ผู้ประกอบการค้านร่างกฏหมายควบคุมการฆ่าสัตว์ชี้ส่งออกแข่งขันไม่ได้

27 มิ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 2283 ครั้ง


	ผู้ประกอบการค้านร่างกฏหมายควบคุมการฆ่าสัตว์ชี้ส่งออกแข่งขันไม่ได้

สมาคมผู้ผลิตสัตว์ปีกหวั่น ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ เรียกเก็บค่าอากร-ค่าธรรมเนียม ส่งผลให้เกิดการลักลอบนำสัตว์ปีกไปชำแหละนอกโรงฆ่าสัตว์ เพื่อเลี่ยงอากรทำผู้บริโภคเสี่ยง ต้นทุนพุ่งกระทบส่งออก (ที่มาภาพ: ยูทูป Jonathan RJI)

27 มิ.ย. 2559 สำนักข่าวไทยราย งานว่านางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ เปิดเผยถึงกรณีที่ภาครัฐกำลังผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. …. ว่า ขณะนี้ 9 สมาคมผู้ผลิตสัตว์ปีก ประกอบด้วย สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เพื่อการส่งออก สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยฯ สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เตรียมยื่นหนังสือคัดค้าน พ.ร.บ.ดังกล่าว ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เนื่องจากพบว่าหากมีการประกาศใช้ (ร่าง) พรบ. ดังกล่าว จะมีปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะการกำหนดให้เก็บอากรการฆ่าและค่าธรรมเนียมการรับรองให้จำหน่ายเนื้อไก่ เป็ด ห่าน จะส่งผลให้เกิดการหลีกเลี่ยง ไม่แจ้งการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกอย่างถูกต้องและลักลอบนำสัตว์ปีกไปชำแหละนอกโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาคอุตสาหกรรมสัตว์ปีกทั้งระบบ กระทบต่อผู้บริโภคด้านความปลอดภัย ราคาพุ่งสูงขึ้น

“ ที่ผ่านมาภาครัฐให้ความสำคัญต่ออุตฯเนื้อสัตว์ปีกเพื่อการส่งออก ไม่มีการเก็บอากรการฆ่าและค่าธรรมเนียม ส่งผลสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก นำเงินตราเข้าประเทศได้ปีละเกือบ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งหาก(ร่าง)พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ ออกมาจะกลายเป็นอุปสรรคลดศักยภาพในการแข่งขันส่งออกกระทบหนักแพราะปัจจุบันต้นทุนการผลิตของไทยก็สูงกว่า บราซิล และสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว”นางฉวีวรรณกล่าว

นายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ระบุว่าการเรียกเก็บอากรและค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรให้ต้องมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น และเมื่อเกิดภาวะราคาเนื้อสัตว์ตกต่ำ เกษตรกรก็จะประสบภาวะขาดทุนมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ก็ประสบปัญหาราคาเนื้อไก่ตกต่ำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จนปัจจุบันราคาก็ยังไม่ได้ขยับขึ้นเลย ซึ่งก็ไม่มีใครมาช่วยเหลืออะไร วัตถุดิบเลี้ยงไก่พวกข้าวโพดก็จะให้ซื้อราคาแพงและยังจะมาเก็บอากรอีก แล้วเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่จะอยู่อย่างไร

นายสุเทพ วงศ์รื่น นายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า มีข้อสงสัยเกี่ยวกับตารางแนบท้าย (ร่าง) พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่มีการกำหนดค่าอากรฯ ไก่ ไว้สูงมากถึง 2 บาทต่อตัว หากคำนวณจากราคาไก่ที่ 90 บาทต่อตัว เท่ากับเสียอากรฯสูงถึงร้อยละ 2.22 ของมูลค่า ขณะที่ เมื่อเทียบกับโคที่มีมูลค่าถึงตัวละ 50,000 บาท กลับตั้งอากรฯไว้ที่ 20 บาทต่อตัว คิดเป็นร้อยละ 0.04 ของมูลค่า หรือสุกรตัวละ 7,500 บาท ตั้งอากรไว้ที่ 15 บาทต่อตัว คิดเป็นร้อยละ 0.2 ซึ่งไม่รู้ว่าใช้หลักเกณฑ์อะไรมากำหนดถึงตั้งอากรสำหรับไก่สูงขนาดนี้ และกำหนดไว้สูงๆ ไปเพื่ออะไรถ้าหากมีการประกาศใช้จะเกิดผลกระทบตามมามากมายแน่นอน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: