รัฐไม่รับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลล็อตใหม่ในราคาสูงกว่า 2.44 บาทต่อหน่วย

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 พ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2731 ครั้ง

รัฐไม่รับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลล็อตใหม่ในราคาสูงกว่า 2.44 บาทต่อหน่วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานย้ำชัด รัฐไม่มีความจำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากโครงการที่ใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง ที่จะเป็นข้อผูกพันใหม่กับรัฐ ในราคาที่สูงกว่า 2.44 บาทต่อหน่วย (กิโลวัตต์/ชั่วโมง) เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ใช้ไฟฟ้า และไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ชนะการประมูลในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่มาภาพประกอบ: Industry Tap

Energy News Center รายงานว่านายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ถึงความชัดเจนในนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการที่ใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง ว่ากระทรวงพลังงานได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าไม่มีเหตุผลที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการที่ใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง ในโครงการที่จะเป็นข้อผูกพันใหม่กับภาครัฐ ในราคารับซื้อที่สูงกว่า 2.44 บาทต่อหน่วย (กิโลวัตต์/ชั่วโมง) เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ใช้ไฟฟ้าและไม่เป็นธรรมกับผู้ชนะการประมูลในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ทั้ง 17 รายรวมกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่มีราคารับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.44 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวจะไม่เกี่ยวกับกับการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการชีวมวล 250-300 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและอยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียด ก่อนที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และประกาศออกมาเป็นนโยบาย รวมทั้งไม่เกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะและโซลาร์รูฟท็อป

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ย้ำว่าสำหรับโครงการที่รัฐมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าไปก่อนหน้าโครงการ SPP Hybrid Firm นั้นกระทรวงพลังานจะยังคงรับซื้อไฟฟ้าตามเงื่อนไขข้อตกลงเดิม แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะยังไม่ได้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบหรืออยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

"ไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลในราคาแพง เพราะถ้าไฟฟ้าจากชีวมวลมีราคาแพง โอกาสในอนาคตที่จะพัฒนาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลก็จะน้อยลง เพราะรัฐไม่อยากจะให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟในราคาสูงขึ้น จึงต้องประกาศออกไปว่าจะไม่รับซื้อไฟฟ้าโครงการใหม่แพงกว่าราคาขายส่งของ กฟผ.โดยถ้าเอกชนรายใดสามารถที่จะผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลหรือจากพลังงานอื่น ๆ ที่จะมาทดแทนการใช้ฟอสซิล ในราคาที่ถูกกว่าได้ เพื่อที่จะลดการนำเข้าแอลเอ็นจีมาผลิตไฟฟ้าซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันทำได้อยู่แล้ว กระทรวงพลังงานก็ยังมีนโยบายสนับสนุน โดยรัฐจะขอรับซื้อในส่วนที่ไม่เป็นภาระต่อผู้บริโภคอันนี้ชัดเจนว่าเราไม่ได้จำกัด" นายศิริกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่านโยบายการส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐทั้งในระบบการให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าหรือ Adder และการให้ค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed in Tariff)ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงสิ้น ธ.ค. 2560 นั้น ทำให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าร่วมกันแล้วเป็นเงินประมาณ 1.3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้นโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีการปรับเปลี่ยนใหม่ทำให้แผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในส่วนของ กฟผ. จำนวน2,000 เมกะวัตต์ ที่เคยนำเสนอมายังกระทรวงพลังงานเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมาต้องถูกยกเลิกไป รวมทั้งนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ VSPP Semi Firm จำนวน 269 เมกะวัตต์ ที่เคยมีแผนจะต้องรับซื้อในปี 2561 นี้ ก็ต้องถูกล้มไปเช่นเดียวกัน โดยการออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงความชัดเจนในนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ในครั้งนี้ เนื่องจากตัวแทนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ได้เข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อขอให้รัฐมนตรีพลังงานกทบทวนนโยบายดังกล่าวเพราะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงาน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: