ศาลสั่งเหมืองทองทุ่งคำ จ.เลย ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม-เยียวยาค่าเสียหายผลกระทบให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ธ.ค. 2561 | อ่านแล้ว 2953 ครั้ง

ศาลสั่งเหมืองทองทุ่งคำ จ.เลย ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม-เยียวยาค่าเสียหายผลกระทบให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด

ศาลจังหวัดเลย สั่งเหมืองแร่ทองคำ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกเหมือง โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดจนกว่าสิ่งแวดล้อมจะกลับสู่สภาพเดิมตามมาตรญานราชการ และเยียวยาค่าเสียหายผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดครอบครัวละ 104,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 จำนวน 149 ครอบครัว

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ขบวนการอีสานใหม่  รายงานว่าศาลจังหวัดเลย นัดฟังคำพิพากษาคดีชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย รวม 165 คนเป็นโจทก์ร่วมฟ้อง บริษัททุ่งคำ จำกัด ในข้อหาละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ เพื่อขอให้ดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกพื้นที่เหมืองแร่ทองคำและเรียกค่าเสียหายจากการได้รับผลกระทบเป็นค่าหาอยู่หากิน ค่าน้ำ และค่าเสียหายด้านสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ครอบครัวละ 300,000 บาท

เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลจังหวัดเลย ได้อ่านคำพิพากษาในคดีดังกล่าว โดบศาลมีประเด็นวินิจฉัย 4 ประเด็น ดังนี้

1. จำเลยให้การต่อสู้ ว่าคดีหมดอายุความ หรือไม่ ศาลเห็นว่าจำเลยให้การไม่ชัดแจ้ง ว่าคดีหมดอายุความตามกฎหมายใด ข้อต่อสู้ของจำเลย จึงไม่เป็นประเด็นวินิจฉัย

2. จำเลยกระทำความเสียหายต่อโจทย์หรือไม่ ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของโจกท์มีความน่าเชื่อถือทำให้เชื่อได้ว่าสารโลหะหนักเกิดจากการประกอบกิจการของบริษัท แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าเกิดจากการใช้สารเคมีของโจทก์แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานพอลบล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จำเลยจึงรับผิดต่อโจทก์

3. ค่าเสียหายที่ฝ่ายโจทย์เรียกจำนวน 300,000 ศาลเห็นว่าการคำนวณค่าเสียหาย เป็นการคำนวณของฝ่ายโจทก์ฝ่ายเดียวและการดำรงชีพวิถีชีวิตของโจทก์ ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ คำนวณเป็นการแน่นอนไม่ได้ ศาลจึงกำหนดค่าเสียหาย ให้จำนวน 104,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 จำนวน 149 ครอบครัว นับตั้งแต่วันฟ้อง

4. ประเด็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในบริเวณเหมืองและพื้นที่รอบนอกเหมือง ศาลเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 43 ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน ชุมชนมีสิทธิมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและใช้ประโยชน์ การกระทำของจำเลย เป็นการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน ให้จำเลยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจนกว่าจะกลับสู่สภาพเดิมตามมาตรฐานทางราชการ และในการจัดทำแผนฟื้นฟู ให้โจทก์เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

บรรยากาศหลังศาลอ่านคำพิพากษา ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย ต่างแสดงความยินดี เนื่องจากคำพิพากษาดังกล่าวถือเป็นการยืนยันว่าผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ชุมชนได้รับ เกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทอ้างว่าผลกระทบต่อชุมชนไม่ได้เกิดจากการทำเหมืองและปฏิเสธความรับผิดชอบมาโดยตลอด

สรุปย่อ คำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ สว.(พ)1/2561 นางวิรอน  รุจิไชยวัฒน์ ที่ 1 กับพวกรวม 165 คน โจทก์ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จำเลย, ศาลจังหวัดเลย

ประเด็นอายุความ ศาลเห็นว่า จำเลยให้การไม่ชัดแจ้งว่าเป็นการขาดอายุความในกฎหมายใด ศาลจึงไม่ต้องวินิจฉัย อีกทั้ง คดีนี้ โจทก์ฟ้องโดยอาศัย พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งไม่ได้กำหนดอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปี

ประเด็นการกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ หรือไม่ ศาลเห็นว่า โจทก์มีพยานหลายปากทั้งตัวแทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้ง 169 นักวิชาการ และบุคคลภายนอก เบิกความ โดย นายธนพล  เพ็ญรัตน์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร นางสาวเพ็ญโฉม  แซ่ตั้ง ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ นางสาววิมลิน แกล้วทนง เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ นางสาวอาภา หวังเกียรติ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดเป็นพยานบุคคลภายนอกไม่มีส่วนได้เสีย เบิกความว่า ได้ร่วมทำการตรวจสอบมลพิษสิ่งแวดล้อมในเหมืองแร่ พบว่า มีสารโลหะหนักในเหมืองและรอบเหมือง ซึ่งได้ตรวจตามหลักวิชาการ ศาลเห็นว่าพยานเป็นบุคคลภายนอก ไม่ส่วนได้เสีย ไม่มีเหตุลำเอียง พยานได้กระทำไปตามขอบอำนาจ และความรู้ความสามารถ นอกจากนี้ ยังมีพยานเอกสารที่แสดงถึงการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม อากาศ  และน้ำ มีประกาศห้ามใช้น้ำ ห้ามรับประทานหอยขม ของสาธารณสุข หนังสือการตรวจเลือดจากโรงพยาบาลรามาธิบดี หนังสือข้อเท็จจริงและความจริงเหมืองทองเลย และพยานเอกสารอื่นๆ พบว่า การทำเหมืองแร่ทองคำ มีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก อีกทั้งจากการลงเดินเผชิญสืบตรวจสอบพื้นที่พิพาทพบว่า กองหินทิ้งไม่มีแผ่นผ้าหรือโรงเรือนปกคลุม เมื่อมีฝนก็ชะล้างสารโลหะหนักออกมาก่อให้การปนเปื้อนกระจายวงกว้าง ส่วนบ่อกักเก็บกากแร่อยู่สูงกว่าพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และพบว่าแผ่นพลาสติกในบ่อคลุมไม่ทั่วถึง ส่งผลให้สารพิษแพร่กระจายออกสู่ภายนอกได้ มลพิษที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากกรรมาวิธีการประกอบกิจการเหมืองแร่ของจำเลยที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

ประเด็นค่าเสียหาย แม้โจทก์ได้นำสืบค่าเสียหายโดยอ้างบัญชีค่าเสียหาย โดยเรียกค่าเสียหายคนละ 300,000 บาท แต่บัญชีค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์ได้ทำไปแต่ฝ่ายเดียว การขาดประโยชน์จากการใช้วิถีชีวิตอัน เป็นการไปซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ ค่าเสียหายจึงไม่อาจกำหนดได้ตามที่โจทก์นำสืบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินคนละ 104,000 บาท โดยตามคำขอท้ายคำฟ้องโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเพียง 149 คน และกำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง ส่วนคำขอที่ขอให้สงวนสิทธิแก้ไขคำพิพากษาไว้ 2 ปีนั้น ไม่กำหนดให้เนื่องจากเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นในอนาคต

ประเด็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 43 กำหนดให้โจทก์ร่วมกันใช้สิทธิชุมชนในการบำรุงดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้ จึงใช้สิทธิฟ้องให้มีการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติได้ และโจทก์มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี จำเลยในฐานะผู้ก่อมลพิษจึงมีหน้าที่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จึงพิพากษาให้จำเลยดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยให้กลับสู่สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ราชการกำหนด ทั้งน้ำและดิน โดยให้โจทก์มีส่วนร่วมในการทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วย

นอกจากนี้ กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้ง 169 โดยกำหนดค่าทนายความให้ 300,000 บาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: