ลำดับเหตุการณ์การเรียกร้องของ ‘สหภาพแรงงาน GM ไทย’

พัชณีย์ คำหนัก 7 เม.ย. 2561 | อ่านแล้ว 4379 ครั้ง

ลำดับเหตุการณ์การเรียกร้องของ ‘สหภาพแรงงาน GM ไทย’

จากการปิดงานพนักงานรายบุคคลสู่ปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างของพนักงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส (GM) จ.ระยอง ทำให้สหภาพแรงงานต้องออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม

นับตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2556 สหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทยกับบริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง มีปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่ไม่สามารถตกลงกันได้ และนายจ้างใช้สิทธิปิดงาน (งดจ่ายจ้าง) เฉพาะพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 300 คน

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2560 สมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 72 คน ทนต่อสภาวะเศรษฐกิจไม่ไหว จึงรับข้อเรียกร้องและเงื่อนไขของนายจ้างทั้งหมดเพื่อขอกลับเข้าทำงาน แต่นายจ้างกลับไม่ให้สมาชิกสหภาพแรงงานเข้าทำงานแต่อย่างใด ทำให้สมาชิกสหภาพแรงงาน พร้อมกับประธานและเลขาธิการสหภาพแรงงาน รวมทั้งหมด 72 คน ต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เรื่อง การกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งต่อมา ครส.มีคำสั่งให้บริษัทฯ รับสมาชิกสหภาพแรงงาน 70 คนกลับเข้าทำงานพร้อมจ่ายค่าเสียหาย

การเรียกกลับเข้าทำงานกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณกับลูกจ้าง

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2561 บริษัทฯ เรียกพนักงานทุกคนให้ไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงานที่สนามกอล์ฟ พัฒนากอล์ฟคลับ จ.ระยอง ซึ่งเปลี่ยนจากค่ายทหาร ทั้งยื่นชุดข้อเสนอให้พนักงานพิจารณา และยื่นหนังสือคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานที่คลังสินค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยลดค่าจ้าง เหลือเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ 9,600 บาท (ลดราว 50% จากค่าจ้างเดิม) ตัดสวัสดิการทั้งหมด ได้แก่ ไม่มีรถรับ-ส่ง ไม่มีเบี้ยต่างจังหวัด ไม่จ่ายปรับค่าจ้าง 3 ปี ไม่จ่ายโบนัสผันแปร 3 ปี และไม่มีอาหารกลางวันให้ และลดตำแหน่งความรับผิดชอบ โดยมอบหน้าที่ใหม่ให้ไปขูดสีตีเส้นบริเวณพื้นของคลังสินค้าดังกล่าว เป็นแรงงานไร้ฝีมือ โดยสั่งให้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2561

คำสั่งของนายจ้างข้างต้น ทำให้พนักงานหลายคนวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เพราะต้องแยกกันอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดระยองและใกล้เคียง พนักงานส่วนใหญ่จึงตัดสินใจไม่เดินทางไปตามคำสั่งของนายจ้าง และต้องยอมลาออกไปเองเพราะไม่สามารถทนทำงานในสถานที่ทำงานแห่งใหม่และสภาพการจ้างานใหม่ได้ เหลือพนักงานที่สามารถเดินทางไปทำงานที่คลังสินค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพียง 9 คน

จากการกระทำของนายจ้าง พนักงานถือว่าเป็นการบังคับกดดันพนักงาน จนไม่สามารถรับข้อเสนอและอดทนทำงานต่อไปได้ เป็นการละเมิดกฎหมายแรงงาน สิทธิมนุษยชน และมีเจตนาทำลายสหภาพแรงงานอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ พนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั้ง 9 คนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากรายได้ลดลงและไม่สามารถดูแลลูกและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามฉุกเฉิน รวมทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ในจำนวนพนักงาน 9 คนมีพนักงานหญิง 1 คนที่ต้องเดินทางไปทำงานร่วมกับพนักงานชาย 8 คน ต้องเสาะหาที่พักเพียงลำพัง และไม่มีรถรับ-ส่งของบริษัท ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานหญิง ทั้งยังเป็นการกดขี่ทางเพศด้วย

อีกทั้งการกระทำดังกล่าว บริษัท ฯ ไม่มีความจริงใจที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ให้รับกลับเข้าทำงานและทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ และละเมิดกฎหมายไทยในการลดตำแหน่งและลดค่าจ้างของพนักงาน รวมทั้งมาตรฐานแรงงานสากลและ GM Code of Conduct

ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯ ขอให้บริษัทฯ : 1.รับสมาชิกสหภาพแรงงานทุกคนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม สภาพการจ้างเดิมทุกประการ ซึ่งไม่ทำให้พนักงานเดือดร้อนมากกว่านี้  2. ห้ามมิให้บริษัทฯ ขัดขวางการดําเนินงานหรือดําเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงาน ทั้งทางตรงและทางอ้อม  3. ห้ามมิให้บริษัทฯ ขัดขวางการดําเนินการโดยการกลั่นแกล้งการลงโทษหรือเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการและสมาชิกของสหภาพแรงงานฯ ด้วยเหตุผลอันไม่เป็นธรรมอีกต่อไป และ 4. ให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามคําสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดยเคร่งครัด

การเคลื่อนไหวเรียกร้อง

เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2561 เมื่อเวลา 13.00 น. ตัวแทนของสหภาพแรงงาน เจอเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย (จังหวัดระยอง) และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนานจากปัญหาการจ้างงาน เดินเท้าจากอาคารสำนักงานใหญ่ บริษัทเจอเนอรัล มอเตอร์ เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ อาคาร รสาทาวเวอร์ 2 ถนน พหลโยธิน ไปยัง สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน ถึงเวลาประมาณ 16.00 น. เพื่อเข้าชี้แจงในเวทีการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Working Group on Business and Human Rights) โดยขอให้คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน พิจารณาดําเนินการช่วยเหลือให้สมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้รับความเป็นธรรม ตรวจสอบบริษัท และให้นายจ้างเคารพกฎหมายและยุติพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดกฎหมายแรงงาน และหลักจรรยาบรรณแรงงานสากล

เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2561 เวลาประมาณ 15.30 น. ตัวแทนสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย เข้าร้องเรียนพร้อมชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อให้ตรวจสอบปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในกรณีของ บริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย โดยมี นางประกาย รัตน์ต้นธีรวงศ์ กสม. ประธานอนุกรรมการ ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม รับข้อเรียกร้อง พร้อมรับว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม กสม. ในวันที่ 5 เม.ย.

นอกจากนี้ กลุ่มคนงานยังเรียกร้องให้ กสม. จัดทำวารสารเผยแพร่เรื่องสิทธิแรงงานตามกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง จัดเวทีสาธารณะให้กับลูกจ้างในพื้นที่ภาคตะวันออก รวมถึงจัดทำศัพท์ด้านแรงงานโดยเฉพาะเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการสื่อสารกับหน่วยงานทั่วไปและบุคคลภายนอกให้เข้าใจตรงกัน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: