ร้องสมาคมสื่อฯ พาดหัวและเนื้อข่าวอุบัติเหตุไม่เอาเรื่อง 'อาถรรพ์ ปาฎิหารย์'

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3204 ครั้ง

ร้องสมาคมสื่อฯ พาดหัวและเนื้อข่าวอุบัติเหตุไม่เอาเรื่อง 'อาถรรพ์ ปาฎิหารย์'

ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน รณรงค์ออนไลน์ ขอกองบรรณาธิการสื่อ นสพ./วิทยุโทรทัศน์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปลี่ยนรูปแบบนำเสนอ (พาดหัวและรายงาน) ข่าวอุบัติเหตุ โดยไม่เชื่อมโยง “อาถรรพ์ ปาฎิหารย์” และการสื่อสารในลักษณะ “เหยื่อทำตัวเอง” (Blaming the victims) รวมทั้ง ส่งเสริมการทำข่าวเชิงสืบสวนสาเหตุอุบัติเหตุในเชิงลึกให้มากขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดซ้ำซาก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันแก้ไข ที่มาภาพ: ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

19 พ.ค. 2560 ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน จัดการรณรงค์ออนไลน์ผ่าน change.org ขอกองบรรณาธิการสื่อ นสพ./วิทยุโทรทัศน์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปลี่ยนรูปแบบนำเสนอ (พาดหัวและรายงาน) ข่าวอุบัติเหตุ โดยไม่เชื่อมโยง “อาถรรพ์ ปาฎิหารย์” และการสื่อสารในลักษณะ “เหยื่อทำตัวเอง” (Blaming the victims) รวมทั้ง ส่งเสริมการทำข่าวเชิงสืบสวนสาเหตุอุบัติเหตุในเชิงลึกให้มากขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดซ้ำซาก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันแก้ไข

โดยรายละเอียดทั้งหมดของการรณรงค์มีดังต่อไปนี้

สังคมไทย เริ่มตระหนักและรับรู้ถึงขนาดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน จากข่าว จากคลิปที่มีการแชร์ผ่าน social media ต่างๆ อยู่ทุกวัน รวมทั้งการที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นที่ ๒ ของโลก เพราะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง ๓๒.๖ /ต่อประชากรแสนคน

อย่างไรก็ตาม เราก็ยังพบกับเหตุการณ์เดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นจุดเสี่ยงเดิมๆ อุบัติเหตุรถสาธารณะลักษณะเดิม จนถูกนำไปสร้างวาทกรรม .. โค้งร้อยศพ !
เป็นไปได้หรือไม่ว่า .. การนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ผ่านสื่อต่างๆ ยังคงยึดติดกับแบบแผนเดิมๆ เพื่อให้ข่าวดูน่าสนใจ ได้แก่

(๑) การเชื่อมโยงเหตุการณ์ให้เป็นเรื่อง ปาฎิหารย์ อาถรรพ์ เป็นเรื่องเคราะห์ หรือความซวย เช่น อาถรรพ์โค้งร้อยศพ, รอดปาฎิหารย์ (ทั้งๆ ที่คนขับใช้เข็มขัดนิรภัย) ฯลฯ
(๒) นำเสนอให้เห็นว่าเหยื่อ “ทำตัวเอง” (Blaming the victims) เช่น พาดหัวข่าว ผอ.ซิ่ง หลุดโค้งชนต้นไม้ .. ทำให้คนอ่านเกิดความรู้สึก blame เหยื่อ
(๓) ไม่บอกสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น แต่ย้ำว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เช่น ฝนตกถนนลื่น (ทั้งๆ ที่รถคันอื่นๆ ที่ขับมาด้วยกันก็ไม่เกิดเหตุ)


แม้ว่าการนำเสนอลักษณะนี้จะเริ่มลดลง แต่พบว่าสื่อประเภทต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ (ทั้งวางขายและ online) ยังคงมีการสื่อสารด้วยรูปแบบเหล่านี้อยู่ จึงไม่แปลกที่จะพบว่า ผลสำรวจ ABAC poll จะพบว่า 1/4 คนไทย เห็นว่าอุบัติเหตุ “ป้องกันไม่ได้” .. (ผลสำรวจ พ.ศ. 2556)

ถ้าเราช่วยกันให้พื้นที่สื่อ “ข่าวอุบัติเหตุ” มีการนำเสนอทั้ง (๑) สาเหตุการเกิดเหตุ เช่น ขับเร็ว เมาขับ ถนนเป็นจุดอันตราย สภาพรถไม่ดี ฯลฯ และ (๒) สาเหตุการตาย เช่น ไม่คาดเข็มขัดหรือสวมหมวกนิรภัย รถชนต้นไม้ริมทาง ฯลฯ ..

ข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นการเสริมให้คนในสังคมรับรู้สาเหตุและเห็นว่าจะต้องช่วยกันแก้ไขในเรื่องใด ไม่วนเวียนกับเรื่องอาถรรพ์ เคราะห์ร้าย หรือแก้ไม่ได้ รวมทั้งการพูดถึงแต่เพียงการแก้จิตสำนึก โดยที่ยังไม่ได้แก้ไขเรื่องอื่นๆ เช่น รถยนต์ ถนนหรือสิ่งแวดล้อม

จึงข้อเสนอให้ .. สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย รวมทั้ง กอง บก.สื่อ นสพ./วิทยุโทรทัศน์ เปลี่ยนรูปแบบนำเสนอ (พาดหัวและรายงาน) ข่าวอุบัติเหตุ โดยไม่เชื่อมโยง “อาถรรพ์ ปาฎิหารย์” และการสื่อสารในลักษณะ “เหยื่อทำตัวเอง” (Blaming the victims) รวมทั้ง ส่งเสริมการทำข่าวเชิงสืบสวนสาเหตุอุบัติเหตุในเชิงลึกให้มากขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดซ้ำซาก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันแก้ไข

#นโยบายByประชาชน

เข้าร่วมการณรงค์ได้ที่ พาดหัวและเนื้อข่าวอุบัติเหตุ ไม่เอาเรื่อง “อาถรรพ์ ปาฎิหารย์” .. ขอข้อมูลสาเหตุอุบัติเหตุ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: