เตรียมปฏิรูปจ่ายยาปฏิชีวนะ แก้ปัญหาเชื้อดื้อยา

7 ก.ค. 2559 | อ่านแล้ว 2966 ครั้ง


	เตรียมปฏิรูปจ่ายยาปฏิชีวนะ แก้ปัญหาเชื้อดื้อยา

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุหลายประเทศต้องให้ห้องแล็บตรวจยืนยันเสียก่อนว่าผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียจริงถึงจะจ่ายยาปฏิชีวนะให้ ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาก็จะน้อย โดยร่างยุทธศาสตร์เชื้อดื้อยา พ.ศ.2560-2564 จะผลักดันให้ห้องแล็บของโรงพยาบาลและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจยืนยันเชื้อแบคทีเรียก่อนแพทย์จึงจ่ายยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรีย (ที่มาภาพประกอบ: greaterkashmir.com)

เว็บไซต์บ้านเมือง รายงานเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่า น.พ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงร่างยุทธศาสตร์เชื้อดื้อยา พ.ศ.2560-2564 ที่จะผลักดันให้ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ของโรงพยาบาลและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจยืนยันเชื้อแบคทีเรียก่อนแพทย์จึงจ่ายยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรีย ว่าแนวคิดดังกล่าวสามารถช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งในหลายๆ ประเทศก็ใช้แนวทางนี้ในการจ่ายยาปฏิชีวนะ คือต้องให้ห้องแล็บตรวจยืนยันเสียก่อนว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียจริง จึงจะจ่ายยาปฏิชีวนะ ทำให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะน้อย ปัญหาเชื้อดื้อยาก็จะน้อย เช่น ประเทศญี่ปุ่น โดยประเทศต่างๆ ที่ใช้แนวทางดังกล่าวมีข้อสัญญาว่า ภายในปี 2020 กลุ่มประเทศที่เจริญแล้วต่างให้ข้อสัญญาว่าจะไม่จ่ายยาฆ่าเชื้อโรค ถ้าไม่สามารถตรวจยืนยันได้ว่าเป็นเชื้ออะไร

“สำหรับประเทศไทยถือว่ามีอิสระเสรีในการจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยามาก แม้แต่ประเทศจีนยังมีการควบคุมการจ่ายยาปฏิชีวนะมากกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม มาตรการตรวจเชื้อที่ห้องแล็บนั้นทุกโรงพยาบาลมีการดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่ที่แพทย์ไม่รอผลตรวจยืนยันก่อนจ่ายยานั้น สาเหตุหนึ่งเพราะกลัวคนไข้กลับบ้านไปก่อน และผลตรวจยังช้าอาจไม่ทันการณ์ จึงให้ยาไปก่อน ทั้งที่จะใช่หรือไม่ใช่ก็ยังไม่ทราบ แต่คาดเดาจากอาการแล้วให้ยาไปก่อน แล้วค่อยรอผลตรวจยืนยันภายหลัง” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

น.พ.อภิชัย กล่าวว่าเรื่องนี้แพทย์อาจไม่ค่อยอยากทำ เพราะเป็นการจำกัดสิทธิในการใช้ยา แต่หาก สธ.เห็นความสำคัญของเชื้อดื้อยาก็ต้องออกมาเป็นมาตรการควบคุมว่าห้ามจ่ายยาปฏิชีวนะจนกว่าจะมีผลตรวจยืนยันที่ชัดเจน แต่ปัญหาคือจะต้องพัฒนาห้องแล็บให้ตรวจได้รวดเร็วขึ้นและแม่นยำขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจากการทดสอบความชำนาญในการตรวจเชื้อดื้อยาใน รพ.จังหวัด พบว่า ยังไม่แม่นยำเท่าที่ควร และเชื้อบางตัวที่มีความยากยังใช้เวลานานในการตรวจ เช่น 2-7 วัน หรือต้องส่งมาให้กรมวิทย์ตรวจ จึงต้องมีการพัฒนาตรงนี้ด้วย โดยกรมวิทย์ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาขององค์การนามัยโลกก็จะช่วยพัฒนา เพราะศักยภาพของกรมฯ สามารถตรวจได้ภายใน 2-3 นาที ก็จะถ่ายทอดประสบการณ์ฐานข้อมูลนี้ให้แก่ รพ.ทั่วประเทศให้ตรวจเชื้อได้เร็วขึ้น แพทย์ไม่ต้องเดาว่าต้องใช้ยาอะไร แต่อยู่ที่ว่า รพ.จะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้หรือไม่ที่จะลงทุนในการพัฒนาห้องแล็บ โดยเบื้องต้นมองว่า รพ.จังหวัดหลายแห่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: