ครูผู้ใหญ่กับนักเรียนผู้น้อย

ณัฐริยา โสสีทา 1 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3043 ครั้ง


เย็นวันนี้ ฉันเปิดคอมพิวเตอร์ เข้าเฟสบุ๊คแล้วเปิดดูภาพในวันเก่าๆ ภาพเพื่อนในสมัยมัธยมส่งเสียงหัวเราะให้กับฉัน ภาพนักเรียนหญิงตัดผมสั้นเหนือติ่งหนูดูแล้วก็อดขำไม่ได้  ฉันเลื่อนดูภาพไปเรื่อยจนถึงภาพหนึ่งก็หยุดเม้าส์ แล้วสมองก็เริ่มคิด ภาพรับรางวัลชนะเลิศพานไหว้ครู

“ปาเจรา จริยา โหติ คุณุตรา นุสาสการ...” 

ตั้งแต่เด็กจนโตใครไม่เคยกล่าวทำนองเสนาะบทนี้บ้าง?

แน่นอนทุกคนต้องเคย เพราะเราต่างต้องเข้ารับการศึกษา เคยใส่ชุดนักเรียนหญิง-ชาย สะพายกระเป๋าเป้ เคารพธงชาติแปดโมงเช้าและเลิกเรียนประมาณบ่ายสามถึงสี่โมงเย็น และต้องเข้าร่วมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ “พิธีไหว้ครู” ทุกคนทุกปีตั้งแต่อนุบาลจนจบมหาวิทยาลัย

เคยสงสัยไหม ทำไมเราต้องก้มกราบครู ทั้งๆ ที่ครูบางคน เราไม่เคยเรียนด้วย ไม่เคยเห็นหน้าหรือไม่รู้จักด้วยซ้ำ แล้วทำไมเราต้องก้มกราบพวกเขาเหล่านั้น 

ในหนังสือผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน และ ฯลฯ ของของนิธิ เอียวศรีวงศ์ พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ในพิธีกรรมไหว้ครูไว้อย่างน่าสนใจ ในพิธีไหว้ครูของมหาวิทยาลัยจะเน้นผู้เข้าร่วมคือกลุ่มนักศึกษาใหม่ ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์และผูกพันกับอาจารย์และมหาวิทยาลัยมาก่อน จึงจะต้องยอมจำนนต่ออำนาจและการถูกจัดให้อยู่ลำดับต่ำสุดของชนชั้นในมหาวิทยาลัยต้องประพฤติปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ อย่างเคร่งครัด อีกทั้งเป็นพิธีที่นักศึกษาใหม่จำนวนหลายพันคนต้องมีอยู่รวมในสถานที่เดียวกันและกราบไหว้กลุ่มอาจารย์เดียวกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นคณะผู้บริหารไม่ได้สอนหนังสือและนักศึกษาไม่สามารถเข้าพบได้บ่อยๆ หรือแทบไม่รู้จักและจะไม่ได้พบอีกแล้ว

ดังนั้น นักศึกษาจึงไม่ได้เกิดสำนึกรักมหาวิทยาลัยหรือระลึกถึงพระคุณครูแต่อย่างใด นักศึกษาบางส่วนหลับโดยไม่สนใจพิธีกรรมที่อยู่ตรงหน้า บางส่วนเล่นโทรศัพท์มือถือ  บางส่วนจับกลุ่มพูดคุยกัน และบางส่วนจะพยายามนั่งตัวตรงและตั้งใจร่วมทำพิธีโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่นั่งแถวหน้าหรืออยู่ใกล้ครูอาจารย์ซึ่งถือเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น พิธีกรรมนี้จึงเป็นเพียงการบังคับให้เข้าร่วมในฐานะนักศึกษาใหม่เท่านั้น     

เมื่อวางมือและละสายตาจากหนังสือของอาจารย์นิธิ ฉันครุ่นคิดพักใหญ่ พยายามหาข้อเห็นต่างและแย้งความเห็นของอาจารย์ แต่สุดท้ายก็พบว่ามันเป็นจริงทุกประการ  พิธีกรรมไหว้ครูสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระบบการศึกษาได้ครอบงำปลูกฝังให้เราปรับตัวเข้ากับโลกของการกดขี่ ยัดเยียดความเชื่อใส่ความไร้เดียงสา ครอบความศรัทธามายาคติว่าครูเป็นผู้ประเสริฐเพราะประสิทธิ์ประสาทวิชาให้กับเรา สร้างภาพจำว่าราชการชุดกากีมือถือชอล์กถือไม้เรียวเป็นคนดีต้องได้รับการเคารพ หากวิพากษ์วิจารณ์ครูก็จะถูกกล่าวว่าเป็นศิษย์คิดล้างครู ทั้งๆ ที่การเคารพในตัวครูควรเป็นเรื่องส่วนบุคคลตามความพอใจของนักเรียน

เรากลายเป็นผู้ถูกกดขี่ในระบบการศึกษา ถูกทำให้เชื่อและปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมเก่าถูกทำให้บอดใบ้ทางความคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถามหาคำตอบ ถูกทำให้สมองพิการเพราะมีหน้าที่ท่องจำตำรา ตอบตามตำรา เขียนตามตำรา ชี้ถูกชี้ผิดตามตำราที่ครูสอน เห็นต่างคือแปลกแยก แหกคอกคือโง่เขลา

เราถูกกดขี่ตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน ห้องเรียนที่มีครูเป็นใหญ่ นักเรียนต้องนั่งประจำที่และไปเข้าห้องน้ำได้เมื่อครูอนุญาต นักเรียนต้องจดตามกระดานและทำงานตามตัวชี้วัดที่ถูกแช่แข็งไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่จัดหลักสูตร เคยวัดผลอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เคยสอนอย่างไรก็สอนอย่างนั้น  จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อนักเรียนส่วนใหญ่ที่กำลังจะเข้าสอบมหาวิทยาลัยจะไปกวดวิชาหลังเลิกเรียนหรือวันหยุด เพราะความรู้ในชั้นเรียนไม่มีความหลากหลายและไม่ตรงกับความต้องการของนักเรียน

การศึกษาที่ดีควรเป็นห้องเรียนที่ครูกับนักเรียนออกแบบและกำหนดการสอนร่วมกัน เน้นเสรีภาพมากกว่าพันธนาการ ไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหรือความใฝ่รู้ใฝ่แสวงหา และไม่ทำให้นักเรียนกลายเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลาโดยการป้อนข้อมูลฝังชิปความจำให้ผู้เรียนท่องชุดความรู้เพื่อเน้นสอบแข่งขันโดยปราศการการกระตุ้นให้ตั้งคำถามและค้นหาคำตอบร่วมกัน  

เปาโล เฟรเร นักปรัชญาและนักการศึกษาชาวบราชิล ได้แสดงทัศนะถึงการศึกษาว่า “สถานะครู-ศิษย์ไม่ควรเป็นอย่างผู้รอบรู้-ผู้โง่เขลา ทว่าต้องปรับระดับให้เท่าเทียมกันเขาเสนอว่าหนทางเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ด้วย “การเสวนา” ที่มีการปฏิสัมพันธ์กันในแนวราบ เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันคิดเสนอแนะ ตั้งคำถาม ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในคำถามและคำตอบและให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า”

เราจะทำอย่างไรให้การศึกษาที่ไม่กดขี่ ไม่สร้างสถานะที่ไม่เท่าเทียม หรือเราควรเป็นนักเรียนแสนดี เรียบร้อย นั่งพับเพียบ พนมมือ กราบ

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: wokandpix (CC0 Public Domain)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: