เตรียมใช้แผนที่ One Map ทั่วประเทศฉบับเดียว 21 ม.ค.นี้ 

19 ม.ค. 2559 | อ่านแล้ว 4486 ครั้ง


	เตรียมใช้แผนที่ One Map ทั่วประเทศฉบับเดียว 21 ม.ค.นี้ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเผยความคืบหน้าการจัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายป่าไม่และบุกรุกทรัพยากรและที่ดินของรัฐ หรือ One Map ว่าผลการประชุมล่าสุดของคณะทำงานได้ข้อยุติว่าจะมีการแก้แผนที่แนบท้าย พ.ร.บ. ของกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับแผนที่ฉบับใหม่ โดยในวันที่ 21 ม.ค. นี้ นายกรัฐมนตรีจะเปิดปฏิบัติการและแผนการจัดรูปที่ดินทั้งหมด (ที่มาภาพ: forest.go.th)

19 ม.ค. 2559 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายป่าไม่และบุกรุกทรัพยากรและที่ดินของรัฐ หรือOne Map ว่าผลการประชุมล่าสุดของคณะทำงานได้ข้อยุติว่าจะมีการแก้แผนที่แนบท้ายพ.ร.บ.ของกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับแผนที่ฉบับใหม่ โดยในวันที่ 21 ม.ค.นี้. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเปิดปฏิบัติการและแผนการจัดรูปที่ดินทั้งหมดโดยเชิญกอ.รมน.ภาค และผู้ว่าราชการจังหวัดหัวหน้าส่วนราชการ มาร่วมประชุมเพื่อรับทราบและทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์ 13 ข้อ ซึ่งถือเป็นโรดแม็บแก้ปัญหาระยะยาว ทั้งนี้เพื่อให้มีความชัดเจนในการทำงาน สามารถแบ่งแยกพื้นที่ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง เช่น  พื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ทำกินของราษฎร หรือพื้นที่ใดที่เป็นพื้นที่บุกรก  เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์หากเป็นพื้นที่รัฐอาจแก้ไขโดยการให้เช่าใช้ที่ดินระยะยาว เพื่อป้องกันการบุกรุกเพิ่มและสร้างรายได้แก่รัฐ  

“การแก้ไขแผนที่ให้เป็นรูปแบบเดียวกันจะไม่กระทบต่อการถือครองที่ดินของประชาชน เพราะเป็นการแก้ปัญหาทับซ้อนกันของแผนที่แนบท้ายกฎหมายเกี่ยวกับการดูแลที่ดินประเภทต่าง ๆ ของหน่วยราชการที่ทับซ้อนกันเอง เช่น ที่ราชพัสดุ อุทยานแห่งชาติ ป่าไม้ หรือส.ป.ก. ซึ่งรัฐบบาลจะเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนเนื่องจากขณะนี้ในหลายพื้นที่ประชาชนมีความเข้าใจสับสน  ส่วนกรณีของผู้ที่บุกรุกป่า ออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบแม้จะไม่มีการแก้ไขแผนที่ก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายอยู่แล้ว”พล.อ.ไพบูลย์กล่าว  

รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่าได้หารือกับนายกฯว่าต้องมีการเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการปลูกป่าในภาคต่างๆ เพราะปัจจุบันไทยมีพื้นที่ป่าเหลือเพียง 31%  ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าต้องมีพื้นที่ป่า 40%  อย่างไรก็ตามการเพิ่มพื้นที่ป่าอาจต้องใช้ระยะเวลา5-6ปีจึงจะได้พื้นที่ตามเป้าหมาย ภายหลังการแก้ไขแผนที่จะมองเห็นภาพชัดว่าควรปลูกป่าเพิ่มในพื้นที่ใดและมีสัดส่วนเท่าใด สำหรับแผนที่ฉบับใหม่จะสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นได้ภายในเดือนธ.ค.2559 จากนั้นรัฐจะได้จัดสรรพื้นที่ใช้งานที่เหมาะสม  

สำหรับหลักเกณฑ์ 13 ข้อ ที่นายกฯได้เรียกประชุมทำความเข้าใจกับหัวหน้าส่วนราชการก่อนปฏิบัติการขีดเส้นแผนที่ทั่วประเทศประกอบด้วย 1 ป่าสงวนแห่งชาติที่ทับซ้อนกับป่าไม้ถาวร กำหนดให้ใช้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีการประกาศตามกฎหมายเป็นหลัก 2.ป่าสงวนแห่งชาติที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ให้ใช้แนวเขตอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นหลัก 3.ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง และพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้นอกเขตป่าสงวนฯ ที่มีแนวเขตชัดเจนทับซ้อน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ให้ใช้แนวเขตตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน  

4.ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่ทับซ้อนกับป่าชายเลน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ใช้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเป็นหลัก ส่วนกรณีแนวเขตป่าชายเลนที่อยู่นอกแนวเขตพื้นที่ป่าข้างต้นให้ใช้แนวเขตป่าชายเลน 5.ป่าสงวนแห่งชาติที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ให้ใช้แนวเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวเขตปฏิรูปที่ดินทั้งตำบล อำเภอ ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินตามแผนที่ที่กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนป่าแห่งชาติให้ ส.ป.ก. รวมทั้งพื้นที่ที่ ส.ป.ก.กันคืน (อาร์เอฟ) ตามบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538 ทั้งนี้ ให้นำแนวเขตที่ได้ข้อยุติจากคณะทำงานการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่ป่าไม้และเขตปฏิรูปที่ดินระดับจังหวัดและกระทรวงมาประกอบการพิจารณาด้วย 

6.กรณีกรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก.ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ก่อนการกำหนดให้เป็นเขตอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก เว้นแต่เป็นพื้นที่ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่ดินตามมติ ครม.วันที่ 1 มีนาคม 2537 ให้ใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นหลัก  7.อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ที่อยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ทับซ้อนกับนิคมสร้างตนเองหรือนิคมสหกรณ์ที่มีแนวเขตตามกฎหมายบังคับก่อนการกำหนดแนวเขตป่าไม้ข้างต้นให้ใช้เขตนิคมสร้างตนเองหรือเขตนิคมสหกรณ์ที่ไม่มีสภาพป่าเป็นหลัก นอกจากนี้ ให้ใช้ผลการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2557-2558 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาประกอบด้วย  

8.กรณีแนวเขตนิคมสร้างตนเองและสหกรณ์ทับซ้อนแนวเขตปฏิรูปที่ดินให้ยึดตามแนวเขตที่ประกาศเป็นกฎหมายก่อนเป็นหลัก 9.ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง และพื้นที่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีลักษณะคาบเกี่ยวหรือมีเจตนาให้มีแนวเขตเดียวกันให้ใช้แนวเขตที่ราชพัสดุ 10.พื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ที่อยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ทับซ้อนกับที่สาธารณประโยชน์ที่มีการออกหนังสือสำคัญ สำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ไว้แล้ว ให้ใช้แนวเขต น.ส.ล.ที่มีพื้นที่ใหญ่กว่าเป็นหลัก 11.แนวเขตที่ดินของรัฐ ที่มีการกำหนดโดยใช้แนวธรรมชาติ หรือแนวเขตตามสิ่งก่อสร้างให้ใช้แนวธรรมชาติหรือสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏลวดลายในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียม ปีที่กำหนดแนวเขต หรือให้ใช้แผนที่ภาพถ่ายฯ ครั้งแรกภายหลังจากการกำหนดแนวเขต             

12.กรณีที่มีหน่วยงานของรัฐไม่สามารถหาข้อยุติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ให้สรุปเรื่องราวพร้อมรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด หรือกทม.สรุปเรื่องพร้อมรายละเอียดส่งต่อคณะอนุกรรมการระดับภาคพิจารณาต่อไป 13.ให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดรวบรวมข้อมูลระวาง แผนที่ของกรมที่ดินที่มีการรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร ป่าชายเลน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้น สำหรับใช้ในการดำเนินการภายหลัง

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: