คนไทยรู้ยัง: อาเซียนนิยมใช้เงินบาทรองจากดอลลาร์สหรัฐฯ

ทีมข่าว TCIJ : 30 ธ.ค. 2559 | อ่านแล้ว 14268 ครั้ง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานโครงสร้างการชำระเงินค่าสินค้าออกของไทยกับอาเซียนจำแนกตามสกุลเงิน เมื่อเดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสะท้อนแนวโน้มการค้าขายสินค้าและบริการของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านภายในภูมิภาคอาเซียน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่าการค้าขายระหว่างกันภายในภูมิภาคนี้ ส่วนใหญ่ยังใช้ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลหลักในการชำระโดยมีสัดส่วนการใช้ดอลลาร์สหรัฐฯ ชำระค่าสินค้าและบริการสูงที่สุดที่ 83% ของวงเงินทั้งหมดอย่างไรก็ตาม สัดส่วนการใช้ดอลลาร์สหรัฐฯดังกล่าวได้ลดลงจาก 73.9% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่เงินบาทของไทยมีการใช้มากเป็นอันดับ 2 มีสัดส่วนอยู่ที่ 23.1% เพิ่มขึ้นจาก 21.6% ในระยะเดียวกันปีก่อน สำหรับสกุลเงินที่มีการใช้ชำระค่าสินค้าและบริการมาเป็นอันดับ 3 คือ เงินเยนญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วน 3.2% เพิ่มขึ้น จากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีสัดส่วน 1.8% อันดับ 4 คือ ดอลลาร์สิงคโปร์ มีสัดส่วนที่ 0.9% ลดลงจาก 1.1% อันดับ 5 คือ เงินยูโร มีสัดส่วนที่ 0.5% คงที่จากระยะเดียวกันปีก่อน และอันดับต่อมา 6 คือ เงินริงกิตมาเลเซีย มีสัดส่วน 0.4% คงที่จากระยะเดียวกันปีก่อนเช่นกัน นอกนั้นจะเป็นการชำระค่าสินค้าและบริการ ด้วยเงินสกุลอื่น ๆ รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.8% เท่ากันกับระยะเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ดี ข้อมูลข้างต้นเป็นที่สังเกตว่าการใช้เงินบาทในการชำระค่าสินค้าและบริการส่งออกโดยตรงระหว่างกันในอาเซียนเริ่มมีการปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของทุกประเทศในอาเซียนที่ต้องการลดความผันผวนจากการใช้เงินสกุลหลักอย่าง ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีการออกนโยบายที่จะลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินสกุลหลักกัน มากขึ้น และหันมาใช้เงินสกุลในอาเซียนกันเองแทน    

ทั้งนี้ การที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีภาวะเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน ทำให้การเทียบค่าเงินระหว่างกันจะมีความแตกต่างกันไม่มาก หรือมีความผันผวนต่อกันน้อยนั่นเอง ที่สำคัญการใช้เงินสกุลอาเซียนหรือสกุลเงินในท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการ ยังช่วยลดต้นทุนจากค่าบริหารจัดการเงินหรือเทียบโอนไปมาระหว่างเงินสกุลหลักได้ด้วย

นอกจากนี้ หากพิจารณาเป็นรายประเทศจะพบว่า ประเทศที่มีการใช้เงินบาทในการชำระค่าสินค้าและ บริการเพื่อการส่งออกระหว่างกันมากที่สุด คือ สปป.ลาว มีการใช้เงินบาทคิดเป็นสัดส่วน 59.6% ของวงเงินการชำระสินค้าและบริการรวม รองลงมาเป็นเมียนมา มีสัดส่วนการชำระเงินในสินค้าส่งออกที่ 54.7% ตามมาด้วยกัมพูชา มีสัดส่วน 41.2% ถัดมาเวียดนาม มีสัดส่วน 20.7% ต่อมาฟิลิปปินส์ สัดส่วน 19.7% อินโดนีเซีย 14.9% มาเลเซีย 15.6% บรูไน 12.8% และสิงคโปร์ 6%

 

ที่มาข้อมูล: โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559
ที่มาภาพประกอบ: Josch13 (CC0 Public Domain)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: