เตรียมนำระบบเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ของเยอรมันมาปรับใช้ในไทย

19 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2953 ครั้ง


	เตรียมนำระบบเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ของเยอรมันมาปรับใช้ในไทย

กรมควบคุมมลพิษ นำระบบเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ของเยอรมัน "ตู้ทิ้งขวดเปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน" ของเยอรมนีมาปรับใช้ในประเทศไทย โดยนำร่องแห่งแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี (ที่มาภาพประกอบ: wikipedia.org)

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่านายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากการดูงานการจัดการขยะที่ประเทศเยอรมนี กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องเรียกคืนซากบรรจุภัณฑ์ 6 ชนิด เพื่อนำไปรีไซเคิล เช่น แก้ว กระป๋อง โลหะ พลาสติก กระดาษ อลูมิเนียม บรรจุภัณฑ์เคลือบ และกำหนดให้ประชาชนคัดแยก 3 กลุ่ม คือ กระดาษ แก้ว วัสดุน้ำหนักเบา (อลูมิเนียม พลาสติก โฟม) จัดระบบการคัดแยก จัดเก็บและรวบรวม แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ ตามห้างสรรพสินค้าจะมีตู้สำหรับนำขยะเหล่านี้ไปใส่เพื่อแลกเป็นเงินออกมา โดยจะคิดมูลค่าขยะที่นำไปหยอดตู้และนำเงินไปซื้อของหรือบริจาคได้ ซึ่งแนวคิดตู้หยอดขยะแลกเงินได้นำมาทดลองใช้ที่จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ราคาการผลิตตู้ยังสูงและต้องปรับปรุงขนาดตู้ให้ใหญ่ขึ้น ให้สามารถบีบอัดขวดหรือกระป๋องจำนวนมากจะได้ไม่เต็มเร็ว ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษจะหารือกับผู้ประกอบภาคเอกชนว่ารายใดพร้อมจะผลิตตู้รับซื้อขยะ เพื่อให้ประชาชนรู้จักการคัดแยกขยะและมีแรงจูงใจเป็นเงินที่ได้คืนกลับมา รวมทั้งได้ประสานหารือเบื้องต้นกับห้างสรรพสินค้า เตรียมนำร่องตั้งจุดรับซากเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เสื่อมสภาพ โดยอาจจะแลกเป็นเงิน หรือบริจาคเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อาจซ่อมแซมแล้วนำไปใช้ต่อ สำหรับประเทศเยอรมนี นับเป็นประเทศระดับต้น ๆ ที่มีการนำขยะกลับมาใช้ใหม่กว่าร้อยละ 65 ขณะที่ประเทศไทยดำเนินการได้ประมาณร้อยละ 19 โดยตู้คอนเทนเนอร์เพื่อรีไซเคิลมีกระจายอยู่ทั่วไปในย่านชุมชนซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: