นักวิจัยลาวชี้ สวนกล้วยจีนในลาว ลอบใช้สารเคมี กระทบแหล่งน้ำ ทำแรงงานเสียชีวิต

23 เม.ย. 2559 | อ่านแล้ว 3766 ครั้ง


	นักวิจัยลาวชี้ สวนกล้วยจีนในลาว ลอบใช้สารเคมี กระทบแหล่งน้ำ ทำแรงงานเสียชีวิต

นักวิจัยลาวเผยผลกระทบจากการลงทุนปลูกกล้วยหอมในลาวของนายทุนจีน ลักลอบใช้สารเคมีจำนวนมาก กระทบแหล่งน้ำกิน-ใช้ แรงงานบางรายเสียชีวิตจากการสัมผัสสารเคมีกลับไม่ได้รับเงินชดเชย ขณะที่ทางการลาวเตรียมเข้มงวดจำกัดสัมปทานจากต่างชาติ (แหล่งที่มาภาพจาก: sea-globe)

การลงทุนของนักลงทุนจีนใน สปป.ลาวเติบโตอย่างต่อเนื่อง ครองอันดับต้นๆ ของนักลงทุนรายใหญ่ใน สปป.ลาว ตั้งแต่ปี 2551 ล่าสุดเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดในปี 2558 สูงถึง 6 พันล้าน รวมถึงอุตสาหกรรมการเพาะปลูกกล้วยหอมใน สปป.ลาว ที่เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากของชาวจีน

23 เม.ย. 59 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจอ้างรายงานจากสำนักข่าววีโอเอภาษาลาว รายงานว่า ปริมาณความต้องการบริโภคกล้วยในประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลให้นักลงทุนจากจีนหลั่งไหลเข้าแสวงหาที่ดิน เพื่อเพาะปลูกกล้วยหอมใน สปป.ลาว โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนแถบตะวันตกเฉียงเหนือ และขยายไปยังหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

จากเดิมที่ สปป.ลาว ไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิตกล้วยชั้นนำของโลก ในปี 2545 สปป.ลาวผลิตกล้วยได้น้อยกว่า 90,000 ตัน แต่ในปี 2556 การผลิตกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 400,000 ตัน เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายกฎระเบียบให้สัมปทานที่ดิน เพื่อรับการลงทุนจากต่างประเทศ

สำนักข่าว RFA รายงานอ้างงานวิจัยของ วงพาพัน มานิวง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยกสิกรรมและป่าไม้ ระบุว่า ระยะหลังนักลงทุนจีนจำนวนมากลักลอบนำเข้าสารเคมีที่เป็นพิษจำนวนมากเพื่อใช้ในการปลูกกล้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีกระแสการใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีจากเจ้าของสวนกล้วย ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง ทั้งน้ำดื่มน้ำใช้ และทำให้ปลาในบ่อเลี้ยงของชาวบ้านตายลอยเกลื่อน

"คนงานในสวนกล้วยที่เจ็บป่วยเพราะสัมผัสโดนสารเคมีในระหว่างการทำงาน จะได้รับค่าชดเชยจากเจ้าของสวนเพียง 500,000 กีบ (ราว 62.50 ดอลลาร์) สำหรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่เมื่อคนงานเสียชีวิตกลับไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ" นักวิจัยวงพาพันกล่าวเพิ่ม

อย่างไรก็ตามหลังจากสวนกล้วยในแขวงบ่อแก้วถูกเปิดโปงว่ามีการใช้สารเคมีเป็นพิษในปริมาณมาก ทำให้รัฐบาลออกคำสั่งให้ เวียงจันทร์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว ห้ามคนท้องถิ่นออกใบอนุญาตแก่นักลงทุนจีน รวมถึงสวนกล้วยที่มีอยู่ในปัจจุบันยังถูกห้ามขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีคำสั่งห้ามทุกแขวงทั่วประเทศออกใบอนุญาตเพิ่มอีก รวมทั้งไม่อนุญาตให้ขยายเนื้อที่เพาะปลูก โดยรัฐบาลให้ใช้มาตรการเด็ดขาด หากพบนักลงทุนรายใดใช้สารเคมีที่เป็นพิษมากเกินขนาด ทำให้เกิดผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีคำสั่งให้สามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้ทันที

ทั้งนี้เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา คำพัน เผยยะวง เจ้าแขวงบ่อแก้ว เปิดเผยว่า แขวงบ่อแก้วจะไม่ออกใบอนุญาตให้นักลงทุนจากจีนสำหรับเช่าที่ดินทำไร่กล้วยหอมอีก ทั้งยอมรับว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่ได้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ปล่อยให้มีการนำเข้าและใช้สารเคมีที่มีพิษร้ายแรงต่อชาวบ้าน ยิ่งกว่านั้นสารเคมีบางชนิดยังถูกยกเลิกใช้กันแล้วทั่วโลก

พื้นที่ในแขวงบ่อแก้ว เปรียบเสมือนเป็น "สวนกล้วยหอมหลังบ้าน" ของจีน ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนจากจีนเข้าไปปลูกกล้วยหอมมากที่สุด เนื้อที่รวมกันทั้งหมดกว่า 10,000 เฮกตาร์ เป็นผลจากปัจจัยด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งนักธุรกิจจีนสามารถจัดจำหน่ายกล้วยหอมจากแขวงบ่อแก้วไปยังหลายเมืองและมณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ไปจนถึงบางมณฑลทางตอนใต้และภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำเลด้านการขนส่ง แขวงบ่อแก้วตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง มีเขตแดนติด อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นต้นทางของทางหลวงสายเอเชียที่สามารถเชื่อมไทย สปป.ลาว และจีน โดยเป็นระยะทางสั้นและทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน

"การอนุญาตให้นักลงทุนต่างประเทศสามารถเช่าสัมปทานที่ดินเพื่อปลูกกล้วยในช่วงที่ผ่านมาสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนจำนวนหนึ่ง เช่น รายได้จากการสัมปทานเช่าที่ดิน ทำให้คนท้องถิ่นมีงานทำ แต่เป็นเพียงระยะเวลาสั้น และถือว่าเป็นรายรับที่ไม่มั่นคง ทั้งยังทำให้คนงานลาวมีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพจากสารเคมีอันตราย และทำให้ดินเสื่อมโทรมเร็วขึ้น" เจ้าแขวงคำพันระบุเพิ่ม

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: