เผยเด็กหญิงอินโดนีเซียแต่งงานก่อนวัยเพิ่มสูง-เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด แต่สังคมยังหนุนวัยรุ่นเร่งแต่งงาน

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ก.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2909 ครั้ง

เผยเด็กหญิงอินโดนีเซียแต่งงานก่อนวัยเพิ่มสูง-เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด แต่สังคมยังหนุนวัยรุ่นเร่งแต่งงาน

La Ode Munafar นักเขียนชาวอินโดนีเซีย วัย 26 ปี เริ่มต้นโครงการ 'อินโดนีเซียไม่ต้องการการเกี้ยวพาราสี' (Indonesia Tanpa Pacaran) โดยเคลื่อนไหวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ผลักดันให้วัยรุ่นในประเทศตัดขั้นตอนการคบหาดูใจก่อนแต่งงาน ล่าสุดมีผู้ติดตามทาง Facebook มากกว่า 2 แสนคน และอีก 3 แสนคนใน Instagram ภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี และทุกๆ วันจะมีผู้สนใจติดตามผ่านโซเชียลมีเดียมากถึง 1 พันคน

โครงการดังกล่าวตีพิมพ์หนังสือมากกว่า 60 เล่ม โดยให้คำแนะนำด้านความสัมพันธ์แบบส่วนตัวแก่ผู้ที่สนใจ ผ่านการอบรมสัมมนา คอร์สเรียนออนไลน์ และห้องแชทส่วนตัวผ่านทาง Whatsapp โดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 1 แสน 7 หมื่นรูเปีย (442 บาท) เพื่อสมัครสมาชิกเข้าใช้บริการ ซึ่ง La Ode Munafar เชื่อว่าวัยรุ่นยุคนี้ตกเป็นเหยื่อของการคบหาดูใจ ที่สิ้นเปลืองทั้งเวลาและเงินทอง เพื่อให้คนที่พวกเขาชื่นชอบหันมาสนใจ ซ้ำร้ายการออกเดทยังอาจทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวได้

ขณะที่กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (Unicef) เผยว่า เด็กหญิงชาวอินโดนีเซียราว 14-35 % แต่งงานก่อนอายุ 18 ปี และตอนนี้อินโดนีเซีย ติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีเจ้าสาวอายุน้อยมากที่สุดในโลก

ด้าน Emilie Minnick ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองสิทธิเด็กจาก Unicef เผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซียเคยทำรายงานพบว่าการแต่งงานตั้งแต่อายุน้อยนั้นส่งผลกระทบเชิงลบกับเด็กผู้หญิง เพราะเด็กหญิงที่แต่งงานก่อนจะมีอายุครบ 18 ปี จะมีโอกาสเรียนไม่จบชั้นมัธยมมากกว่าเด็กที่แต่งงานหลังอายุครบ 18 ปีถึง 6 เท่า แต่อย่างไรก็ตามปัญหาความยากจนทำให้เด็กหญิงเหล่านี้ต้องถูกกดดันให้แต่งงานก่อนอายุ 18 ปีถึง 4 เท่าตัว มากไปกว่านั้น เด็กหญิงเหล่านี้จะมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์และการคลอดบุตรก่อนกำหนด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กหญิงอายุ 15-19 ปีทั่วโลกด้วย

แม้ไอเดียของ La Ode Munafar ที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้ อาจเป็นสาเหตุให้การแต่งงานตั้งแต่วัยเด็กนั้นพุ่งสูงขึ้นได้ แต่ต้องยอมรับว่ากฏหมายอินโดนีเซีย ก็เปิดช่องให้เด็กหญิงแต่งงานได้เมื่ออายุเพียง 16 ปี ขณะที่เด็กชายจะแต่งงานได้เมื่ออายุ 19 ปี และต้องได้รับอนุญาตจากครอบครัวก่อน

"หากอินโดนีเซียต้องการแก้ปัญหาการแต่งงานก่อนวัยอันควร อาจต้องมองไปถึงการแก้ปัญหาความยากจน วัฒนธรรมประเพณีการออกเรือนของอินโดนีเซียที่ยอมรับการแต่งงานตั้งแต่วัยเด็ก รวมทั้งเพิ่มหน่วยงานบริการสังคมที่เคลื่อนไหวเพื่อควบคุมปัญหานี้ตั้งแต่ต้นเหตุ" Emilie Minnick กล่าว

ที่มาข่าวและภาพประกอบ: Newsgram, 12/7/2017

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: