เรื่องการเมืองไหม? ศาลอินเดียตัดสินจำคุกตลอดชีวิตคนงาน Suzuki ข้อหาฆาตกรรมผู้จัดการ HR

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 24 มี.ค. 2560 | อ่านแล้ว 1141 ครั้ง

เรื่องการเมืองไหม? ศาลอินเดียตัดสินจำคุกตลอดชีวิตคนงาน Suzuki ข้อหาฆาตกรรมผู้จัดการ HR

แกนนำสหภาพแรงงานมารุติ ซูซุกิ ในอินเดียถูกศาลท้องถิ่นตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ข้อหาฆาตกรรมผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์จากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อหลายปีก่อน ด้านสหภาพแรงงานชี้คำตัดสินนี้เป็นเรื่องการเมือง จงใจที่จะกลั่นแกล้งกลุ่มคนงานที่รวมตัวกันเพื่อต่อรองกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ ที่มาภาพประกอบ: tnlabour.in

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2017 พนักงานบริษัทมารุติ ซูซุกิ อินเดีย ลิมิเต็ท (Maruti Suzuki India Limited - MSIL) จำนวน 13 คนซึ่งเป็นแกนนำสหภาพแรงงานมารุติ ซูซุกิ (Maruti Suzuki Employees Union - MSEU) ถูกศาลท้องถิ่นในรัฐหรยาณา (Haryana) ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ข้อหาฆาตกรรมผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์จากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2012  นอกจากนี้ คนงานอีก 18 คนถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาต่าง ๆ เช่น ก่อจลาจล ซึ่งในจำนวนนี้ 4 คนถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ที่เหลือได้รับการปล่อยตัว สหภาพแรงงานมารุติ ซูซุกิ มองว่าคำตัดสินนี้เป็นเรื่องการเมืองอย่างเห็นได้ชัด จงใจที่จะกลั่นแกล้งการรวมตัวกันครั้งใหญ่ของคนงาน ณ เขตอุตสาหกรรมคุร์เคาน์ (Gurgaon) และมาเนสาร์ (Manesar) รัฐหรยาณา ซึ่งใกล้กับใหญ่อย่างเมืองนิวเดลี

ทั้งนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ของอินเดียกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ที่สำคัญ คือเมืองมาเนสาร์ ในรัฐหรยาณา ภาคเหนือของประเทศ ที่เมืองมุมไบและปูเน่ รัฐมหาราษฏระ ภาคตะวันตก เมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู ภาคใต้ และเมืองชัมเศทปุระ (Janshedpur) และกัลกัตตา ภาคตะวันออก และเมืองอินดอร์ รัฐมัธยประเทศ ภาคกลาง โดยมีสัดส่วนการผลิตที่เมืองเจนไน 35% เมืองมุมไบและปูเน่ 33% และมาเนสาร์ (ใกล้เมืองหลวง) ประมาณ 32% ทั้งนี้ ตามวิสัยทัศน์ AMP 2016’s อินเดียตั้งเป้าให้มีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกในสามเขต คือ ใกล้เมืองมุมไบ เจนไน และกัลกัตตา โดยให้แต่ละเขตสามารถผลิตรถยนต์ได้จำนวน 500,000 คัน ภายในปี 2015 

หลังคำพิพากษา ก็ได้มีการออกมาสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนงานจากโรงงานที่ต่าง ๆ กว่า 25,000 คน รวมถึงคนงานที่ห่างไกลเช่นที่ทมิฬนาฑู พวกเขาไม่พอใจคำพิพากษา และจะมีการรณรงค์ให้ปล่อยตัวคนงานทุกคนจากทั่วโลกต่อจากนี้

คนงานมารุติ ซูซุกิ จำนวน 31 คนจากทั้งหมด 148 คน ถูกจำคุกเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ก่อนที่จะถูกพิพากษา นอกจากนี้ คนงานจำนวน 117 คนจาก 148 คนนี้ ศาลได้ปล่อยตัวเป็นที่เรียบร้อย แต่พวกเขาถูกจำคุกมาแล้วกว่า 4 ปี ซึ่งพวกเขาไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวเลย ซึ่งรัฐจะต้องรับผิดชอบจากการที่พวกเขาติดคุกฟรี

การจับกุมคุมขังคนงานเริ่มเมื่อเหตุการณ์ความรุนแรง ปี 2012 จากการที่สหภาพแรงงาน มารุติ ซูซุกิ นัดหยุดงานประท้วงรูปแบบการจ้างงานชั่วคราว สภาพการทำงานที่เลวร้าย การขูดรีดค่าจ้างและการกลั่นแกล้งคนงาน ขัดขวางการจัดตั้งสหภาพแรงงาน แต่ผลที่ตามมาคือ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (หรือ HR) ถูกไฟครอกเสียชีวิต 1 คน และคนงานกับผู้จัดการคนอื่น ๆ ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และบริษัทเลิกจ้างคนงานทั้งสิ้น 2,346 คน

ก่อนหน้าที่จะถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2012 มีการยึดโรงงานซูซุกิ สาขามาเนสาร์ เมื่อปี 2011 และคนงานในอีก 2 สาขาใกล้เคียงกันนัดหยุดงานแสดงความสมานฉันท์เพื่อยืนยันสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การต่อต้านระบบการจ้างงานที่เลวร้าย แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็เข้ามาปราบปรามจับกุมคนงานเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์การเผาโรงงานซูซุกิ สาขามาเนสาร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2012 ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของผู้จัดการนั้น สหภาพแรงงานกล่าวว่าการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐหรยาณา ขาดความเป็นอิสระโปร่งใส เข้าข้างฝ่ายบริหาร มีการกล่าวหาคนงานโดยง่าย เช่นจับกุมโดยไม่มีการสอบสวน และจับกุมตามรายชื่อของฝ่ายบริหาร ทั้งยังมีการทรมานคนงานในเรือนจำ

บริษัท มารุติ ซูซุกิ อินเดีย ลิมิเต็ท มีนโยบายลดต้นทุนการผลิตเพื่อแข่งขันหากำไรสูงสุด โดยมีต้นทุนแรงงานต่ำที่สุดในบรรดาโรงงานผลิตรถยนต์รายอื่น คนงานทำงานแบบไม่หยุดเป็นเวลา 8 ชั่วโมงครึ่ง พักรับประทานอาหารกลางวัน 30 นาทีและพักเบรกชากาแฟ 7 นาที ต้องมารายงานตัว 15 นาทีก่อนเปลี่ยนกะ การลางานส่งผลต่อค่าจ้างที่จะต้องถูกหักออก ก่อให้เกิดจากสภาพการทำงานที่กดดัน การหักค่าจ้างตามจำนวนวันลางานเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานของบริษัทภายใต้นโยบาย Production-Performance-Reward หรือการให้รางวัลผลผลิตที่มาจากผลการปฏิบัติงานที่ดี ตัวอย่างเช่น พนักงานประจำได้รับอนุญาตจากหัวหน้าแผนก (Supervisor) ให้ลางาน 1 วันจะถูกหักค่าจ้างประมาณ 1,200-1,500 รูปี นั่นคือ องค์ประกอบค่าจ้างมี 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ถูกกำหนดชัดเจน อีกส่วนหนึ่ง ขึ้นลงตามความขยัน ไม่ขาดไม่ลางาน

นโยบายการจ้างงานชั่วคราวหรือสัญญาจ้างทำให้มีพนักงานชั่วคราวจำนวนมาก และมีพนักงานประจำเพียง 25% ซึ่งพนักงานชั่วคราวจะได้รับค่าจ้างรายวัน (26 วันต่อเดือน)

ประวัติของบริษัทบริษัท มารุติ ซูซุกิ อินเดีย ลิมิเต็ท

เดิมเป็นโรงงานผลิตของภาครัฐ ชื่อ Maruti Udyog ตั้งเมื่อปี 1981 ในอำเภอคุร์เคาน์ จากนั้นนโยบายของรัฐก็หันมาใช้แนวทางเสรีนิยมใหม่ จึงลดหุ้นของรัฐ 50% แล้วให้ภาคเอกชนคือ บริษัท ซูซูกิจากญี่ปุ่นเข้ามาร่วมหุ้น  และกลายเป็นหุ้นส่วนที่มีหุ้นเท่ากันในปี 1992  ท้ายสุดเมื่อเดือนกันยายน 2007 ก็เป็นของเอกชน 100% และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท มารุติ ซูซุกิ อินเดีย ลิมิเต็ท ในปี 2011 มีพนักงานรวม 3,500 คน แบ่งเป็นพนักงานประจำ 900 คน ชั่วคราว (สัญญาจ้าง) 1,100 คน และเด็กฝึกงาน 1,500 คน

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก:
Maruti-Suzuki workers in India fight for their union, IndustriALL Global Union, 08/09/2011
People’s Union for Democratic Rights. Release of PUDR Report ‘Driving Force: Labour Struggles and Violation of Rights in Maruti Suzuki India Limited (May 2013) at Press Conference in Chandigarh
 Appeal for Solidarity and Support for Maruti Workers, tnlabour.in, 14/03/2017
Maruti Suzuki life sentences will not stop workers, aawl.org.au, 19/03/2017

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: