'ซัมซุงเวียดนาม' ปฏิเสธรายงานวิจัยที่พบการกดขี่พนักงาน

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 16 ธ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 1734 ครั้ง

'ซัมซุงเวียดนาม' ปฏิเสธรายงานวิจัยที่พบการกดขี่พนักงาน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัท ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ เวียดนาม ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า บริษัท ซัมซุงเกาหลีใต้ ปฏิบัติต่อพนักงานซัมซุงในเวียดนามอย่างเลวร้าย ตามที่รายงานวิจัยได้พิมพ์เผยแพร่เมื่อปลายเดือน พ.ย. 2017 ที่มาภาพ: tuoitrenews.vn

นายบัง ฮุน วู รองผู้อำนวยการ บริษัท ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ เวียดนาม ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์เยาวชน Tuoi Tre  เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พ.ย. 2017 ว่า รายงานวิจัย “เรื่องราวของคนงานหญิงในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เวียดนาม” จัดทำโดย ศูนย์วิจัยเพศสภาพ ครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในการพัฒนา (CGFED) กรุงฮานอย และเครือข่ายกำจัดสารเคมีเป็นพิษ หรือ International Pops Elimination Network (IPEN) กล่าวหาบริษัทโดยไม่มีมูล

รายงานวิจัยประกอบด้วยการศึกษาภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และสัมภาษณ์พนักงานบริษัทซัมซุง 2 แห่งในเวียดนาม จำนวน 45 คน จากทั้งหมด 160,000 คน โดยอ้างว่าพนักงานหญิงเป็นเหยื่อปัญหาด้านสุขภาพในสถานที่ทำงาน

ข้อมูลที่ผิดพลาด ไม่ถูกต้อง

นายบังกล่าวกับหนังสือพิมพ์เยาวชนว่า ได้อ่านรายงานวิจัยของ IPEN แล้วขอยืนยันว่า เป็นงานวิจัยที่ขาดข้อมูลที่เพียงพอ เนื่องจากผู้เขียนด่วนสรุปเกินไป หลังจากที่สัมภาษณ์พนักงาน 45 คนเท่านั้น

ในรายงานวิจัย สรุปว่า สภาพการทำงานทำให้เหนื่อยล้าสุดขีด มีคนเป็นลมหมดสติ แท้งลูก ซึ่งพนักงานผู้ให้ข้อมูลวิจัยมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นทั่วไปแล้ว

สืบเนื่องจากรายงานดังกล่าว พนักงานซัมซุงทั้งสองแห่งทำงานเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมงต่อกะ และหลายคนก็จะต้องสับเปลี่ยนกะกลางวันและกลางคืน โดยไม่คำนึงถึงวันหยุดสุดสัปดาห์

รายงานยังอ้างว่า มีการหักเงินเดือนพนักงานที่พักเบรก รวมถึงพนักงานที่กำลังตั้งครรภ์ และในระหว่างพักเบรกที่จำกัดนี้ พนักงานต้องขออนุญาตเข้าห้องน้ำเป็นการพิเศษ

รายงานยังได้เสนอแนะถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป ในเรื่องการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต และอันตรายต่อพนักงาน

นายบัง กล่าวว่า ข้อกล่าวหาตามรายงานวิจัยทั้งหมดนี้มาจากข้อมูลที่ยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังเป็นการไม่ถูกต้องที่จะกล่าวหาบริษัท ซัมซุง เวียดนาม ที่ไม่ได้เซ็นสัญญากับพนักงาน บริษัทแม่ที่เกาหลีใต้มีการบันทึกข้อมูลนี้ไว้ สามารถพิสูจน์ข้อกล่าวนี้ได้

นายบัง กล่าวอีกว่า ข้อกล่าวหาที่พูดว่าพนักงานต้องขออนุญาตเข้าห้องน้ำเป็นการพิเศษเป็นข้อกล่าวหาที่ผิด เพราะผู้ทำวิจัยใช้ผลค้นหาจากเว็บไซต์ Google

กล่าวคือ “เมื่อปี 2016 กระทรวงแรงงาน เวียดนาม ด้านกิจการสังคมและผู้เจ็บป่วยจากภัยสงคราม ได้ศึกษาวิจัยโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ 17 แห่งยกเว้นโรงงานซัมซุงค้นพบว่า มีการขออนุญาตเข้าห้องน้ำในโรงงานบางแห่ง และองค์กร IPEN ได้ค้นหาข้อมูลดังกล่าวจาก Google และด่วนสรุปว่า ซัมซุงมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่” นายบังกล่าวย้ำ

ผู้บริหารบริษัท ซัมซุง เวียดนาม ยังปฏิเสธข้อสรุปที่ว่า บริษัทบังคับให้พนักงานที่ตั้งครรภ์ยืนทำงานตลอดกะ นายบัง โต้ว่า พนักงานที่ตั้งครรภ์สามารถขอสับเปลี่ยนงานกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้สามารถนั่งทำงานได้ ซึ่งบริษัทก็เห็นสมควร

ส่วนข้อกล่าวอ้างอื่น ๆ ในรายงาน เช่น อาหารมีคุณภาพต่ำ การใช้สารเคมีที่อันตราย การแท้งลูกที่เกิดขึ้นทั่วไป ก็เป็นข้อมูลที่ไม่มีมูลความจริง

แม้ว่าซัมซุงจะใช้สารเคมีในการผลิตบางจุด แต่สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นร้ายแรงตามที่รายงานกล่าวอ้าง

ในรายงานยังได้กล่าวหาว่า มีพนักงานหญิงบางคนไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากต้องเดินผ่านระบบเอ็กซเรย์ตรงทางเข้า-ออกของโรงงาน อย่างไรก็ตาม ระบบการสแกนไม่เป็นอันตราย ไม่เช่นนั้นพนักงานสนามบินก็คงต้องได้รับผลกระทบแบบเดียวกัน

ด้านรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า ได้ประสานงานไปยังองค์การแรงงานระหว่างประเทศในกรุงฮานอยแล้วเพื่อสอบสวนงานวิจัยชิ้นนี้

ทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศในฮานอย กล่าวว่า ได้รับรู้รายงานดังกล่าวโดยสรุป ยังไม่ได้เริ่มพูดคุยกรณีนี้กับรัฐบาลเวียดนาม มีแต่การร้องขออย่างไม่เป็นทางการจากกระทรวง

สำหรับภาคประชาชน นักรณรงค์สิทธิแรงงานภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ออกมารณรงค์ล่ารายชื่อ คัดค้านการกระทำของบริษัท ซัมซุง เวียดนาม ที่นอกจากจะปฏิเสธการศึกษาวิจัยนี้แล้ว ยังขู่ที่จะฟ้องร้องเอ็นจีโอและขับไล่พนักงานที่ให้ข้อมูลออกด้วย  ฉะนั้น จึงออกมารณรงค์ เรียกร้องให้บริษัทยุติการข่มขู่ ขอให้เคารพกฎหมายแรงงาน สิทธิแรงงานในเวียดนามไปจนถึงแรงงานในเกาหลีใต้และที่อื่นๆ ปรับปรุงสภาพการทำงานให้ปลอดภัย ลดการใช้สารเคมีอันตราย และประกันสิทธิการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองของแรงงานด้วย  ทั้งนี้ ภาคประชาชนมีสิทธิพื้นฐานที่ค้นหาความจริงเกี่ยวกับสภาพการทำงานและทำให้เสียงของคนงานดังขึ้น  อีกทั้ง ซัมซุงเกาหลีใต้เคยมีพนักงานเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมาก่อน สะท้อนถึงการใช้สารเคมีอันตรายในการผลิต บริษัทจึงต้องรับผิดชอบไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพนักงานในเกาหลีใต้อีก ตลอดจนพนักงานของบริษัทลูกในประเทศเวียดนามด้วย

ทั้งนี้ประเด็นนี้มี การรณรงค์ล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org ด้วย

 

แปลและเรียบเรียงจาก

https://tuoitrenews.vn/news/business/20171125/samsung-vietnam-vice-chief-dismisses-report-of-employee-mistreatment/42808.html

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: