ค้าบริการทางเพศในไทยผิดกฎหมายโดยชอบธรรม

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ 14 ก.พ. 2560 | อ่านแล้ว 60707 ครั้ง


คำกล่าวนี้คงไม่เกินจริงไปนัก ถ้าพิจารณาโดดๆ เพียงการค้าบริการทางเพศที่ไม่มีองค์ประกอบอื่นเข้ามาร่วมด้วย เช่น A ติดต่อไปทางโทรศัพท์ขอซื้อบริการจากB ในกรณีนี้ B ไม่ผิด เว้นเสียB จะทำองค์ประกอบอื่นที่กฎหมายระบุเช่น ค้าบริการในสถานค้าบริการ หรือสถานคาประเวณี เช่น ซ่อง (กฎหมายนิยามว่าเป็นมั่วสุม) ชักชวนจนเกิดความอับอาย และก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญบนที่สาธารณะ (แล้วแต่เจ้าหน้าที่ตีความว่าแค่ไหนจะน่าอับอาย หรือสร้างความเดือดร้อน รำคาญ)

รวมไปถึงความผิดในฐาน เป็นแม่เล้า (จัดหา) เจ้าของกิจการ (เจ้าของซ่องหรือสถานค้าบริการ) และข้อหาแมงดา (รับเงินเลี้ยงดูจากการค้าบริการทางเพศ) นอกเหนือจากนั้น หากอายุเกิน18ปี ไม่เข้าข่ายผู้เยาว์ เราอาจพอพูดได้ว่า "การค้าบริการทางเพศ โดดๆ โดยตัวมันเอง ไม่ได้ผิดกฎหมายในไทย"

ตามประมวลกฎหมายอาญาในส่วนความผิดเกี่ยวกับเพศนั้น นิยามความผิดเกี่ยวกับเพศในส่วนการค้าประเวณีหรือการค้าบริการทางเพศไว้ในมาตราที่ 282-287 โดยหลักมีใจความว่า  “หาก ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท” [มาตรา282 ประมวลกฎหมายอาญา] และมีส่วนขยายเพิ่มเติมในเรื่องของช่วงวัย ว่าหากกระทำต่อเด็กอายุไม่เกิน15ปีก็จะมีโทษจำคุกเพิ่ม

และในมาตราที่283 และ284 มีความผิดเพิ่มเติมในส่วนของการหลอกลวง ขู่เข็ญ บังคับ และใช้กำลังประทุษร้ายผู้คนไปค้าบริการทางเพศว่า

“ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง โดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท”[มาตรา283 ประมวลกฎหมายอาญา]

และ

“ผู้ใดพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท”[มาตรา284 ประมวลกฎหมายอาญา]

นอกจากนี้ยังมีการอธิบายส่วนความผิดของการเป็น “แมงดา” หรือการรับเงินเลี้ยงดูจากการค้าบริการทางเพศไว้ในมาตราที่ 286 ว่า “ผู้ใดอายุกว่าสิบหกปีดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต”

โดยนิยามในรายละเอียดว่า

“ผู้ใดไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันปรากฏสำหรับดำรงชีพ หรือไม่มีปัจจัยอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพ และมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ ให้ถือว่าผู้นั้นดำรงชีพอยู่จากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี เว้นแต่จะพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจได้ว่ามิได้เป็นเช่นนั้

  1. อยู่ร่วมกับผู้ซึ่งค้าประเวณี หรือสมาคมกับผู้ซึ่งค้าประเวณีคนเดียวหรือหลายคนเป็นอาจิณ
  2. กินอยู่หลับนอน หรือรับเงิน หรือประโยชน์อย่างอื่น โดยผู้ซึ่งค้าประเวณีเป็นผู้จัดให้
  3. เข้าแทรกแซงเพื่อช่วยผู้ซึ่งค้าประเวณีในการทะเลาะวิวาทกับผู้ที่คบค้ากับผู้ซึ่งค้าประเวณีนั้น บทบัญญัติแห่งมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับค่าเลี้ยงดูจากผู้ซึ่งค้าประเวณีซึ่งพึงให้ค่าเลี้ยงดูนั้นตามกฎหมายหรือตามธรรมจรรยา”


กล่าวโดยสรุปแล้ว สำหรับประมวลกฎหมายอาญานั้น ไม่มีการระบุว่า “ผู้ค้าบริการทางเพศ” ผิดกฎหมาย แต่มาม่าซัง เจ้าของสถานบริการ ตลอดจนนายหน้าที่จัดหาเท่านั้นมีความผิด และหากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ลูกค้าก็จะมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์

ในส่วนของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีปี 2539 นั้นไม่มีระบุโทษของผู้ที่เตร็ดเตร่เพื่อการค้าประเวณี หรือพบเห็นในที่สาธารณะว่าเป็นการเรียกร้องการติดต่อในการค้าประเวณี เหมือนในพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณีปี 2503 มาตราที่ 5 แต่อธิบายความผิดในลักษณะที่ว่า “เข้าติดต่อชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนน หรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใดอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอายหรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน”[พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีปี 2539]

นอกเหนือจากนี้ในส่วนมาตราอื่นก็เป็นการอธิบายความผิดของลักษณะความเป็นผู้จัดหา เจ้าของกิจการ ตลอดจนการมั่วสุมในสถานค้าประเวณีเท่านั้น ไม่มีมาตราระบุความผิดเกี่ยวกับการค้าประเวณีหรือค้าบริการเพศเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีองค์ประกอบอื่นร่วม

ซึ่งหากสรุปตามถ้อยความทางกฎหมาย การค้าบริการทางเพศที่ไม่ผิดกฎหมาย สามารถเป็นไปได้ โดยอยู่ในที่ของตน หรืออาจในที่สาธารณะได้ เช่น ยืนเฉยๆ ในจุดที่รู้กัน โดยไม่กระทำการชักชวนและรบเร้าให้ถูกตีความตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีปี 2539 ได้ เช่น ในบางสถานที่ ที่มีการวางโค๊ดลับวางเครื่องหมายบนรถที่ต้องการซื้อบริการทางเพศ แล้วผู้ค้าจะเดินเข้าไปหาเองเป็นต้น หรือ การเสนอซื้อของผู้ซื้อเอง ถ้าตามเนื้อความในกฎหมายเพียงอย่างเดียว ก็อาจพูดได้ว่าไม่ได้ระบุความผิดต่อผู้ค้าบริการทางเพศไว้ เว้นเสียแต่จะอยู่ในสถานบริการทำให้เข้าข่ายมั่วสุมในสถานค้าประเวณี ตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีปี 2539 เท่านั้น

แต่ในความเป็นจริง การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่นั้น ตีความตามตัวกฎหมายหรือไม่ คำว่าอับอาย รบเร้า เดือดร้อน รำคาญ ตามมาตราที่5 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีปี 2539 เปิดกว้างต่อการใช้งานเช่นไร เป็นเรื่องที่ต้องลงลึกในรายละเอียดระดับหน้างานของเจ้าหน้าที่ 

ที่มาภาพประกอบ: เฟสบุ๊ค The Untold

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: