ปฏิบัติการทวงแบรนด์ดังอย่าง ‘Mizuno’ ให้เคารพสิทธิแรงงาน

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 4 ก.พ. 2560 | อ่านแล้ว 2935 ครั้ง

ปฏิบัติการทวงแบรนด์ดังอย่าง ‘Mizuno’ ให้เคารพสิทธิแรงงาน

คนงานอินโดนีเซียบุกงานมาราธอนอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ที่มีแบรนด์มิซุโน (Mizuno) เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ เรียกร้องให้แบรนด์ข้ามชาติรับผิดชอบต่อแรงงานในสายพานการผลิตที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศสำคัญที่เป็นฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาให้กับแบรนด์ดังของโลก นอกจากนี้ในกรณีนี้ยังมีการรณรงค์ผ่านโลกออนไลน์ด้วย ที่มาภาพ: Clean Clothes Campaign

ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่เป็นฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ดัง ๆ ของโลก และเราก็มักได้ยินข่าวการละเมิดสิทธิแรงงาน รวมทั้งการออกมาเรียกร้อของคนงานในอุตสาหกรรมนี้บ่อยครั้ง

ในเดือน ต.ค. 2016 ก่อนที่จะมีการวิ่งมาราธอนที่เมืองอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ที่มีแบรนด์มิซุโน (Mizuno) เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ และเคยมีท่าทีทางลบต่อการเรียกร้องขององค์กรรณรงค์เสื้อผ้าสะอาด หรือ (Clean Clothes Campaign - CCC) ที่เรียกร้องให้ทำตามข้อเสนอของสหภาพแรงงานให้จ่ายค่าชดเชยแก่คนงานในอินโดนีเซีย แต่มิซุโนปฏิเสธ จากนั้น CCC และเครือข่ายจึงมีการรณรงค์ที่มีชื่อว่า #NeverStopPushing (ไม่หยุดผลักดัน) ที่มีปฎิบัติการณ์ทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์

เจ้าหน้าที่องค์กรรณรงค์เสื้อผ้าสะอาด (CCC) ระบุว่า “คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าในอินโดนีเซียยังคงประท้วงตามที่สาธารณะเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาของพวกเขา หลังจากไม่ได้รับค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งทางบริษัทปานารับ (Panarub ซึ่งเป็นบริษัทที่รับจ้างผลิตให้กับมิซุโน) ไม่ควรปกปิดกรณีนี้ฝ่ายเดียว โดยอ้างว่าสหภาพแรงงานไม่ต้องการเจรจาด้วย และสองฝ่ายได้ตกลงจำนวนค่าชดเชยและคนงานได้รับไปแล้ว เราจะยังคงสนับสนุนการต่อสู้ของคนงาน และ CCC ได้เน้นว่า การพยายามทำข้อตกลงเป็นรายบุคคลของบริษัทเป็นวิธีการที่ยอมรับไม่ได้”

ด้านประธานสหภาพแรงงาน SBGTS-GSB ระบุว่า “บริษัทต้องยอมรับและเคารพกระบวนการเจรจาต่อรองร่วมกับคนงาน เนื่องจากบริษัทปานารับ พยายามทำลายกระบวนการนี้ ที่คนงานได้ตกลงที่จะให้สหภาพแรงงานเป็นตัวแทนการเจรจา “เราขอเรียกร้องให้แบรนด์มิซุโนรับผิดชอบและให้ความมั่นใจว่าคนงานหญิงจะได้รับค่าชดเชย”

CCC ในยุโรปได้ร่วมกับกลุ่มสิทธิแรงงานต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นและฮ่องกงเพื่อบอกกับแบรนด์ชุดกีฬานี้ว่า พวกเขาจะรณรงค์ #NeverStopPushing จนกว่าจะจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมแก่คนงานจำนวน 346 คน หลังจากได้เลิกจ้างพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อปี 2012 กลุ่มรณรงค์ต่าง ๆ เรียกร้องแบรนด์มิซุโน ทำตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่เคยทำกันไว้

คนงานบริษัทปานารับ (หรือชื่อเต็มว่า PT Panarub Dwikarya Benoa - PDK) ส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิง ตัดเย็บชุดกีฬามาหลายปี สูญเสียบ้านและครอบครัวหลังโรงงานเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมอาดิดาส (Adidas) ผู้ซื้ออีกรายหนึ่งของบริษัทเดียวกันนี้ ก็ปฏิเสธที่จะจ่ายคนงาน ทั้งนี้บริษัทฯ เป็นซับพลายเออร์ของแบรนด์มิซุโนมาหลายปี ส่วนอาดิดาสก็เป็นผู้ซื้อสินค้าและจ้างให้บริษัทปานารับเหมาช่วงผลิตรองเท้าให้กับแบรนด์มายาวนานด้วยเช่นกัน

การรณรงค์เกิดขึ้นหลายที่ทั้งสำนักงานแบรนด์มิซุโน ร้านค้า และงานวิ่งต่าง ๆ ประธานสหภาพแรงงาน SBGTS-GSBI กล่าวว่า “มันชัดมากที่บริษัทปานารับจะไม่ยื่นข้อเสนอค่าชดเชยที่เป็นธรรมและปิดเคสนี้ หากไม่มีผู้ซื้อที่เป็นแบรนด์ใหญ่ทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น เราจึงมุ่งเป้าไปที่มิซุโน ที่ในเว็บไซด์อ้างว่าทำธุรกิจเป็นธรรม แต่ท้ายสุดก็ไม่รับผิดชอบกรณีปัญหาดังกล่าว”

กรณีปัญหาข้างต้นเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2012 กลุ่มคนงานหญิงราว 1,300 คนถูกเลิกจ้างหลังจากนัดหยุดงานเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำที่ถูกกฎหมายและปรับปรุงสภาพการทำงานให้ปลอดภัย ซึ่งคนงานถูกกระทำความรุนแรงทางกายและวาจาด้วย และก่อนหน้านั้นเมื่อต้นปี 2012 คนงานจัดตั้งสหภาพแรงงาน SBGTS-GSBI ทว่าการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานในเดือน ก.ค. ฝ่ายบริหารจัดการเลื่อนการเจรจาเรื่องค่าจ้าง คนงานจึงเริ่มประท้วง ตามมาด้วยนัดหยุดงานจำนวน 2,000 คน และหลังจากนัดหยุดงาน 5 วัน บริษัทปานารับ ก็เลิกจ้างคนงาน

ตั้งแต่นั้นมาอาดิดาสและมิซุโนไม่ยินยอมหาทางออก คนงานยังรวมกันต่อสู้เรียกร้องค่าชดเชย ต่อมาในเดือน ส.ค. 2012 บริษัทปานารับเรียกประชุม โดยที่สหภาพแรงงานยังไม่ทันเตรียมข้อเสนอในการเจรจาต่อรอง หลังจบการประชุม บริษัทฯ กล่าวว่าได้เข้าหาคนงานเป็นรายคนแล้ว และยื่นข้อเสนอค่าชดเชย แต่คนงานไม่รับเพราะน้อย ไม่เพียงพอ

ต่อมาจนถึงปี 2106 คนงานหญิงจำนวน 346 คนยังไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรม โดยการรณรงค์ที่จัดโดย CCC ระบุว่าหากผู้รักความเป็นธรรมต้องการร่วมรณรงค์ ขอให้ไปที่ หน้าเฟซบุ๊กของมิซุโน และสอบถามว่าเมื่อไรจะแก้ไขปัญหาคนงานที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเหล่านี้ และจ่ายค่าชดเชยให้พวกเขา

หรือทวิตเตอร์ด้วยข้อความว่า  We will #NeverStopPushing you, @MizunoRunningEU until you pay your workers in Indonesia หรือ Dont run away @MizunoRunningEU Come to meet the women in Indonesia and make sure they get paid what you owe them เป็นต้น

 

แปลและเรียบเรียงจาก:
Japanese sports brand Mizuno target of #NeverStopPushing campaign, Clean Clothes Campaign, 10/10/2016

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: