ศอ.บต. ยอมรับ 'เสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์' มูลค่ารวมพันล้านทยอยเสีย-แบตเตอรี่ถูกขโมย

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 4339 ครั้ง

ศอ.บต. ยอมรับ 'เสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์' มูลค่ารวมพันล้านทยอยเสีย-แบตเตอรี่ถูกขโมย

ศอ.บต. ผู้รับผิดชอบโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ 1,555 ชุด มูลค่า 1,011,916,500 บาท ยอมรับจำนวนเสาไฟโซลาร์เซลล์ที่เสียมีแล้ว 531 จุด สาเหตุที่โคมไฟส่องสว่างมีปัญหาติด ๆ ดับ ๆ ขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศ ตรวจสอบพบว่ากว่า 70% เป็นปัญหาแบตเตอรี่ถูกขโมย ขณะนี้ดำเนินการจับกุมผู้ที่ลักลอบขโมยได้แล้ว คดีฟ้องศาลไปเรียบร้อย 2 คดี ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

NOW26TV รายงานเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560 ว่า “ทีมล่าความจริง” ได้นำเสนอข่าวการร้องเรียนถึงประสิทธิภาพของโคมไฟส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์ ซึ่งติดตั้งอยู่ตามถนนและทางแยกต่าง ๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปรากฏว่าโคมไฟลักษณะนี้ส่วนใหญ่มีปัญหาติด ๆ ดับ ๆ บางส่วนก็ดับไปเลย ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นมืดสนิท

โครงการนี้เป็นของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 ต่อเนื่องถึงปีงบประมาณ 2559 เท่าที่ทีมล่าความจริงตรวจสอบพบจากเอกสาร มีทั้งสิ้น 6 โครงการด้วยกัน คือ หนึ่ง โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งชุดโคมส่องสว่างถนนแบบโซล่าเซลล์ในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน จำนวน 2,000 ชุด งบประมาณ 126 ล้านบาท สอง โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าพร้อมโคมส่องสว่างโซล่าเซลล์ในศาสนสถานและสถานที่ฝังศพ เผาศพ จำนวน 3,484 ชุด งบประมาณ 219,492,000 บาท สาม โครงการสนับสนุนการติดตั้งโคมไฟฟ้าส่องสว่างระบบโซล่าเซลล์ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,500 ชุด งบประมาณ 94,500,000 บาท สี่ โครงการติดตั้งโคมไฟถนนแอลอีดี ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3,365 ชุด งบประมาณ 212 ล้านบาท ห้า โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมหลอดประหยัดพลังงานชนิดแอลอีดี เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4,500 ชุด งบประมาณ 270 ล้านบาท และหก โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซล่าเซลล์ จำนวน 1,555 ชุด งบประมาณ 89,924,500 บาท รวมงบประมาณทั้งจัดซื้อและติดตั้งทั้งสิ้น 1,011,916,500 บาท โดยเป็นการติดตั้งโคมไฟฟ้าส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าเซลล์ 14,849 ชุด ราคาโดยเฉลี่ยชุดละ 63,000 บาท

วัตถุประสงค์ของโครงการ เน้นไปที่การสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยติดตั้งโคมไฟส่องสว่างในจุดที่ล่อแหลม สองข้างทางมีแสงสว่างไม่เพียงพอ หากเกิดเหตุรุนแรงขึ้น กล้องวงจรปิดก็ไม่สามารถบันทึกภาพได้ เพราะแสงสว่างน้อย จุดที่ติดตั้งเป็นถนนสายที่มีสถิติเหตุรุนแรง ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนที่สัญจรไปมาแล้ว ยังช่วยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งการลาดตระเวน และเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ด้วย

จากเอกสารประเมินผลงานของ ศอ.บต. ระบุว่า หลังจากติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์ ปรากฏว่าหลังจากติดตั้ง 2 ปี ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ติดตั้งเสาไฟเลย ประชาชนกล้าเดินทางสัญจรไปมามากขึ้น จึงถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของทีมล่าความจริง หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน พบว่าเสาไฟโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่มีปัญหาไฟไม่สว่าง และมีบางส่วนที่เสาเอียง สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากตัวแทนผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่บอกกับทีมล่าความจริงว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เพราะช่วยให้จุดเสี่ยง หรือจุดล่อแหลมต่อการก่อเหตุรุนแรงมีแสงสว่างมากขึ้น นอกจากนั้น หากไฟฟ้าดับ ไม่ว่าจะด้วยฝีมือของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือระบบไฟขัดข้อง แต่โคมไฟโซลาร์เซลล์ก็ยังทำงานได้ ทว่าปัญหาใหญ่ที่พบก็คือ โคมไฟโซลาร์เซลล์ใช้งานได้จริงแค่ 3 เดือนแรก จากนั้นก็เริ่มเสีย และหลังจาก 3 เดือน ใช้งานได้ไม่ถึงร้อยละ 30 ประกอบกับพื้นที่ชายแดนใต้มีฝนตกชุก มีแดดน้อย โครงการนี้จึงอาจไม่เหมาะสมกับพื้นที่

ปัญหาสำคัญที่พบ นอกจากไฟไม่สว่างแล้ว ยังมีเรื่องของการซ่อมแซม เพราะโครงการนี้เป็นของ ศอ.บต.ที่ไม่ได้มอบให้ท้องถิ่นดำเนินการ ท้องถิ่นจึงไม่มีอำนาจซ่อมแซมแทนได้ ประกอบกับไม่มีงบประมาณสนับสนุน และไม่มีองค์ความรู้ในการดำเนินการ นอกจากนั้นชาวบ้านยังไม่รู้ว่าเป็นโครงการของ ศอ.บต. ทำให้เมื่อไฟดับ ก็จะมาร้องเรียนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บ้างก็กล่าวหาว่าท้องถิ่นทุจริต ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างเลยแม้แต่น้อย ซึ่งจากการตรวจสอบของทีมล่าความจริง พบว่าในปีงบประมาณ 2560 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ได้ตั้งงบประมาณสำหรับซ่อมแซมเสาไฟโซลาร์เซลล์แล้ว วงเงิน 4,248,000 บาท โดยเบื้องต้นจะมีการซ่อมแซม 531 ต้น ราคาต้นละ 8,200 บาท

ล่าสุด NOW26TV รายงานเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าหลังจาก “ทีมล่าความจริง” ได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับเสาไฟโซลาร์เซลล์ที่ดำเนินการโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ซึ่งติดตั้งไปแล้วกว่า 14,000 จุด ในพื้นที่ล่อแหลมทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้งบประมาณกว่า 1 พันล้านบาท แต่ปรากฏว่ามีชาวบ้านร้องเรียนว่าไฟติด ๆ ดับ ๆ หรือหลายจุดไฟดับสนิทไปเลย ไม่สามารถใช้งานได้มากถึง 80% นั้น ล่าสุดทางผู้บริหาร ศอ.บต.ที่รับผิดชอบโครงการได้ออกมาชี้แจงเรื่องนี้แล้ว

นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ผู้รับผิดชอบโครงการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ ชี้แจงกับทีมล่าความจริงว่า จำนวนเสาไฟโซลาร์เซลล์ที่เสีย เท่าที่สำรวจพบและรับแจ้งจากประชาชนมีเพียง 531 จุดเท่านั้น โดยสาเหตุที่โคมไฟส่องสว่างมีปัญหาติด ๆ ดับ ๆ ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม ทั้งเรื่องดินฟ้าอากาศ และจากการตรวจสอบพบว่ากว่า 70% เป็นปัญหาแบตเตอรี่ถูกขโมย ขณะนี้ดำเนินการจับกุมผู้ที่ลักลอบขโมยได้แล้ว คดีฟ้องศาลไปเรียบร้อย 2 คดี

สำหรับการซ่อมแซม ได้ตั้งงบประมาณไว้แล้วต้นละ 8 พันบาท ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และหลังจากซ่อมเสร็จ จะโอนให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล ส่วนที่มองกันว่าโครงการนี้อาจไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่มีฝนตกชุกนั้น จริงๆ แล้วในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแดดแรง ไม่ได้ฝนตกตลอดเวลา โครงการจึงมีความเหมาะสม และได้รับการขานรับจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก หลังจากนี้หากใครพบเสาไฟโซลาร์เซลล์ดับ สามารถแจ้งมายังสายด่วนอุ่นใจของ ศอ.บต.ได้ที่หมายเลข 1880

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: