คนงานหญิงชาวกัมพูชาที่ผลิตให้ Nike, Puma, Asics เป็นลมหมดสติพร้อมกัน

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 30 ก.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3300 ครั้ง

คนงานหญิงชาวกัมพูชาที่ผลิตให้ Nike, Puma, Asics เป็นลมหมดสติพร้อมกัน

เสื้อผ้าชุดกีฬาแบรนด์ดังเข้าตรวจสอบเหตุการณ์ในโรงงานที่มีลูกจ้างสัญญาจ้างชั่วคราว ทำงานวันละ 10 ชั่วโมงภายใต้อุณภูมิที่สูง คนงานตัดเย็บในโรงงานชานเมืองกรุงพนมเปญเตรียมเข้าทำงาน (ภาพประกอบ คนงานตัดเย็บในโรงงานชานเมืองกรุงพนมเปญเตรียมเข้าทำงาน ที่มาภาพ: Jarl Therkelsen Kaldan/Danwatch)

คนงานหญิงชาวกัมพูชาในโรงงานรับจ้างผลิตชุดกีฬาให้แก่แบรนด์ดังระดับโลกกำลังประสบปัญหาการเป็นลมหมดสติพร้อมกัน ซึ่งเป็นปัญหาเดิม ๆ เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมในโรงงาน

ในปีที่ผ่านมา เคยมีคนงานกว่า 500 คนในโรงงานจำนวน 4 แห่ง ที่รับจ้างผลิตเสื้อผ้ารองเท้าให้แก่แบรนด์ Nike, Puma, Asics และบริษัท VF เข้าโรงพยาบาลพร้อมกันเป็นเวลากว่า 3 วัน จากเหตุการณ์ครั้งที่แย่ที่สุดที่ถูกบันทึกไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน กล่าวคือ คนงานจำนวน 360 คนเป็นลมหมดสติ แบรนด์ได้ยืนยันการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว รูปแบบอาการเป็นลมหมดสตินี้เกิดขึ้นท่ามกลางคนงานอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่มีกำลังแรงงานจำนวน 600,000 คน และส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง

สื่อจากประเทศเดนมาร์ก The Observer และ  Danwatch ได้สัมภาษณ์คนงาน สหภาพแรงงาน แพทย์ เจ้าหน้าที่องค์กรสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่รัฐในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่สร้างมูลค่า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2015 ให้แก่ประเทศกัมพูชา

คนงานหญิงที่ล้มหมดสติ ทำงานวันละ 10 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ และรู้สึกเหนื่อยล้า หิวโหย บวกกับอุณหภูมิที่สูงเกินมาตรฐานในโรงงาน 3 แห่ง คือ 37 องศาเซลเซียส แตกต่างจากประเทศเวียดนามที่โรงงานมีอุณหภูมิไม่เกิน 32 องศาเซลเซียส เนื่องจากในกัมพูชาไม่มีการกำหนดอุณหภูมิแต่อย่างใด ซึ่งถ้าอากาศร้อนมาก นายจ้างจะต้องติดตั้งพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ

จากการสัมภาษณ์สหภาพแรงงาน การจ้างงานด้วยสัญญาจ้างระยะสั้นของโรงงานทั้งสามแห่งนั้น เป็นสาเหตุสำคัญของความเครียดและความเหนื่อยล้า

เงินเดือนขั้นต่ำของกัมพูชาเท่ากับ 120 ปอนด์ รวมค่าล่วงเวลาสองชั่วโมงต่อวัน จะอยู่ระหว่าง 150-190 ปอนด์ ค่าจ้างของโรงงานที่ผลิตให้ทั้งสี่แบรนด์นั้นไม่สามารถยังชีพได้ ซึ่งอยู่ที่ 300 ปอนด์ต่อเดือนสืบจากข้อมูลของเครือข่ายสิทธิแรงงาน Asia Floor Wage ที่คำนวณค่าจ้างยังชีพได้ในเอเชีย

เบนท์ เกิร์ท ผู้อำนวยการภาคสนามประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมาคมสิทธิแรงงาน หรือ Worker Rights Consortium -WRC ได้ตรวจสอบสถานประกอบการที่ผลิตเสื้อผ้าให้แก่มหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ไม่มีโรงงานใดเลยที่ลงทุนให้มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสมกับค่าจ้างที่ยังชีพได้ หากคนงานกำลังเป็นลมหมดสติ ควรมีสัญญาณให้ชัดว่า คุณจะต้องดำเนินการอะไรสักอย่างโดยทันที”

เบนท์ เกิร์ท กล่าวต่อว่า การจ้างงานระยะสั้นคือ “สาเหตุรากเหง้า” ของปัญหาความไม่มั่นคงในการทำงาน  คนงานจะไม่ปฏิเสธการทำงานล่วงเวลา ทั้งคนงานกล่าวว่า หากไม่ทำงานล่วงเวลา คุณจะไม่ได้รับการต่อสัญญา

การเป็นลมหมู่นำไปสู่การหยุดชะงักในการผลิตและสูญเสียมูลค่า “นับแสนปอนด์” จากการสัมภาษณ์สมาคมผู้ผลิตเครื่องแต่งกายในกัมพูชา โรงงานที่รับจ้างผลิตรองเท้าให้แก่แบรนด์เอสิคแห่งหนึ่งในจังหวัด Kamong Speu จำต้องปิดการผลิตชั่วคราว เนื่องจากคนงานจำนวน 360 คนหมดสติเป็นเวลากว่า 3 วัน

“อาการตื่นตระหนก อุปทานหมู่” เคยเกิดขึ้น เมื่อคนงานหญิงคนหนึ่งมีอาการทรุดภายใต้อุณหภูมิสูงถึง 37 องคาเซลเซียส”  Norn Sophea ตัวแทนจากสหภาพแรงงาน Collective Union of Movement of Workers กล่าวว่า “บางแผนกมีพัดลมให้ความเย็น แต่แผนกอื่นๆ พัดลมติดตั้งเพื่อใช้กำจัดฝุ่นในโรงงานเท่านั้น ทำให้อากาศยังคงร้อนมาก”

ตัวอย่างเหตุการณ์ในโรงงานรับจ้างผลิตแบรนด์ไนกี้ คนงานตื่นตกใจจากการที่เห็นเพื่อนพนักงานจำนวน 28 คนกำลังวิ่งหนีไฟ และอีกเหตุการณ์หนึ่ง คนงานตื่นตกใจเมื่อเห็นควันหนาลอดเข้าไปในโรงงานรับจ้างผลิตแบรนด์พูม่า

ตามชานเมืองของกรุงพนมเปญ โรงงานที่ผลิตชุดกีฬาให้แก่แบรนด์พูม่า คนงานจำนวน 150 คนเป็นลมหมดสติในเดือนมีนาคมเพราะมีควันหนาลอดเข้ามาในพื้นที่โรงงาน คนงานหญิงคนหนึ่งหมดสติเป็นเวลา 2 ชั่วโมง “ฉันได้ยินเสียงระเบิด มีกลุ่มควันเล็ดลอดเข้ามาในโรงงาน คนงานตกใจมาก ฉันจึงวิ่งไปยังประตูทางออก แต่มันถูกล็อคไว้ จึงวิ่งไปยังประตูห้องผู้จัดการ ทันใดก็มีคนงานวิ่งตามหลังมาเป็นจำนวนมาก  ส่วนคนงานที่ไม่สามารถวิ่งออกมาได้ทัน ก็เริ่มเป็นลมหมดสติ”

Kim So Thet ประธานแนวร่วมสหภาพแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าประชาธิปไตย หรือ C.CAWDU ได้เรียกร้องให้โรงงานติดตั้งระบบทำความเย็น “อากาศร้อนมากในฤดูร้อน” So Thet กล่าว “ไฟไหม้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะมีกลิ่นคล้ายสารพิษ บวกกับความร้อน ทำให้คนงานอาเจียนได้”

พูม่า กล่าว่าจากการสอบสวน ไม่พบว่ามีการระเบิด แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำงานผิดปกติก่อให้เกิดควันและคนงานหนีออกทางหนีไฟ

การระบายอากาศที่ต่ำกับสารเคมีที่ใช้ภายในและนอกโรงงานมีส่วนก่อให้เกิดสภาพการทำงานที่อิดโรย  ในขณะที่คนงานตามโรงงานต่างจังหวัดจะต้องเดินทางมาทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย ยืนอยู่บนรถบรรทุกนานถึง 2 ชั่วโมง

Cheav Bunrith ผู้อำนวยการกองทุนประกันสังคมแห่งชาติ กระทรวงแรงงานของกัมพูชา กล่าวว่า จำนวนเหตุการณ์การเป็นลมหมดสติลดลงจาก 1,800 ครั้งในปี 2015 เหลือ 1,160 เมื่อปี 2016 ซึ่งเขายอมรับว่า โรงงานต้องปรับปรุงสภาพแวดล้อม คือ “ควรติดตั้งระบบทำความเย็นให้เหมาะกับขนาดโรงงานและระบบไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน”

Robert Bartholomew นักสังคมวิทยาการแพย์ ได้ศึกษาอาการเป็นลมหมดสติในลักษณะอุปทานหมู่  หากเปรียบเทียบเหตุการณ์ในกัมพูชากับการระบาดที่คล้ายคลึงกันในประเทศอังกฤษ ช่วงศตวรรษที่ 19 ที่ประชาชนทำงานเป็นเวลานานภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย เขากล่าวว่า เป็น ”รูปแบบการต่อต้านทางการเมืองในระดับจิตใต้สำนึก เหตุผลของการระบาดไม่ใช่เรื่องทางกายภาพแต่เป็นเรื่องจิตใจ ออกมาในรูปแบบความเจ็บป่วยทางจิตร่วมกัน”

“การจัดหาโภชนาการที่ดีแก่คนงานทำให้อาการดี แต่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเรื่องชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน สภาพการทำงานที่กดดันและค่าจ้างที่ต่ำด้วย” เขากล่าว

สื่อเดนมาร์ก The Observer และ Danwatch ได้สัมภาษณ์แบรนด์พูม่า วีเอฟคอร์ปอเรชั่น ไนกี้และเอสิค ว่า ได้ทำการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมีนาคมแล้ว ไนกี้ได้มีมาตรการป้องกันไฟและซ้อมหนีไฟมากขึ้น อีกทั้งได้ติดตั้งระบบทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ หลังจากผุ้ตรวจโรงงานพบว่า อุณหภูมิสูงเกินที่ประมวลจรรยาบรรณทางการค้าจำกัดไว้ไม่ให้เกิน 30 องศาเซลเซียส “ปัญหาการเป็นลมหมดสติเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากก่อให้เกิดผลสองประการคือ การตอบสนองทางสังคมและสัญญาณของปัญหาในโรงงานที่จะต้องแก้ไขให้ถูกต้องโดยด่วน”  และไนกี้ไม่จ้างงานด้วยสัญญาจ้างระยะสั้น

พูม่า ให้สัมภาษณ์ว่า ได้จัดทำข้อเสนอแนะแก้ไข รวมทั้งการจัดหาแท่งพลังงานและการตรวจสุขภาพ การบำรุงรักษาระบบระบายอากาศและการจัดให้มีคณะกรรมการลูกจ้าง พูม่าได้ปรับสัญญาจ้างระยะสั้นโดยปรับการจ้างงานให้แก่คนงานที่มีอายุงาน 2 ปีขึ้นไป  และยังเข้าร่วมโครงการ Better Factories Cambodia ซึ่งเป็นโครงการประเมินสภาพโรงงานในกัมพูชา ด้วยความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติ องค์การแรงงาน กับบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ “สาเหตุของการเป็นลมหมดสติมีความหลากหลายและซับซ้อน จึงควรสร้างความร่วมมือระหว่างแบรนด์ เจ้าของโรงงาน คนงานและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้”

สำหรับแบรนด์เอสิคนั้นร่วมมือกับ BFC “อาการเป็นลมหมดสติของคนงานเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ซับซ้อนในโรงงานที่มีปัจจัยแตกต่างกัน” เอสิคกล่าวอีกว่า “โรงงาน แบรนด์เอสิคและ BFC จะมีมาตรการเฉพาะ เน้นการอบรมด้านสุขภาพและความปลอดภัย รวมทั้งปรับปรุงระบบระบายอากาศให้ดีขึ้นด้วย”

ท้ายสุดบริษัท VF กล่าวว่า บริษัทจ้างซับพลายเออร์จำนวน 1,000 แห่งทั่วโลก “ทีมงานของเราทำงานหนักเพื่อให้มั่นใจว่า สภาพการทำงานในโรงงานซับพลายเออร์ของเรา รวมทั้งอุณหภูมิและการพักเบรค เป็นไปตามกฎหมายแรงงานและกฎระเบียบของประเทศนั้น ๆ”

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

www.theguardian.com/business/2017/jun/25/female-cambodian-garment-workers-mass-fainting

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: