คนไทยรู้ยัง : สัดส่วนเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศอาเซียน (6 ประเทศ)

ทีมข่าว TCIJ : 28 ต.ค. 2559 | อ่านแล้ว 3425 ครั้ง

สัดส่วนการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มจากร้อยละ 32 เป็นร้อยละ 50 เนื่องมาจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจ ราคาต้นทุนของถ่านหินที่ถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ ปริมาณสำรองที่ยังมีอุดมสมบูรณ์ โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อตอบโจทย์เรื่องการลดการปล่อยก๊าซ CO2 โรงไฟฟ้าถ่านหินร้อยละ 35 จะใช้เทคโนโลยี Supercritical และร้อยละ 21 เป็น Ultra-supercritical ขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติจะลดลงจากร้อยละ 44 เป็นร้อยละ 26 สำหรับสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 22 จากการเร่งเพิ่มกำลังผลิตของพลังงานหมุนเวียน โดยการสำรวจแหล่งความร้อนใต้พิภพของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และการเร่งพัฒนาพลังงานลมบนชายฝั่งและพลังงานแสงอาทิตย์ในภูมิภาค เป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่อาเซียนจะมีสัดส่วนของพลังงานนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเวียดนามก่อสร้างแล้วเสร็จได้ตามแผน

โดยสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของประเทศในอาเซียน 6 ประเทศ ที่น่าสนใจมีดังนี้

มาเลเซีย - ในปี 2558 มาเลเซียใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าร้อยละ 47.5 และ 45.5 ตามลำดับ เมื่อถึงปี 2606 คาดการณ์ว่า ถ่านหินจะครองสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าสูงสุดร้อยละ 53 ส่วนก๊าซธรรมชาติจะลดลงเหลือร้อยละ 30 โดยมาเลเซียมุ่งพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงที่สุด Ultra-supercritical ซึ่งปัจจุบันมีโรงไฟฟ้า Manjung โรงที่ 4 เริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว เมื่อปี 2558 และโรงไฟฟ้า Tanjung Bin ที่เดินเครื่องในเดือนมีนาคม 2559 โดยช่วยเพิ่มกำลังผลิตขึ้นอีก 2,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมาเลเซียกำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน Jimah East Power เทคโนโลยี Ultra-supercritical อีกจำนวน 2 โรง กำลังผลิตรวม 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนจะเดินเครื่องกลางปี 2562 และตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ร้อยละ 11 ไว้ว่าในปี 2563

อินโดนีเซีย - ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินร้อยละ 47 ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 29 มีการวางแผนจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าอีก 42,000 เมกะวัตต์ รวมราว 96,000 เมกะวัตต์ ในปี 2567 โดยเน้นเพิ่มกำลังผลิตถ่านหินถึงครึ่งหนึ่ง ประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ ตามมาด้วยก๊าซธรรมชาติ 13,000 เมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยเน้นความร้อนใต้พิภพ

ฟิลิปปินส์ - ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ ร้อยละ 13 อย่างไรก็ตามเชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติยังคงครองสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าสูงสุด คือ ร้อยละ 44 และ 24 ตามลำดับ การคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นทำให้ฟิลิปปินส์มีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศอีก 16,550 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 โดยมากกว่าครึ่งเป็นเป็นโรงไฟฟ้าฐาน (Base Load Plant) ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

เมียนมา - พึ่งพาการผลิตด้วยพลังน้ำร้อยละ 67 ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 30 ถ่านหินร้อยละ 3 ประสบปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ในหน้าแล้งที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้องมีการหยุดจ่ายไฟในบางพื้นที่สลับกันไป แผนพลังงาน 15 ปี ที่เมียนมาใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังผลิตให้ถึง 29,000 เมกะวัตต์ ในปี 2574 โดยจะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม 41 โรง เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 20 โรง กำลังผลิตรวม 6,270 เมกะวัตต์ ในแคว้นมัณฑะเลย์ รัฐกะฉิ่น กะเหรี่ยงและฉาน โรงไฟฟ้าถ่านหิน 12 โรง กำลังผลิตรวม 12,780 เมกะวัตต์ ในย่างกุ้ง ตะนาวศรี อิรวดี ที่เหลือเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 1,301 เมกะวัตต์ แสงอาทิตย์ 520 เมกะวัตต์ และพลังงานลมอีก 4,032 เมกะวัตต์

เวียดนาม - พึ่งพาพลังงานน้ำ ราวร้อยละ 40 ซึ่งตามแผนพลังงานของประเทศฉบับที่ 7 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในปี 2573 สัดส่วนนี้จะลดลงเหลือร้อยละ 17 จากความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการพึ่งพาพลังงานที่ไม่แน่นอน และจะเพิ่มกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งตามแผนจะครองสัดส่วนร้อยละ 53.2 ในกำลังผลิตทั้งหมด (เทียบกับปัจจุบันที่ร้อยละ 34.4) และหลังจากที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเวียดนามเดินเครื่องตามแผนในปี 2571 นิวเคลียร์จะมีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าของเวียดนามร้อยละ 5.7 ในปี 2616 ในขณะที่พลังงานลม แสงอาทิตย์ และชีวมวล จะครองสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 10

ลาว - ลาวนับได้ว่าเป็นประเทศที่ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำมากที่สุดในอาเซียนมาโดยตลอด คือเกือบจะ 100 เปอร์เซนต์ และยังส่งออกไฟฟ้าจากพลังงานน้ำไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2558 ลาวเริ่มมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นครั้งแรก คือโรงไฟฟ้าหงสา ที่ปัจจุบันมีจำนวน 3 โรง กำลังผลิตรวม 1,878 เมกะวัตต์ และกำลังมีแผนจะสร้างโรงที่ 4 ซึ่งตามการคาดการณ์ของสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia – ERIA) ในปี 2578 น้ำจะยังคงครองสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าสูงสุดที่ร้อยละ 80 ที่เหลือเป็นถ่านหินร้อยละ 20 นอกจากนั้น ลาวยังอยู่ในช่วงศึกษาหาทางพัฒนาโครงการพลังงานลมและแสงอาทิตย์ด้วย

ที่มาข้อมูล: International Energy Agency
ที่มาภาพประกอบ: hetfa.eu

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: