นักมานุษยวิทยาเข้าไปทำอะไรในโรงเรียนได้บ้าง?

คมสัน พรมรินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 18 เม.ย. 2560 | อ่านแล้ว 8074 ครั้ง


George Dearborn Spindler นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน

ลองอ่าน The Transmission of american culture ของ George Dearborn Spindler, 1960

Spindler เล่าว่า หากเราสนใจศึกษาเรื่องระบบการศึกษาอย่างจริงจัง เราคงต้องเริ่มจากมองเรื่องการศึกษาในฐานะกระบวนการทางวัฒนธรรม (cultural process) ปัญหาอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ใครจะมอง? เพราะโดยส่วนใหญ่ผู้สอนหรือครูเองก็ใช่จะมีเวลามาค้นมาหา มาพินิจพิเคราะห์วัฒนธรรมของระบบการสอน และพวกเขาก็ต่างหลอมรวมตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทางวัฒนธรรมนั้นอยู่ด้วยแล้ว

พอเป็นแบบนี้แล้วก็เข้าทาง นักมานุษยวิทยาจึงพอมีประโยชน์บ้าง เพราะพวกเขาถูกฝึกให้ทำงานภาคสนามและสามารถ objectify วัฒนธรรมต่างๆ แม้กระทั่งของตัวเขาเอง แต่อย่างไรก็ตามนักมานุษยวิทยารุ่นแรก (ในตอนนั้น) ยังคงให้ความสนใจเฉพาะโครงสร้างและรูปแบบทางวัฒนธรรมมากกว่าสนใจ "วิถีทางในการส่งผ่านวัฒนธรรม"

แม้ว่าในช่วงต้น 1930s นักมานุษยวิทยาบางส่วนเริ่มสนใจที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลิกภาพและวัฒนธรรม (personality and culture) แต่กรอบคิดยังคงสนใจไปที่พัฒนาการของบุคคลิกภาพที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรม และสนใจเฉพาะการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมโดยเน้นเฉพาะตัวผู้ส่งผ่าน และบางส่วนสนใจพลวัตรการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (cultural mobility/change) แต่กรอบคิดก็มุ่งสนใจไปที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของการติดต่อระหว่างสังคมและวัฒนธรรม มีส่วนน้อยที่สนใจกระบวนการส่งผ่านวัฒนธรรมภายในตัวของวัฒนธรรมเอง

Spindler พูดเรื่องครูจากกรอบคิดหนึ่งที่น่ามองคือ ครูในฐานะผู้ส่งผ่านวัฒนธรรม (cultural transmitter) เขาพบว่าสังคมอเมริกามักประสบปัญหา conflict ของระบบคุณค่าและวัฒนธรรม traditional กับ emergent ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการถ่ายทอดวัฒนธรรมในโรงเรียน ภายใต้กรอบนี้จึงเป็นไปได้ว่า บางครั้งครูส่งผ่านวัฒนธรรมความขัดแย้งให้นักเรียนโดยไม่รู้ตัว

ก่อนอื่นหากครูคือ agent หนึ่งของวัฒนธรรม เราต้องเข้าใจครูก่อนว่าพวกเขาเป็นกลุ่มเฉพาะ ได้รับการฝึกฝนและได้รับการรับรองสถานภาพและบทบาทโดยรัฐ พวกเขาต้องได้ร่ำเรียนจิตวิทยาการศึกษา ประวัติศาสตร์การศึกษา การเขียนหลักสูตร วิธีการสอน และได้รับการฝึกสอน กล่าวคือ พวกเข้าต้องผ่านสถาบันการเรียนการสอนเพื่อเป็นครู เพื่อให้ได้รับวุฒิบัตรและใบรับรองวิชาชีพ

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรการเรียนครูก็ยังมีความแตกต่างกัน โดยแต่ละสถาบันต่างมีประวัติศาสตร์ หน่วยงานองค์กรภายใน บุคคล วัฒนธรรม หรือกระทั่งวัฒนธรรมย่อย ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ทุกคนในกระบวนการต่างเป็น acculturating teachers

Spindler จึงลองแบ่งประเภทครูแบบหยาบ (หลังจากที่จบจากสถาบันต่างๆ แล้วเข้าไปสอนที่โรงเรียน)ออกได้เป็น 4 ประเภท คือ

  1. Reaffirmative traditionalist คือครูที่ต้องเผชิญกับระบบคุณค่าแบบใหม่ แล้วรู้สึกถูกกดดัน ไม่สบายใจ รู้สึกขัดแย้งในตัวเอง แทนที่เขาจะเปลี่ยน แต่เขาจะกลับไปสู่ native state กลับไปเป็น nativistic reaffirmation ครูภายใต้กรอบคิดนี้ มีแนวโน้มจะเข้มงวดต่อแนวทางที่เขาตั้งไว้ด้วยระบบคุณค่าตามประเพณีดั้งเดิม และใช้มันในชั้นเรียนของเขา
  2. Compensatory emergentist คือ ครูที่เผชิญระบบคุณค่าแบบใหม่แล้วรู้สึกกดดัน แต่เขากลับยิ่งปรับตัวเข้ากับระบบใหม่แบบล้นเกิน โดยแทบจะไม่วิพากษ์ระบบคุณค่าใหม่ ทำตัวนิ่งเฉยและถูกหลอมรวมไปกับมัน แต่ดีหน่อยที่เขาเริ่มเปิดช่องทางการสื่อสารกับเด็กบ้าง แต่ในห้องเรียนของเขามักมีลักษณะเป็น Groupism ความแตกต่างและความหลากหลายกลับถูกปิด การสอนเน้นที่ความสอดคล้องของกระบวนการลุ่ม
  3. Vaccillator คือ ครูที่สามารถปรับตัวโดยการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งของคุณค่าทั้งระบบเก่าและระบบใหม่ ซึมซับทั้งสองระบบ แต่ไม่สามารถเชื่อโยงนำมาใช้ได้ เขาจึงเป็นส่วนผสมของระบบทั้งสอง บางครั้งเมื่อเผิญปัญหาความขัดแย้ง เขาเผชิญหน้าแต่ก็ตีมึน นิ่งเฉย ไม่แก้ปัญหาอะไร เพราะความสองจิตสองใจในชั้นเรียนของเขาจึงไม่ต่อเนื่อง และเกิดปัญหากับทั้งตัวเขาและนักเรียนบ่อยครั้ง
  4. Adjusted คือคนที่สามารถปรับตัวและจัดการกับความขัดแย้งเรื่องระบบคุณค่าได้ เขาสามารถผสานความขัดแย้งทั้งสอง ไม่ต้อง overcompensate และก็ไม่รู้สึก threatened เขาเชื่อมโยงแต่ละส่วนของระบบคุณค่าทั้งสองและสร้างแนวทางขึ้นมาใหม่

จากการแบ่งกลุ่ม จะเห็นได้ว่าครูในสองกลุ่มแรกมักจะมีแนวโน้มที่จะมีอคติทางวัฒนธรรม พวกเขาส่งผ่านวัฒนธรรมอย่างคับแคบและแทบไม่เปิดทางเลือก ด้วยความเข้มงวด พวกเขามักเปิดประตูให้เด็กบางคนเติบโต แต่ก็กีดกั้นเด็กอีกหลายคน ขณะที่ครูแบบที่สาม แม้ว่าเขาจะไม่เข้มงวดและเปิดช่องทางการส่งผ่านที่หลากหลายขึ้นแต่ก็ตอบรับและให้ผลเพียงเล็กน้อย ครูแบบสุดท้ายจึงควรมีจำนวนให้มากขึ้น

ครูบางคนไม่รู้ตัว และไม่เปิดใจยอมรับเรื่องนี้ ในที่นี้ Spindler จึงเสนอว่า ถ้าในโรงเรียนมี Anthropologist สักหน่อย การทำงานภาคสนามของพวกนี้อาจจะช่วยให้มองเห็นอะไรอีกเยอะแยะ เขายกตัวอย่างการเข้าไปศึกษาในโรงเรียน และการทำงานร่วมกับครู แล้วพบว่า พอส่งรายงานสนามให้ครูอ่าน ครูปรับตัว คุยกับนักเรียน ชั้นเรียนมีบรรยากาศดีขึ้น นักเรียนปรับตัวบ้าง การเรียนการสอนก็ดีขึ้น (เขาเลยเคลมว่า anthropologist as a cultural therapist)

......................


Spindler พูดหลายประเด็น แต่ที่น่าสนใจคือเขาเตือนคนอ่านว่า เรื่องการเรียนการสอน การสื่อสารผ่านช่องทางเดียวกำลังไม่ฟังก์ชันในสังคมของเขา เพราะสังคมต้องการคนที่มีบุคคลิกภาพ ความสามารถที่หลากหลายเพื่อดำรงความซับซ้อนของสังคม "เราต้องการ multiple channels of cultural transmission"

เขาทิ้งท้ายว่า ถ้าจะเอาจริง คือจะทำให้มันดีขึ้นจริง ยังมีปัญหาที่ต้องขบคิดอีกเยอะ เพราะขณะที่เราสร้าง channel ที่หลากหลายแต่ความสัมพันธ์ระหว่าง ครูกับวัฒนธรรม ครูกับนักเรียน ผู้ปกครอง การเรียนการสอน ยังเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงควบคู่ไปกับ morality ด้วย เรื่องนี้อาจต้องให้นักปรัชญาเข้ามาช่วยมองช่วยคิด

 

อ้างอิง
George Dearborn Spindler. (1959) The Transmission of American Culture, Harvard University Press.

ที่มาภาพหน้าแรก: Stanford University

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: