ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (Thai Civil Rights and Investigative Journalism - TCIJ) ก่อตั้งขึ้นจากดอกผลงานวิจัยค้นหาความรู้ความเข้าใจในหัวข้อ ‘แนวทางส่งเสริมงานข่าวสืบสวนในสื่อหนังสือพิมพ์’ โดยสุชาดา จักรพิสุทธิ์ เมื่อปี 2549-2551  ซึ่งผลลัพธ์การวิจัยได้ประมวลปัญหาและแนวทางแก้ไขในระยะยาวว่าควรมีการจัดตั้งกลไกหรือระบบ หรือศูนย์กลางการดำเนินงานด้านการผลิตข้อมูลข่าวสารเชิงลึก เพื่อหนุนเสริมให้เกิดการเสนอข่าวสืบสวนและวัฒนธรรมการเสพข่าวสืบสวนให้มากขึ้น และควรอยู่นอกระบบสื่อกระแสหลัก เปิดให้สาธารณะเข้าถึงได้โดยง่าย

TCIJ มีปณิธานว่าระบบสื่อสารสาธารณะที่โปร่งใสก็คือการทำข้อเท็จจริงและข้อมูลข่าวสาร จำนวนมากที่ถูกซุกซ่อนไว้ให้ปรากฏ เป็นสิทธิการรับรู้ของประชาชน (rights to know) และระบบสื่อสารสาธารณะดังกล่าวนี้จะต้องปลอดจากอำนาจแทรกแซงจากธุรกิจและการเมือง เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้แก่สังคมตามสิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

TCIJ เป็นองค์กรสื่ออิสระ (Independent Media) ที่ดำเนินงานในรูปลักษณ์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ www.tcijthai.com ซึ่งเปิดตัวสู่สาธารณะเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 มุ่งเน้นการค้นหา เจาะลึก และเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงในแนวทาง Data Journalism ในระยะก่อตั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขณะเดียวกัน TCIJ มีการพึ่งตนเองด้านการจัดหารายได้อย่างเหมาะสม ในรูปของโครงการหรือกิจกรรมพิเศษ (Project base) จากองค์กรต่างๆ อาทิ DAI-USAID / มูลนิธิเอเซีย / มูลนิธิสดศรีสฤษดิ์วงษ์ / สำนักงานข้อมูลข่าวสารของทางราชการฯ เช่น การจัดฝึกอบรม กิจกรรมเวทีอภิปราย โรงเรียนนักข่าว และการจัดพิมพ์หนังสือจำหน่าย เป็นต้น 

ภายหลังการนำเสนอข่าวเจาะชิ้นสำคัญ กรณีธุรกิจการเกษตรยักษ์ใหญ่จ่ายเงินสื่อ ในปี 2557 TCIJ ถูกระงับเงินสนับสนุนภายในประเทศ แต่ต่อมาช่วงปี 2558-2561 ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานเว็บไซต์จาก National Endowment for Democracy (NED) ในส่วนทุนสนับสนุน TCIJ School ได้รับจาก Friedrich-Ebert-Stiftung (FES) ช่วงปี 2559-2562 รวมทั้งการดำเนินงานโครงการพิเศษจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ช่วงปี 2562-2563

สำหรับผู้สนใจรายงานวิจัยอันเป็นที่มาของการก่อตั้ง TCIJ ชื่อโครงการวิจัย “แนวทางการทำให้เกิดการเสนอข่าวเชิงสืบสวนในสื่อหนังสือพิมพ์” โดย "สุชาดา จักรพิสุทธิ์" ผู้ก่อตั้ง TCIJ (คลิกอ่านได้ที่ รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์) แนวทางการทำให้เกิดการเสนอข่าวเชิงสืบสวน (Investigative Report) ในสื่อหนังสือพิมพ์ อนึ่งรายงานวิจัยนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2550 ท่ามกลางบริบทสื่อมวลชนและสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้น ซึ่งปัจจุบันปัจจัยบางอย่างแปรเปลี่ยนไปบ้าง อาทิ กลุ่มความขัดแย้งทางสังคมมีลักษณะหลากหลายซับซ้อนยิ่งขึ้น สื่อกระดาษต้องแข่งขันกับสื่อออนไลน์เข้มข้นขึ้น สื่อมวลชนมีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองมากขึ้น เป็นต้น จึงได้ตัดทอนเนื้อหาในรายงานบางส่วนออกไปบ้าง แต่โดยประเด็นหลักของรายงานฉบับนี้ น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจตามสมควร

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

Like this article:
Social share: