญาตและขยายกิจการทั้งสิ้น 2,491 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 221,401 ล้านบาท

ด้านการจดประกอบและขยายกิจการของกลุ่มเอสเอ็มอีมีการจดประกอบและขยายกิจการใหม่ 2,325 โรงงาน จากเดิม 2,287 โรงงาน หรือเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.66 มูลค่าการลงทุน 57,405 ล้านบาท จากเดิม 57,126 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 0.49 แบ่งเป็นการขออนุญาตประกอบกิจการใหม่ 1,949 โรงงาน เติบโตขึ้นจากเดิม 1,908 โรงงาน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.15 มูลค่าการลงทุน 43,043 ล้านบาท จากเดิม 43,603 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.28 การขยายกิจการ 376 โรงงาน จากเดิม 379 โรงงาน ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.79 มูลค่าการลงทุน 14,361 ล้านบาท จากเดิมมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 13,523 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ 5 อันดับจังหวัดที่มีการขออนุญาตประกอบกิจการใหม่มากที่สุด ได้แก่ สมุทรสาคร 207 โรงงาน สมุทรปราการ 174 โรงงาน ชลบุรี 116 โรงงาน ปทุมธานี 95 โรงงาน และนครปฐม 83 โรงงาน ส่วนจังหวัดที่มีการขยายโรงงานมากที่สุด คือ สมุทรปราการ 43 โรงงาน สมุทรสาคร 40 โรงงาน ปทุมธานี 30 โรงงาน ชลบุรี 27 โรงงาน และระยอง 23 โรงงาน นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าพื้นที่ที่มีมูลค่าการลงทุนจดประกอบและขยายกิจการมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ สมุทรปราการ 13,720 ล้านบาท ปราจีนบุรี 13,412 ล้านบาท นครปฐม 10,819 ล้านบาท ระยอง 10,605 ล้านบาท และสุราษฎร์ธานี 10,076 ล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: