แบงก์-นอนแบงก์คุมเข้มสินเชื่อบุคคล ระบุพนักงานโรงงานตามหนี้ยาก

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 เม.ย. 2560 | อ่านแล้ว 3173 ครั้ง

แบงก์-นอนแบงก์คุมเข้มสินเชื่อบุคคล ระบุพนักงานโรงงานตามหนี้ยาก

เผยการขยายสินเชื่อบุคคลของสถาบันการเงินได้ระมัดระวังมากขึ้น และมีการเลือกลูกค้าเพิ่มขึ้นหลังหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ระบุพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มที่เสี่ยงติดตามหนี้ยาก ทำงานเป็นกะเข้าโรงงานแล้วไม่สามารถโทรศัพท์ตามหนี้ได้และเปลี่ยนงานบ่อย ที่มาภาพประกอบ: Nick Youngson (CC 3.0)

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่านางสาวสุดาพร จันทร์วัฒนากุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซีเปิดเผยว่า การขยายสินเชื่อบุคคลของสถาบันการเงินได้ระมัดระวังมากขึ้น และมีการเลือกลูกค้าเพิ่มขึ้น หลังหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น ทำให้สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อบุคคลปรับคุณสมบัติผู้กู้ให้มีรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงเป็นหนี้เอ็นพีแอล ปี 59 ธนาคารบางแห่งปรับคุณสมบัติผู้กู้ต้องมีรายได้ 30,000-50,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ผู้ให้บริการการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ปรับรายได้ขั้นต่ำจาก 5,000 บาทต่อเดือนเป็น 8,000 บาท ส่วนเคทีซีปรับรายได้ขั้นต่ำจาก 10,000 บาทต่อเดือน เป็น 12,000 บาท

ทั้งนี้ จากการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ยอดสินเชื่อบุคคลทั้งระบบตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดือน ก.พ.ปรับลงมาที่ 331,000 ล้านบาท ลดลง 3.1% แบ่งเป็นสินเชื่อบุคคลจากธนาคารพาณิชย์ 154,000 ล้านบาท ลดลง 0.6% ส่วนนอนแบงก์อยู่ที่ 176,000 ล้านบาท ลดลง 6.8% จากปี 59 ยอดสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 338,000 ล้านบาท โตจากปีก่อน 4.1%

นางสาวสุดาพรกล่าวว่าสินเชื่อบุคคลของเคทีซีโตสวนตลาด ไตรมาส 1 โต 18% ต่อเนื่องจากปี 59 ที่โต 18.2% เนื่องจากเคทีซีมีการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าใกล้ชิด ไม่กระตุ้นสินเชื่อในกลุ่มที่มีความเสี่ยง โดยกลุ่มลูกค้าที่เคทีซีเห็นว่ามีศักยภาพคือ พนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและโรงแรม ส่วนพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมเคทีซีไม่เคยปล่อยกู้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เสี่ยงติดตามหนี้ยาก ทำงานเป็นกะเข้าโรงงานแล้วไม่สามารถโทรศัพท์ตามหนี้ได้และเปลี่ยนงานบ่อย สิ้นไตรมาส 1 มีลูกค้าสินเชื่อบุคคล 834,000 บัญชี ยอดสินเชื่อ 22,154 ล้านบาท แนวโน้มไตรมาส 2 ยังโตต่อเนื่อง ขณะที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ 0.9% ต่ำกว่าเอ็นพีแอลตลาดที่ 3.1% โดย 5 ปีที่ผ่านมาเคทีซีคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อมาตลอด ส่งผลให้คำขอสินเชื่อได้รับอนุมัติเพียง 30% อีก 70% ถูกปฏิเสธ นอกจากนี้ยังมีการติดตามหนี้ที่เข้มข้นมากขึ้น

น.ส.ณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอลเซอร์วิสเซสกล่าวว่า กรุงศรีคอนซูเมอร์ยังไม่ปรับเงื่อนไขการปล่อยกู้ กำหนดวงเงินรายได้ต่อเดือนไว้ที่ 10,000 บาทขึ้นไป แต่มีการปล่อยกู้ให้ลูกค้าที่มีรายได้น้อยเพียง 20% ขณะที่ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือน 20,000-30,000 บาท เพราะมีความสามารถในการผ่อนชำระสูงกว่า ส่วนเอ็นพีแอลลูกค้ารายย่อยทรงตัวที่ 3.3% ด้านนางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่าธนาคารเน้นปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้ลูกค้าที่มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปเป็นหลัก เนื่องจากมีโอกาสผิดนัดชำระน้อยกว่าลูกค้ารายได้ต่ำเกือบ 1 เท่าตัว แต่ลูกค้าที่มีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาท ยังขอยื่นกู้กับธนาคารได้ปกติ แต่อาจคิดดอกเบี้ยสูงกว่าอยู่ที่ 21-28% ต่อปี ขณะที่ลูกหนี้ที่มีรายได้เกิน 20,000 บาท ปกติคิด 18% ธนาคารประเมินว่าลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท ยังมีปัญหากำลังซื้อและการผ่อนชำระอยู่ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการหารายได้และหนี้ครัวเรือนยังสูง ดังนั้นธนาคารจึงโฟกัสไปที่กลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก ขณะที่ยอดปฏิเสธการปล่อยกู้อยู่ที่ 60-65%

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: