สแกนลายพราง: บทเรียนการ 'ปรับโฉม' ของ 'กองทัพรัสเซีย'

ทีมข่าว TCIJ : 28 เม.ย. 2560 | อ่านแล้ว 4369 ครั้ง

หลังล้มเหลวจากการปฎิรูปกองทัพ รัสเซียหันมาใช้การปรับโฉมใหม่กองทัพ (New Look) เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยการปรับโครงสร้างกำลังพลกลุ่มนายทหาร-ลดหน่วยทหาร-ลดกำลังพล-รวมทั้งพยายามแก้ปัญหาพลทหารรุ่นพี่ที่ใช้ความอาวุโสกว่ากดขี่ข่มเหงพลทหารรุ่นน้อง ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

ในบทความ 'การปฏิวัติกองทัพรัสเซีย: กระจกสะท้อนกองทัพไทย' โดย พ.อ.ดร. พร ภิเศก ในวารสารเสนาธิปัตย์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 1 มกราคม - เมษายน พ.ศ. 2557 ระบุว่ารัสเซียได้เริ่มปฏิรูปกองทัพตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 – 2004 แต่ใน 11 ปีที่ดำเนินการนี้ไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นชิ้นเป็นอันจนเรียกกันว่าเป็น 11 ปี แห่งการหลงทาง (11 Lost Years) ความสูญเสียของกองทัพรัสเซียในการรบที่เชชเนียเพื่อปราบกลุ่มมุสลิมแบ่งแยกดินแดนครั้งแรกระหว่างปี 1994 - 1996 และครั้งที่ 2 ในปี 2004 ที่มีการใช้อาวุธหนักถล่มกรุงกรอซนีเมืองหลวงของเชชเนียอย่างราบคาบ รวมทั้งการรบที่รัสเซียบุกสั่งสอนจอร์เจียในปี 2008 แม้จะได้ชัยชนะแต่ก็สะบักสะบอมกลับบ้านด้วยแผลเต็มตัว มีปัญหาจากระบบการบัญชาการร่วมและอัตราการสูญเสียสูงจากอาวุธฝ่ายเดียวกัน จนมีการกล่าวกันว่าการรบในศตวรรษที่ 21 รัสเซียไปขุดเอากองทัพยุคสหภาพโซเวียตขึ้นมารบ ซึ่งเป็นกองทัพที่ออกแบบเพื่อการรบเมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้ว (ทศวรรษที่ 1960 ถึงทศวรรษที่ 1980) หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นการเอากองทัพเก่าในศตวรรษที่ 20 มารบในศตวรรษที่ 21 นั่นเอง

ในปี 2007 ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ได้แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมใหม่ ชื่อ อนาโตลี เซิร์ดยูคอฟ (Anatoly Serdyukov) ซึ่งเป็นพลเรือนคนแรกในตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยกำหนดเป้าหมายให้ดำเนินการอยู่สองเรื่องคือ “ปราบคอรัปชั่นและขจัดความด้อยประสิทธิภาพของกองทัพ” (Fighting Corruption and Ineffciency in the Armed Forces) เซิร์ดยูคอฟ ได้ประกาศนโยบายปรับโฉมใหม่กองทัพ (New Look) อย่างอาจหาญในปี 2008 (ใช้คำว่าปรับโฉมใหม่แทนคำว่าปฏิรูป เพราะก่อนหน้านี้ใช้คำว่าปฏิรูปแล้วล้มเหลว) ซึ่งประกอบด้วยการเปลี่ยนโฉมที่สำคัญ อยู่ 4 กลุ่มงาน

  1. ปรับโครงสร้างกำลังพลกลุ่มนายทหาร จากเดิมที่กองทัพรัสเซียเคยมีสัดส่วนนายทหารต่อทหารเกณฑ์ 3 : 1 ทำให้ต้องลดยอดนายทหารส่วนเกินลงจาก 355,000 คน เหลือ 150,000 คน (คงเหลือนายทหารในชั้นยศ ร.ต-ร.ท. ในวัยหนุ่มไว้ในสัดส่วนที่สูงที่สุด) นายทหารส่วนเกินเหล่านี้บรรจุอยู่ในหน่วยโครง ซึ่งไม่ได้ใช้ปฏิบัติการใดๆยกเว้นแต่จะมีการระดมพลเข้าทำการรบและยังริเริ่มกำหนดให้มีนายทหารชั้นประทวน (Noncommissioned Officer : NCO) ขึ้นในกองทัพรัสเซียเป็นครั้งแรก เพื่อแก้ปัญหาพลทหารรุ่นพี่ที่ใช้ความอาวุโสกว่ากดขี่ข่มเหงพลทหารรุ่นน้อง (Dedovshchina System) โดยในปี 2549 มีรายงานร้องเรียนว่าทหารใหม่ถูกทำร้ายถึง 3,500 คน และเสียชีวิตไป 292 คน จนเกิดปรากฏการณ์ที่อาจดูประหลาดในประเทศอื่น ๆ คือการรวมตัวของแม่เพื่อปกป้องลูกที่เรียกว่า 'สหภาพแม่พลทหาร' ขึ้นมาเคลื่อนไหวกดดันกองทัพเพื่อปกป้องลูกที่เป็นทหารไม่ให้ถูกรุ่นพี่กระทำทารุณกรรม
  2. จัดโครงสร้างการควบคุมบังคับบัญชาใหม่ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากบทเรียนการรบในจอร์เจีย ที่การควบคุมบังคับบัญชาขาดเอกภาพและไม่อ่อนตัว รวมทั้งปรับระดับการบังคับบัญชาใหม่จาก 4 ระดับ (ภาคทหาร – กองทัพบก – กองพล – กรม) เป็น 3 ระดับ (ภาคทหาร – กองบัญชาการยุทธ – กองพลน้อย) ซึ่ง ผบ.ภาคทหารมีอำนาจบังคับบัญชากำลังทุกประเภทในพื้นที่ตนเองยกเว้นหน่วยขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ และการตั้งหน่วยระดับกองพลน้อยขึ้นมาก็เพื่อให้หน่วยมีความคล่องแคล่วอ่อนตัวทางยุทธวิธี และปฏิบัติการได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น รวมทั้งมีการสนับสนุนแต่น้อยจากนอกหน่วยในการเข้าปฏิบัติการ
  3. ยุบหน่วยโครง เป็นการสื่อให้รู้เป็นนัยว่ายุคแห่งการระดมกำลังพลอย่างมหาศาล (Mass Mobilization) ได้ผ่านไปแล้ว แม้ว่าจะยังมีแผนระดมสรรพกำลังในบางเรื่องเหลือไว้ก็ตาม โดยลดหน่วยทหารจาก 1,890 หน่วยลงเหลือเพียง 172 หน่วย และมีแผนบรรจุกำลังเต็มทั้งหมดด้วยทหารอาชีพ รถถังจากเดิมที่เคยมี 22,000 คันลดเหลือเพียง 2,000 คัน และเรียกหน่วยที่เหลือเหล่านี้ว่า “หน่วยพร้อมรบถาวร” (Permanent Readiness Units)
  4. ปรับระบบการศึกษาทางทหาร จากการลดกำลังพลประกอบกับมีการจัดการศึกษาในระดับสูงที่ซ้ำซ้อนกันในกองทัพ นำไปสู่การจัดสถาบันการศึกษาทางทหารร่วมขึ้นใหม่ โดยลดศูนย์หรือหน่วยการศึกษาทางทหารลงจาก 65 สถาบัน เหลือเพียง 10 สถาบัน ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์ศึกษาร่วม 3 ศูนย์ สถาบันเฉพาะทาง 6 แห่ง และมหาวิทยาลัยทหาร 1 แห่ง

รัสเซียใช้คำว่า ‘ปรับโฉมใหม่’ แทนคำว่า ‘ปฏิรูป’ กองทัพ เพราะก่อนหน้านี้ใช้คำว่าปฏิรูปแล้วล้มเหลว ที่มาภาพประกอบ: wikipedia.org

การดำเนินการดังกล่าวนำไปสู่การลดกำลังพลลงตามลำดับดังนี้จาก 3.3 ล้านคนในปี 1991 เป็น 1.1 ล้านคนในปี 2008 และสุดท้ายเหลือประมาณ 1 ล้าน คนในปี 2013 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าการปฏิรูปกองทัพในห้วงต้นที่อ้างว่าไม่ประสบผลสำเร็จนั้น มุ่งไปที่การลดกำลังพลเป็นหลัก(ห้วงปี 1991 – 2007) ซึ่งยุคนี้ถือว่าสำเร็จในด้านการลดกำลังแต่ไม่สำเร็จในด้านการปรับโครงสร้างโครงการปรับโฉมใหม่เมื่อดำเนินการมาได้ 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2008-2012) ในห้วงแรกได้ถูกต่อต้านอย่างหนัก โดยนักวิจัยรายหนึ่งที่ติดตามศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่า “นายทหารอาวุโสทั้งหมดในระดับชั้นยศ พล.ท.-พล.อ. ในหน่วยหลักมีทางเลือกอยู่เพียง 2 ทางคือ สมัครใจลาออกหรือถูกให้ออก” แต่เมื่อดำเนินการไปได้ระยะหนึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซียก็กล่าวว่าได้ไปถึงจุดที่ถอยกลับไม่ได้แล้ว

ผลการปรับโฉมใหม่คาดว่าประสิทธิภาพของกองทัพจะต้องดีขึ้น จากการมีทหารอาชีพที่สมัครรับราชการอยู่เป็นเวลานานกว่าทหารเกณฑ์ ในกลางปี 2011 มีทหารอาสาสมัครทำสัญญาเข้ารับราชการประมาณ 180,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 425,000 คนในปี 2017 นี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจการสมัครเป็นทหาร กองทัพรัสเซียได้เพิ่มเงินเดือนทหารขึ้นในปี 2012 และเริ่มปรับปรุงสวัสดิการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: wikimedia.org

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: