‘ขุมทรัพย์วัด’ ผลประโยชน์ที่แก้ด้วยกฎหมายได้จริงหรือ?

กนกวรรณ ธัญญานนท์* TCIJ School รุ่นที่ 4 : 2 ก.ค. 2560 | อ่านแล้ว 8031 ครั้ง

รอบเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมาสังคมไทยกลับมาจับจ้องเรื่องผลประโยชน์ในวัดอีกครั้ง และยังดูเหมือนเป็นขุมทรัพย์ลึกลับเสมอมา ลองดูข้อเสนอ ‘การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา’ และ ‘การพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัด’ ของ สปช. และ สปท. ว่าจะเป็นทางออกของปัญหาได้จริงหรือ? ที่มาภาพประกอบ: เฟสบุ๊ก วัดวังตะวันตก จ.นครศรีธรรมราช

จากข่าวฆ่าโบกปูนสามเณรที่วัดวังตะวันตก จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นวัดมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในภาคใต้ เมื่อต้นเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม: คาดปมผลประโยชน์ฆ่าโบกปูนเณรในวัด จ.นครศรีธรรมราช) กรณีนี้ได้กระตุ้นให้สังคมออกมาตั้งคำถามถึงผลประโยชน์มหาศาลของวัดอีกครั้ง ซึ่งปกติแล้วรายได้หลัก ๆ ของวัดในประเทศไทยนั้นมาจากเงินทำบุญเข้าวัด การปล่อยเช่าแผงร้านค้า ค่าจอดรถรายวัน บริการต่าง ๆ และการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของวัด เป็นต้น ซึ่งหลายต่อหลายวัด ที่มาเงินรายได้เหล่านี้กลับไม่เคยปรากฏในสถานะทางบัญชีของวัดเลย (อ่านเพิ่มเติม: เจาะเงินฝากวัด 3 แสนล้าน 'เจ้าอาวาสคุม-ทำบัญชีไม่เป็นระบบ-ขาดธรรมาภิบาล' , แกะรอย 'ตู้บริจาคเงินวัด' จากศรัทธาสู่ผลประโยชน์ที่ไม่ต้องตรวจสอบ?)

ในรายงานพิเศษชิ้นนี้จะขอเล่าย้อนไปถึงประเด็นที่มาของรายได้วัด ผู้มีส่วนได้ผลประโยชน์ รวมทั้งตั้งคำถามต่อข้อเสนอ ‘การพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัดให้เป็นไปตามมาตรฐาน’ และ ‘การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา’ ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่าจะแก้ปัญหานี้ได้จริงหรือ ?

ที่มาของรายได้วัด-พื้นที่ธรณีสงฆ์ พื้นที่ผลประโยชน์?

จาก คู่มือการดูแลรักษาศาสนสถาน ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2559  ที่จัดทำโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้อธิบายถึงที่มาของรายได้วัด โดยส่วนใหญ่วัดจะมีรายได้มาจากการตั้งซุ้มจำหน่าย และขายสินค้าของวัด เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน อาหาร วัตถุมงคล หนังสือธรรมะ หรือของที่ระลึกอื่น ๆ กับรายได้จากการจัดผลประโยชน์ทรัพย์สิน ที่เป็นรายได้จากการที่วัดให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง และยังรวมถึงรายได้จากการให้บริการสถานที่สำหรับประชาชนหรือหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ศาลา อาคารอเนกประสงค์ หรือห้องประชุม เป็นต้น ส่วนรายได้อื่น ๆ ก็จะได้มาจากเงินบริจาค ค่าจอดรถ หรือค่าบริการห้องน้ำ ฯลฯ

นอกจากนี้ พื้นที่ธรณีสงฆ์ ก็ถือว่าเป็นแหล่งทำรายได้สำคัญของวัดอีกแหล่งหนึ่ง โดยตามบทบัญญัติของ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 พื้นที่ธรณีสงฆ์ หมายถึง ที่ดินที่เป็นสมบัติของวัด ซึ่งเหลือจากการจัดแบ่งเขตสำคัญคือ เขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส ให้เป็นเขตพื้นที่สำหรับเอื้อประโยชน์ใช้สอยในเชิงสาธารณะประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ โดยที่ดินของวัดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่นเดียวกับที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และที่ราชพัสดุ ซึ่งไม่สามารถซื้อขาย หรือโอนเปลี่ยนมือได้ แต่วัดสามารถนำพื้นที่ธรณีสงฆ์ปล่อยให้เช่าได้ โดยเจ้าอาวาสของวัด ซึ่งอาจจะมอบหมายให้ไวยาวัจกร หรือผู้จัดการผลประโยชน์ของวัดเป็นผู้ดูแล

ตาม มติมหาเถรสมาคมครั้งที่ 25/2546 มติที่ 459/2546 ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการจัดประโยชน์ที่ดินศาสนสมบัติว่า “หลักเกณฑ์การคิดค่าตอบแทนในการจัดประโยชน์ที่ดินศาสนสมบัติ จะใช้ราคาประเมินที่ดินของสำนักงานที่ดินในปัจจุบันที่เช่าเป็นหลัก ซึ่งแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ เงินบำรุงศาสนสมบัติ และอัตราค่าเช่า ค่าเช่าที่ดินเพื่อการพาณิชย์ คิดตามราคาประเมินที่ดิน และประเภทการเช่าของธุรกิจแต่ละประเภท ตามบัญชีกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดินอาคารประเภทต่าง ๆ ของกรมการศาสนา”

ที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งอนุญาตให้จัดการประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ จึงกลายมาเป็นพื้นที่ในการหารายได้ และผลประโยชน์ขนานใหญ่ ในกรณีของวัดวังตะวันตกที่กำลังจุดกระแสความสนใจจากสังคมอยู่นั้น พบว่ามีการยักยอกเงินวัด หาผลประโยชน์ส่วนตัวของกลุ่มผู้มีอิทธิพลภายในวัด จากการจัดสรรที่ดินเพื่อทำลานจอดรถ แผงเช่าพระ รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์รอบ ๆ วัด และอาคารพาณิชย์ นอกจากวัดจะเก็บค่าเช่าได้แล้ว ยังสามารถเรียกเก็บค่าแป๊ะเจี๊ยะรายปีที่ผู้เช่าต้องบริจาคให้วัดได้อีกด้วย  อีกทั้งการจัดการที่ดินศาสนสมบัตินั้นก็ยังมีปัญหาในเรื่องการจัดเก็บค่าเช่าที่ดิน เห็นได้จาก คำให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวไทย ของนายจรัญ มารัตน์ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนา จ.นครศรีธรรมราช เกี่ยวกับกรณีผลประโยชน์จากการให้เช่าที่ดินของวัดกับสำนักข่าวไทยไว้ว่า

“ปัจจุบันจังหวัดนครศรีธรรมราชมีวัดรวม 619 แห่ง เฉพาะวัดที่มีที่ดินให้เช่าในตัวเมืองนครฯ หากมีการจัดการผลประโยชน์เข้าวัดอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา แต่ละปีจะมีเงินบำรุงพระพุทธศาสนาปีละนับร้อยล้านบาท เพราะที่ดินตั้งอยู่ย่านการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญ” (อ่านเพิ่มเติม: จากวัดวังตะวันตก สู่ตรวจสอบผลประโยชน์วัดทั่วนครศรีฯ)

กลุ่มผู้ได้ผลประโยชน์

พบว่าผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในเกมผลประโยชน์ของวัด ไม่ใช่แค่ผู้ที่อยู่ในสังกัดวัดนั้น ๆ อย่างกรรมการวัดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มผลประโยชน์ภายนอกวัดอย่างสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ อีกด้วย

กรรมการวัด จาก ‘งานการศึกษาวิจัยเรื่องมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับกรรมการวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505’ ของพระสุชีพ เทศน์ดี, รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. ประทีป ทับอัตตานนท์ และรองศาสตราจารย์สุวิทย์ นิ่มน้อย ได้ให้ข้อพิจารณาในทางกฎหมายว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้วัดเป็นนิติบุคคล และมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัด โดยเจ้าอาวาสมีหน้าที่ในการบำรุงรักษา และจัดการศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ในส่วนของการจัดการศาสนสมบัติของวัดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 ได้กำหนดวิธีจัดการทรัพย์สินโดยให้เจ้าอาวาสตั้งไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัดหรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘กรรมการวัด’ เป็นผู้ดูแลจัดการในเรื่องการเช่าที่ดิน หรืออาคาร รับผิดชอบการทำบัญชีรับจ่ายเงินของวัด ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการจัดการเงินการกุศลเพื่อใช้ในการบริหารวัด

ซึ่งเมื่อพิจารณาการแต่งตั้งผู้จัดประโยชน์ของวัดก็พบว่า กฎหมายทั้งสองฉบับมิได้กำหนดวิธีการแต่งตั้งหรือกำหนดคุณสมบัติตลอดจนอำนาจหน้าที่ให้ครอบคลุม เจ้าอาวาสจึงสามารถแต่งตั้งบุคคลที่ตนเห็นว่าสมควร (หลายกรณีจึงเป็นการแต่งตั้งเครือญาติหรือผู้ใหล้ชิด) ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นกรรมการวัดได้ นำมาซึ่งปัญหาการยักยอกเงิน หรือการมีผล ประโยชน์ในกิจการงานของวัด ตลอดจนความไม่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติกับหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงทำให้ได้บุคคลที่ไม่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับคุณสมบัติของกรรมการบริหารในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าต่างประเทศมีการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการบริหารไว้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ในรายงานการศึกษาฯ ยังชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาดำรงอยู่ในตำแหน่งของกรรมการวัด ทำให้กรรมการวัดบางคนอยู่ในตำแหน่ง 15 ปี หรือ 30 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนา มีการยึดติดกับตำแหน่ง หรือผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จจนกลายเป็นตำแหน่งที่มีไว้เฉพาะกลุ่มบุคคลหนึ่งเท่านั้น และเมื่ออยู่ในตำแหน่งเป็นเวลานานจะเอื้อให้เกิดอิทธิพล และการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบให้แก่ตนหรือพวกพ้อง และยังปิดโอกาสมิให้บุคคลอื่นเข้ามาพัฒนาอีกด้วย และในด้านการควบคุมการทำหน้าที่นั้น มีการกำหนดโทษทางอาญาของเจ้าอาวาส และไวยาวัจกร ไว้โดยเฉพาะ แต่ในกรณีของกรรมการวัดกฎหมายมิได้ควบคุม จึงทำให้โทษทางอาญามีลักษณะที่ต่างกันเมื่อได้กระทำความผิดอย่างเดียวกัน ซึ่งได้กลายมาเป็นปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาในกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดของกรรมการวัด

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เป็นหน่วยงานที่ไม่สังกัดกระทรวงใด แต่มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการของรัฐระดับกรม ขึ้นตรงต่อการบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2545 มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานสนองงานคณะสงฆ์และรัฐโดยการทำนุบำรุง ส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ให้การอุปถัมภ์ คุ้มครองและส่งเสริมพัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแลรักษา จัดการศาสนาสมบัติ พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งให้การสนับสนุนส่งเสริม พัฒนาบุคลากรทางศาสนา

ในด้านอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯนั้น สามารถดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ และกฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการและการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ รวมไปถึงเสนอแนวทางการกำหนดนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา เป็นต้น ส่วนอำนาจหน้าที่ในการจัดการผลประโยชน์วัดของสำนักงานพุทธฯ นั้นเป็นไปตาม ระเบียบมหาเถรสมาคมที่ว่าด้วยการจ่ายเงินผลประโยชน์ของวัด พ.ศ.2557 ข้อ 5 ระบุว่า “เงินผลประโยชน์ของวัด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ (1) เงินผลประโยชน์ส่วนกลาง ได้แก่ เงินของวัดต่าง ๆ ในเขต กทม. ที่มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดประโยชน์แทน (2) เงินผลประโยชน์ในส่วนของภูมิภาค ได้แก่ เงินของวัดต่าง ๆ ที่มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดประโยชน์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มอบให้จังหวัดจัดประโยชน์แทน” และในข้อ 6 ระบุว่า “การจ่ายเงินผลประโยชน์ของวัด ต้องอยู่ในกิจการหรือความจำเป็นของวัด และต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีหน้าที่พิจารณาตามที่ระบุไว้ในระเบียบนี้ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ให้ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจแล้วแต่กรณี สั่งจ่ายตามจำนวนที่ได้รับอนุมัตินั้น”

จะเห็นได้ว่าตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ แม้จะระบุไว้ว่า “เป็นไปเพื่อดูแล สนับสนุนส่งเสริม คุ้มครองวัดและพระพุทธศาสนา ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า เพื่อเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงยั่งยืน และสังคมมีความสุขด้วยหลักพุทธธรรม” แต่จากกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตของคนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เอง เช่น ข่าว ผอ.สำนักพระพุทธศาสนา จ.สงขลา ที่เรียกรับเงินจากวัดเป็นจำนวน 3.2 ล้านบาท เมื่อปี 2558 (อ่านเพิ่มเติม : หลักฐานไม่พอ! อัยการไม่ฟ้อง ผอ.สำนักพุทธฯสงขลาเรียกรับเงินวัด 3.2 ล., ไขปริศนา? ทำไมอัยการไม่ฟ้อง ผอ.สำนักพุทธฯสงขลาเรียกรับเงิน 3.2 ล.) หรือจะในกรณีการทุจริตเงินอุดหนุน ซึ่งเป็นงบประมาณบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด หรือที่เรียกกันว่า ‘เงินทอน’ ของข้าราชการระดับสูงในสังกัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ  ที่เริ่มเป็นข่าวอีกครั้งมาตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. 2560 ว่ามีวัดร่วมทุจริตกว่า 12 แห่ง สร้างความเสียหายแก่รัฐกว่า 60.5 ล้านบาท (อ่านเพิ่มเติม: ผอ.พศ. แฉ!! ทุจริตเงินอุดหนุนวัด "เงินทอน" 75%) และล่าสุดคือที่เจ้าอาวาสวัดเล็บกระรอก จ.ชุมพร ได้ออกมาแสดงหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ โอนเงินเข้าบัญชี 2 ล้านบาท บังคับให้เซ็นรับเงิน 4 แสนบาทเป็นเงินทอน และถูกขู่ฆ่าหากไม่ให้ความร่วมมือ (อ่านเพิ่มเติม: “เจ้าวัดดังชุมพร” แฉถูกขู่ฆ่า สู้เพื่อศาสนาไม่รับเงินทอน) รวมทั้งข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับปมการทุจริตที่พัวพันกับสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ทำให้เป็นที่น่าตั้งคำถามว่าตัวสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ได้ผลประโยชน์จากวัดเช่นนี้ จะสามารถทำตามวิสัยทัศน์พันธกิจในการก่อตั้งได้เช่นไร? เพราะจากกรณีการทุจริตของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ที่ผ่านมาส่อให้เห็นว่าเงินผลประโยชน์ของวัด รวมทั้งเงินผลประโยชน์ส่วนกลาง และเงินผลประโยชน์ในส่วนของภูมิภาคที่มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ จัดประโยชน์นั้น กลับกลายเป็นช่องทางในการยักยอกเงินผลประโยชน์ของวัด และหาผลประโยชน์เข้าส่วนตนของคนอีกกลุ่ม กลายเป็นปัญหาที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ในด้านการตรวจสอบและจัดการผลประโยชน์ของวัดกระทั่งถึงปัจจุบัน

สตง.พบทุจริต ‘เงินทอน’ วัดชายแดนใต้ ร่วม 100 ล้านบาท

ที่มาภาพ: รายงานพิเศษ ‘สตง.พบทุจริตเงินทอนวัดชายแดนใต้ ร่วม 100 ล้านบาท’ สำนักข่าวไทย, 23 มิ.ย. 2560

ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่าได้รับเบาะแสการทุจริตและตรวจสอบพบความผิดปกติในเส้นทางการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ตรวจพบปมทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด ของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ตั้งแต่ปี 2555 - 2559 โดยมีการเบิกจ่าย 33 วัด พบวัดที่เข้าข่ายทุจริต 12 วัด ในพื้นที่ภาคเหนือ 6 วัด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 วัด, ภาคกลาง 2 วัด, และภาคใต้ 1 วัด มูลค่าความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท 

ใน รายงานพิเศษ ‘สตง.พบทุจริตเงินทอนวัดชายแดนใต้ ร่วม 100 ล้านบาท’ ของสำนักข่าวไทย ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 ระบุว่าสำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 15 สำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน ได้ขยายผลตรวจสอบการทุจริตการเรียกรับเงินคืนจากงบประมาณอุดหนุนวัดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง หลังพบเบาะแสครั้งแรกที่ จ.สงขลาเมื่อตั้งแต่เดือน  ส.ค. 2558 ล่าสุดผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 15 ระบุว่าผลการตรวจสอบย้อนหลังปีงบประมาณ 2557-2558 พบมีการทุจริตหลายโครงการทั้งโครงการบุรณะปฏิสังขรณ์, โครงการครอบครัวอบอุ่นด้านการปฏิบัติธรรม และงบประมาณส่งเสริมความมั่นคงสถาบันพุทธศาสนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น โดยพบเจ้าหน้าที่จากสำนักพระพุทธศาสนาฯ และผู้ร่วมกระทำผิดมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและเรียกคืนจากวัดเป็นเงินทอนเริ่มต้นร่วม 100 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งสิ้น 218 ล้านบาท และเกิดขึ้นกับวัดมากกว่า 80 แห่งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“วัดส่วนใหญ่จะตกเป็นเครื่องมือในการที่จะไปหาผลประโยชน์ตรงนี้มากกว่า เพราะฉะนั้นตรงนี้ วัดไหนที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเหมือนแบบนี้ ก็อยากให้แจ้งข้อมูลมายังสำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน”  นายมิตร สุวรรณรัตน์  ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 15 ระบุ

วัดคงคาสวัสดิ์ ใน อ.เทพา จ.สงขลา เป็นหนึ่งในวัดที่ถูกสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดเรียกเงินคืนหลังได้รับงบประมาณบุรณะปฏิสังขรณ์วัด 2 ครั้ง ในปี 2558 ได้รับงบประมาณสูงถึง  3,800,000 บาท  แต่มีการจ่ายให้วัดจริงเพียง 1,000,000บาท เจ้าอาวาสวัดคงคาสวัสดิ์ เลขาธิการเจ้าคณะ อ.เทพา ระบุว่า ในพื้นที่ อ.เทพา มีวัดที่ถูกเรียกเก็บเงินคืน 4 วัด โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักพระพุทธศาสนาเข้ามาติดต่อและดำเนินการให้ จนอนุมัติงบประมาณและมีเงื่อนไข ให้วัดจ่ายเงินกลับคืนให้บางส่วนโดยให้เหตุผลว่าจะนำเงินไปช่วยเหลือวัดอื่น ๆ ต่อไป 

“ทางสำนักพุทธอยู่ ๆ ก็บอกว่าอันนี้งบประมาณเอามาให้แต่ว่าจะเอากลับไปด้วยในส่วนหนึ่ง อาตมาก็เคยทักท้วงว่าทำไมต้องเอากลับคืนไป เขาบอกว่าเอาไปให้วัดอื่น ด้วยให้มาแปดแสนเอากลับไปหกแสน เราก็นึกเราก็บ้านนอกก็นึกถึงวัดอื่นที่เดือดร้อนเหมือนกันก็ไม่เป็นไร วัดทุกวัดอาตมาเชื่อได้เลยว่าไม่มีวัดไหนสงสัยหรอก” เจ้าอาวาสวัดคงคาสวัสดิ์ ระบุ

การตรวจสอบพบทุจริตเรียกรับเงินทอนจากวัดที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในขณะนี้ เจ้าอาวาสวัดคงคาสวัสดิ์มองว่าเป็นการกระทำความผิดของบุคคลในหน่วยงานของรัฐไม่ใช่ทั้งหมด เช่นเดียวกับวัดที่ตกเป็นเครื่องมือด้วยความไม่รู้ขั้นตอนกระบวนการและความเชื่อใจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการบูรณาการการทำงานให้รัดกุมเนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายผลกระทบต่อศรัทธาของพุทธศาสนิกชนรวมทั้งขวัญกำลังใจของพระภิกษุสงฆ์ซึ่งอาจถูกมองว่ามีส่วนร่วมในการทุจริตในครั้งนี้ด้วย

 

‘ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา’ และ ‘การพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัด’ ทางออกของปัญหา?

ความพยายามที่จะปฏิรูปวัดไทยปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ อย่างล่าสุดเมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา นายบวรเวท รุ่งขจี ผู้ช่วยโฆษกคณะกรรมการธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้แถลงถึงแนวทางการจัดการทรัพย์สินของวัดต่อสาธารณชนว่า มติที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ เห็นชอบรายงานเรื่อง ‘การพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัดให้เป็นไปตามมาตรฐาน’ ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยมีข้อเสนอให้วัดจัดทำบัญชีทรัพย์สินตามเกณฑ์มาตรฐาน ครอบคลุมทรัพย์สินของวัดทั้งหมด ตลอดจนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ศาสนวัตถุ ทั้งนี้ให้มหาเถรสมาคม (มส.) หรือ สำนักพระพุทธศาสนาฯ กำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดทรัพย์สินของวัดทั่วประเทศ 37,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งรูปแบบวิธีการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัดที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนติดตามตรวจสอบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัด และรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้ง ให้สำนักพระพุทธศาสนาฯนำเสนอมหาเถรสมาคม เรื่องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505, กฎกระทรวงปี 2511, กฎมหาเถรสมาคม ระเบียบ คำสั่งต่าง ๆ ให้ทันสมัยบังคับใช้ได้จริง อาทิ การกำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนามีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินวัด และรายงานผลการตรวจสอบให้มหาเถรสมาคม นายกรัฐมนตรี และสาธารณชนรับทราบ หากการตรวจสอบพบว่ามีความไม่โปร่งใสให้ดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด จากเดิมที่เพียงให้วัดแค่ส่งบัญชีทรัพย์สินมาให้สำนักพุทธศาสนาฯ เก็บไว้เท่านั้น แต่ไม่เคยตรวจสอบและไม่เคยมีบทลงโทษ

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการผลักดันเรื่องการปฎิรูปพระพุทธศาสนาผ่าน ‘ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ’ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเสนอให้มีการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 4 ด้าน คือ 1. เงิน ทรัพย์สินของวัด พระ ไม่มีการตรวจสอบหรือเปิดเผยทำให้เกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใสของวัด 2. การตีความพระธรรมวินัย ที่ผ่านมามหาเถรสมาคมไม่เข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ อย่างเรื่องคำสอนให้ยึดในอัตตา หรือมีเรื่องข้อครหาต่าง ๆ ในตำแหน่งของพระชั้นต่าง ๆ 3. การปกครองคณะสงฆ์ เป็นลักษณะผูกขาด แค่กลุ่มเดียวราว 100 กว่ารูปแต่ควบคุมพระกว่า 2-3 แสนรูป และ 4. ภาครัฐต้องสนับสนุน ปกป้องคุ้มครอง กิจการของฝ่ายศาสนจักรโดยการจัดโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ที่มีความคล่องตัว

นายไพบูลย์เคยระบุกับสื่อมวลชนไว้ว่า การเข้ามาดำเนินการในครั้งนี้จะช่วยให้การแยกทรัพย์สินของวัดและพระมีความชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะต้องมีการแยกบัญชีและมีการลงบัญชีทรัพย์สิน และต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการฟอกเงินผ่านวัด จากเดิมที่ไม่มีเครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลของทั้งวัดและพระ จะมีการดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ ที่มีเจ้าอาวาส พระลูกวัด อุบาสก อุบาสิกาเข้ามาร่วมกันเป็นกรรมการ การตัดสินใจต้องเป็นไปตามมติคณะกรรมการ โดยมีภาครัฐเข้ามาดูแล หากเกิดข้อสงสัยใด ๆ ก็สามารถเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะได้ ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการปรับปรุงเรื่องอำนาจของเจ้าอาวาส ที่จะไม่ได้ถือครองความเป็นนิติบุคคลเพียงคนเดียวอีกต่อไป ร่างกฎหมายนี้รายได้ทั้งหมดเป็นของวัด เจ้าอาวาสสามารถใช้จ่ายได้ในกิจของสงฆ์ มีการรายงานให้คณะกรรมการวัดทราบ ส่วนเงินของพระภิกษุในระหว่างบวช นับเป็นเงินของวัด ถือได้แต่ต้องแจ้งยอด และจะไม่กระทบต่อการดำเนินกิจวัตรของพระภิกษุสงฆ์ (อ่านเพิ่มเติม: จับตาร่างกฎหมายจัดการทรัพย์สินวัด-พระ บีบ “ธรรมกาย” อ่อนแอ-สกัดใช้วัดฟอกเงิน!)

แม้แนวทางปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของ สปท. และ สปช. ดังที่กล่าวไปนั้นจะให้ความสำคัญกับความโปร่งใสของวัด สามารถตรวจสอบได้และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อที่จะลดหรือป้องกันการทุจริต ยักยอก และหาผลประโยชน์จากวัดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นข้อเสนอที่อาจจะแก้ไขปัญหาเรื่องผลประโยชน์ภายในวัดได้

แต่กระนั้นเมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์มหาศาลของวัดที่มีในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าหากมีการปฏิรูปในเร็ววันนี้ย่อมจะมีแรงต้านจากกลุ่มผลประโยชน์ไม่มากก็น้อย อันมีให้เห็นดังตัวอย่างอันใกล้ในกรณีที่รัฐบาล คสช. พยายามจะเล่นงาน ‘วัดพระธรรมกาย’ ก็มีกลุ่มพระสงฆ์และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยคอยขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่อยู่ตลอดเวลา

รวมทั้งการขาดการมีส่วนร่วมของทั้งพระสงฆ์และประชาชนในวงกว้าง เช่น การร่วมกันจัดทำข้อเสนอสู่การทำประชามติทั้งประเทศ เพื่อให้ได้กฎหมายที่มีความชอบธรรมอย่างแท้จริง แต่ในการจัดทำข้อเสนอของ สปท. และ สปช. นั้นกลับดูเหมือนว่าเป็นข้อเสนอของคนกลุ่มเล็กๆ ในช่วงที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยและมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดง ความคิดเห็น ย่อมทำให้ข้อเสนอทั้งสองนั้น ขาดความชอบธรรมและแรงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วยเช่นกัน

 

*กนกวรรณ ธัญญานนท์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะสังคมศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร


อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง
จับตา: การบริหารจัดการ ‘ศาสนสมบัติของวัด’

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: