เผยมีผู้เสียชีวิตรายแรกในงานก่อสร้างสนามกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวแล้ว

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 18 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2493 ครั้ง

เผยมีผู้เสียชีวิตรายแรกในงานก่อสร้างสนามกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวแล้ว

สหพันธ์แรงงานสากลในกิจการก่อสร้างและคนงานไม้ (BWI) เผยว่ามีผู้เสียชีวิตรายแรกในงานก่อสร้างสนามกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ณ กรุงโตเกียว แล้วจากการ ‘ฆ่าตัวตายทางครอบครัวเชื่อว่าการตายของเขามาจากอาการคาโรชิ (karoshi) หรือการฆ่าตัวตายมาจากความตึงเครียดทางจิตใจที่เกี่ยวข้องกับงานหนัก (ที่มาภาพประกอบ: japantimes.co.jp)

สหพันธ์แรงงานสากลในกิจการก่อสร้างและคนงานไม้ (Building and Wood Workers' International-BWI) ตื่นตระหนกกับข่าวการเสียชีวิตรายแรกด้วยการทำอัตวินิบาตกรรมของคนงานก่อสร้างสนามกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ณ กรุงโตเกียว ที่โฆษณาว่าเป็นผลงานสำคัญของโอลิมปิกเกมส์ในฤดูร้อน  ทางทนายความของครอบครัวคนงานได้ยื่นฟ้องเรียกค่าชดเชยจากการเกิดอุบัติเหตุในไซต์งานก่อสร้าง และกรณีนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยที่น่าเป็นห่วงที่สุดของคนงานที่ทำงานในโครงการนี้

คนงานชายวัย 23 ปี (ไม่ระบุชื่อ) ได้หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2017 แต่พบว่าเสียชีวิตเมื่อเดือน เม.ย. 2017 ซึ่งทางครอบครัวของคนงานเชื่อว่าการตายของเขามาจากอาการ ‘คาโรชิ’ (karoshi) หรือการ ‘ทำงานหนักจนตาย’ ตามรายงานข่าวของ The Japan Times รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตระหนักอย่างเป็นทางการว่า อาการคาโรชิมี 2 ชนิด คือ หนึ่ง การเสียชีวิตมาจากการทำงานหนักจนเกินไป หรือที่รู้จักกันว่า โรคหลอดเลือดหัวใจ และสอง การฆ่าตัวตายมาจากความตึงเครียดทางจิตใจที่เกี่ยวข้องกับงานหนักดังกล่าว สอดคล้องกับกรณีนี้ ที่คนงานคนดังกล่าวทำงานล่วงเวลาเกิน 200 ชั่วโมงใน 1 เดือนก่อนที่จะฆ่าตัวตาย

“โศกนาฏกรรมอันโชคร้ายของคนงานก่อสร้างเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างสนามกีฬาโอลิมปิกเกมส์ อย่างชัดเจน” อัมเบท ยูสัน (Ambet Yuson) เลขาธิการของ BWI กล่าว

จากคำสัมภาษณ์ของบริษัท ไทเซอิ คอร์ปอเรชั่น (Taisei Corporation) ในรายงานข่าวของ The Japan Times ว่า “การปล่อยให้เขาทำงานเกินขีดจำกัดนั้น อยู่ภายใต้ข้อตกลงระหว่างพนักงานกับผู้บริหารตามมาตรา 36 ของกฎหมายแรงงาน  ข้อตกลงดังกล่าวอนุญาตให้บริษัทจ้างคนงานทำงานล่วงเวลาได้ถึง 45 ชั่วโมงต่อเดือนในเชิงหลักการ และในทางปฏิบัติ สามารถทำงานล่วงเวลาได้ถึง 80 ชั่วโมงในบางกรณี

“ปัญหาสุขภาพอาชีวอนามัยในเหตุการณ์การแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่นี้สามารถป้องกันได้ เนื่องจากมีตัวอย่างกรณีเกิดขึ้นที่โอลิมปิกเกมส์ ณ กรุงลอนดอนปี 2012  สหภาพแรงงานสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการระบุปัญหา การป้องกัน และขจัดปัญหาสุขภาพและความปลอดภัย รวมทั้งความเครียดจากการทำงานหนัก” ยูสันกล่าวเพิ่มเติม

นี่เป็นครั้งที่สองที่บริษัท ไทเซอิ คอร์ปอเรชั่น ก่อประเด็นข้อโต้แย้ง โดยครั้งแรกมีประเด็นโต้แย้งเรื่องการนำเข้าไม้อัดจากเขตร้อนชื้นเพื่อนำมาสร้างเสา ซึ่งแหล่งวัตถุดิบนั้นกำลังเป็นประเด็นในรัฐซาราวะก์ ประเทศมาเลเซีย

 

แปลและเรียบเรียงจาก

https://www.bwint.org/cms/news-72/first-reported-death-in-tokyo-2020-olympics-site-780

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: