ทำไมใคร ๆ ก็เชียร์ ‘อาชีวะ’ แต่ ‘จบ ปวส.’ กลับถูกทิ้งไว้กลางทาง

รชา เหลืองบริสุทธิ์ * TCIJ School รุ่นที่ 4: 11 ส.ค. 2560 | อ่านแล้ว 20674 ครั้ง

นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เร่งผลักดันให้เด็กสนใจเรียนอาชีวะ แต่นโยบายที่ไม่ชัดเจนในปริญญาต่อเนื่อง เมื่อเด็กจบปวส.ต้องการเรียนต่อมหาวิทยาลัยเพื่อเพิ่มวุฒิ กลับต้องใช้ระยะเวลาเรียน 3-5 ปี นานกว่าเด็กสายสามัญ อีกทั้งคณะที่ให้เลือกเรียนก็มีไม่ครอบคลุม ความเหลื่อมล้ำจากปัจจัยดังกล่าว สร้างปัญหาให้เด็กไม่เลือกเรียนสายอาชีวะตามที่รัฐและตลาดแรงงานคาดหวัง (ที่มาภาพประกอบ: Eduzones.com)

ปรากฎการณ์แห่เชียร์เรียนอาชีวะ

กระแสการเรียกร้องให้เด็กหันมาเรียนอาชีวะ เพราะความต้องการแรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรม เนื่องด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นยุคแห่งนวัตกรรม แต่อีกมุมหนึ่งใครจะรู้ว่า เด็กอาชีวะระดับวิชาชีพชั้นสูงหรือปวส.กำลังโอดครวญถึงตัวเลือกทางการศึกษาที่พวกเขาถูกหมางเมิน

ก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 นโยบายนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาแรงงานฝีมือเข้าสู่ตลาด เพราะแรงงานที่มีคุณภาพถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยกลับประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานวิชาชีพในระดับอาชีวศึกษาจำนวนมาก จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ระบุว่า ปัจจุบันมีความต้องการแรงงานคุณภาพสายอาชีพมากถึงปีละกว่า 500,000 คน ทั้งนี้การปรับตัวเพื่อก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ จำเป็นจะต้องมีการสร้างแรงงานในระดับอาชีวศึกษาถึง 1.99 ล้านคน

ช่วงที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานออกมาขานรับนโยบายดังกล่าว ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถึงการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพ โดยการเติมความเข้มข้นในระบบแนะแนวการเรียนต่อสายอาชีพให้แก่เด็กที่กำลังจะจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองเข้าใจว่า หากเรียนอาชีวะแล้ว เด็กที่จบออกมาจะมีงานทำอย่างแน่นอน

ไม่เพียงแต่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้นที่ออกมาตอบรับ ภาคเอกชนก็เข้ามาผนวกกำลังร่วมผลักดันให้เด็กมาเรียนสายอาชีวะเช่นกัน  อย่างโครงการทุน ‘อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ’ โดยมูลนิธิเอสซีจี ที่ให้เงินสนับสนุนเป็นทุนการศึกษาฟรีแก่เด็กที่สมัครขอทุนจากโครงการนี้ ซึ่งให้อย่างต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)

นอกจากนี้ การเผยแพร่ข่าวสารประเด็นเรื่องการสนับสนุนการศึกษาสายอาชีวะก็ถูกพูดถึงกระจายออกไปเป็นวงกว้าง รวมทั้งเสียงเชียร์จากสื่อหลายสำนัก

จากข้อมูลรายงาน 'ผู้สำเร็จการศึกษาและประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2560' ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาและผู้กำลังศึกษาปี 2558 จากสถาบันการศึกษาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ระบุว่า คาดการณ์ในปี 2560 จะมีคนสำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 161,924 คน

การคาดการณ์ดังกล่าว ทำให้ทราบว่าการผลิตนักเรียนอาชีวะระดับ ปวส. ในแต่ละปี สามารถผลิตเด็กสายอาชีพออกมาได้มากพอสมควร คำถามต่อมาคือ หากสายอาชีวะต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้หรือเพิ่มวุฒิ  เพื่อออกไปเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพและค่าตอบแทนที่มากขึ้น พวกเขาเหล่านั้นจะสามารถทำได้หรือไม่ ?

‘นัทติมา ละอายทุกข์’  ศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคโนโลยีอักษรพัทยา เล่าว่า “เพิ่งจบ ปวส.มา ตอนนี้ทำงานอยู่ เราอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยแต่ยังเรียนไม่ได้ต้องหาเงินก่อน เพราะมหาวิทยาลัยที่เราจะเข้าเป็นเอกชน คือคณะที่เราสนใจใน ม.รัฐบาล เขาไม่รับ ปวส. และสมมุติถ้าเข้ามหาวิทยาลัยไปก็ยังไม่แน่ใจเลยว่าจะเรียนจบภายใน 2 ปี เหมือนหลักสูตรปริญญาตรีทั่วไป เพราะคณะจะให้ปวส.ที่จบมาเรียน 3 ปี เท่ากับว่าเราต้องเรียนทั้งหมด 5 ปี ไม่เหมือนกับเด็กสายสามัญที่เรียนต่อแค่ 4 ปี”

เช่นกับที่‘ปิยชนน์ เกี้ยวไทย’ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร บอกว่า “จบ ปวส.มา และก็อยากเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย จึงเลือกเรียนต่อ แต่ที่เรียนที่จะพอเลือกได้ก็เป็นของเอกชนหมดเลย โชคดีหน่อยที่แม่สนับสนุนไหว ส่วนตรงกับที่เรียนมาไหม ก็ตรงนิดหน่อย พวกที่เป็นสายตรงจะไปอยู่ในมหาวิทยาลัยรัฐบาลส่วนใหญ่ ซึ่งเขาไม่รับปวส.”

อีกทั้งในโลกออนไลน์ ยังมีการตั้งเพจ ‘มั่นใจว่านักศึกษาอาชีวะต้องการปริญญาตรีต่อเนื่อง 2 ปี กลับคืนมา’  มีคนกดถูกใจถึง 2,813 คน โดยจุดมุ่งหมายของเพจต้องการผลักดันให้เด็กสายอาชีวะสามารถเรียนต่อปริญญาตรีจบได้ภายใน 2 ปี

จากกรณีตัวอย่างเด็กสายอาชีวะและเพจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่ามีเด็กสายอาชีวะจำนวนมากที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีความประสงค์จะเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย และต้องการให้เกิดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือเลือกปฏิบัติ

หลักสูตรปริญญาต่อเนื่อง ความหวังที่ยังไม่ชัดเจน

เมื่อสามปีที่ผ่านมา คณะกรรมการการอุดมศึกษาก็เคยมีแนวคิดทบทวนการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องเพิ่มขึ้น จากที่เคยมีเพียง 2 หลักสูตร กล่าวคือ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต และหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรม ทางคณะกรรมการการอุดมศึกษาคิดว่าเป็นเรื่องดีที่จะเพิ่มหลักสูตรปริญญาต่อเนื่อง เพราะจะทำให้เด็กหันมาสนใจมาเรียนอาชีวะมากขึ้น เนื่องจากเมื่อจบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เรียนอีก 2 ปีก็ได้ปริญญาตรี  ซึ่งในขณะนั้นถึงแม้จะเปิดให้เด็กที่จบ ปวส.สามารถนำหน่วยกิตมาเทียบโอนเรียนต่อปริญญาตรีได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาเรียน 3 ปี  เมื่อรวมเวลาที่เรียนจาก ปวส.ถึงปริญญาตรีต้องเรียนถึง 5 ปี ความลักลั่นดังกล่าวนี้ทำให้คนที่ต้องการปริญญาตรี ก็ไปเรียนสายสามัญและมหาวิทยาลัยดีกว่า เพราะเรียน 4 ปีก็ได้ปริญญาตรี  อีกทั้งคนที่มาเรียน ปวส. ส่วนใหญ่ทำงานแล้ว จึงไม่อยากจะเสียเวลาเรียนหลายปี

ปัจจุบันยังไม่เห็นทิศทางแน่ชัดในการเปิดหลักสูตรปริญญาต่อเนื่อง ผู้ที่จบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ก็ยังต้องใช้เวลาในการเรียนอีก 3 ปีเช่นเดิม 

นอกจากนี้ จากข่าว 'อาชีวะปรับแผนรับนักเรียนปี 60 รัฐเปิดรอบเดียว-แบ่งเค้กเอกชน' ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อเดือน พ.ย. 2560 ที่อ้างถึงดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้ระบุไว้ว่า ในปีการศึกษา 2560 จะปรับสัดส่วนการรับเด็กสายสามัญกับสายอาชีพให้มีการรับเข้าศึกษาเท่ากัน โดยส่วนตัวก็คิดว่าอาจเป็นไปได้ยาก ซึ่งตนจะหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการก่อน อย่างไรก็ตาม จะพยายามรักษาจำนวนการรับเด็กเข้าเรียนอาชีวะไม่ให้น้อยกว่าเดิม คือ 62 ต่อ 38

"ผมได้หารือร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่ง เพื่อปรับหลักสูตรภายในระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง จากที่ต้องเรียน 3 ปี ให้ลดลงเหลือ 2 ปี ซึ่งนักศึกษาที่จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) จากอาชีวศึกษาสามารถเรียนต่อปริญญาต่อเนื่องได้ทันที" ดร.สุเทพกล่าวไว้ในข่าว

การเปิดหลักสูตรปริญญาต่อเนื่องสำหรับผู้จบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)อาจจะทำให้เด็กสนใจมาเรียนอาชีวะมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเด็กจบ ปวส.แล้วจะต่อปริญญาตรีต้องเป็นปริญญาตรีสายปฏิบัติการเท่านั้น หรือต้องใช้วิธีเทียบโอนหน่วยกิต แต่ต้องใช้เวลาเรียน 3 ปีขึ้นไป จากที่เคยจบ ปวส.มาต่อปริญญาตรีต่อเนื่องใช้เวลาแค่ 2 ปี ทำให้เด็กไม่สนใจมาเรียนอาชีวะหรือเมื่อจบ ปวส.แล้วจำเป็นต้องเปลี่ยนไปเรียนสายอื่น จะเกิดการสูญเสียทรัพยากรและไม่คุ้มค่าเงินที่ลงทุนไป

ในขณะเดียวกัน ค่านิยมใบปริญญาก็ยังมีอยู่ในประเทศ ดังนั้นการที่เปิดหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องไม่มาก เด็กจึงตัดสินใจ ไปเรียนสายสามัญและต่อมหาวิทยาลัยแทน เพราะใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่า และมีคณะรวมถึงมหาวิทยาลัยให้เด็กเลือกได้มากกว่า

ดังนั้น นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งผลักดันให้เด็กหันมาเรียนสายอาชีวะ แต่ในทางปฏิบัติกลับมองไม่เห็นปัญหาและอุปสรรคของการไม่มีหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องมากพอ ไม่มีคณะที่เปิดรับเด็กปวส. ปล่อยให้ระบบสร้างความเหลื่อมล้ำแก่สายอาชีพเช่นนี้  นโยบายนี้ก็เป็นได้เพียงวาทกรรม  ที่เป็นเสมือนหนึ่งการหลอกเด็กมาทิ้งไว้กลางทาง

 

*รชา เหลืองบริสุทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: จบ ปวส. สายเทคนิคทำงานช่างแค่ 14%

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: