เปิดข้อมูลรายจ่ายการศึกษาชาติ  งบบริหารโป่ง-ลงทุนสูง-ประสิทธิภาพต่ำ

ปรัชวินทร์ สมศักดิ์ : TCIJ School รุ่น 3 : 5 ส.ค. 2559 | อ่านแล้ว 4642 ครั้ง

ประเทศไทยลงทุนเพื่อการศึกษาเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศกานา และในแต่ละปีมีการเพิ่มงบประมาณอย่างก้าวกระโดดถึง 7% ต่อปี แต่กลับไม่มีสิ่งชี้วัดว่างบประมาณที่จัดสรรไปนั้น ตรงตามเป้าหมายเพื่อยกระดับการเรียนรู้ของเด็ก-เยาวชนเพียงใด  คำตอบอาจอยู่ที่บัญชีรายจ่ายการศึกษาแห่งชาติ ที่ปรากฎงบพัฒนาผู้เรียนเพียง 2.4% ในขณะที่งบด้านค่าจ้าง-เงินเดือนคือ 55.61 % (ที่มาภาพประกอบ: eduzones.com)

บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ( National  Education  Account of  Thailand : NEA ) เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินผล โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้ให้ศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติมาตั้งแต่ ปี 2551 ถึง 2556  ทั้งนี้ NEA เป็นกรอบสำหรับการวัดรายจ่ายด้านการศึกษาจากทุกแหล่งในประเทศ ทั้งส่วนที่เป็นงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล และส่วนท้องถิ่น รายจ่ายจากภาคธุรกิจเอกชน ครัวเรือน และองค์กรไม่แสวงหากำไร 

ที่มา : บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National  Education  Account of  Thailand : NEA)

รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญสวัสดิ์สุทธ์ หัวหน้าทีมวิจัยเปิดเผยว่า เบื้องต้น ผลการศึกษารายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2551-2556 พบว่า รายจ่ายรวมด้านการศึกษาของไทยอยู่ในระดับที่สูงมาก รวมรายจ่ายจากทุกแหล่ง คิดเป็นมูลค่าถึงกว่า 805,239 ล้านบาท ในปี 2556 ตัวเลขนี้สูงกว่างบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ เกือบเท่าตัว   รายจ่ายด้านการศึกษาของไทยเพิ่มสูงขึ้นมาตลอด จากตัวเลข 5.6 แสนล้านบาทในปี 2551 เพิ่มมาเป็นกว่า 8แสนล้านในปี 2556 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปการศึกษาของไทยเมื่อปี 2542 ซึ่งเป็นผลให้มีการลงทุนด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาครัฐลงทุนในสัดส่วนที่สูงสุดมาโดยตลอด ขณะที่ภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคมได้มีการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษามากขึ้นเช่นเดียวกัน

เฉลี่ยแล้วประเทศไทย มีรายจ่ายด้านการศึกษาในระดับกว่า 6% ของจีดีพีมาโดยตลอด  ปี 2556 อยู่ที่ 6.42%  ในจำนวนนี้เป็นส่วนที่ใช้จ่ายโดยรัฐบาลและส่วนท้องถิ่นราว 5% และเป็นรายจ่ายด้านการศึกษาภาครัฐถึง 80.25%  หรือประมาณ 6.4 แสนล้านบาท  และยังพบว่า รายจ่ายด้านการศึกษาไทยถูกใช้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมากสุด ปี 2556 การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้เงินสูงถึง 5.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 71% และ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดในอัตราเฉลี่ยต่อปี 7.4% ขณะที่จำนวนนักเรียนลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 13.1ล้านคนในปี 2551 เหลือ 12.4 ล้านคนในปี 2556 เฉลี่ยลดปีละเกือบ 2 แสนคน

ที่มา : บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National  Education  Account of  Thailand : NEA)

รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยถือว่าลงทุนด้านการศึกษาในระดับสูง แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ไม่ว่าด้านคุณภาพโดยเฉลี่ยที่วัดจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หรือผลการประเมิน ทั้งในและระหว่างประเทศ คุณภาพการจัดการศึกษาที่ยังแตกต่างกันมากระหว่างเมืองและชนบท  และแตกต่างกันในภาคต่างๆ ด้วย ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาของนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน การผลิตบัณฑิตที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เป็นต้น  ปัญหาเหล่านี้สะท้อนว่า นโยบายด้านการเงินเพื่อการศึกษาที่ดำเนินมาตั้งแต่การปฏิรูปการศึกษา ปี 2542 ไม่สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบทรัพยากร และการเงินเพื่อการศึกษา

 “NEA ทำให้เราเห็นภาพรวมของรายจ่ายด้านการศึกษาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เมื่อมีปัญหาคุณภาพการศึกษาตกต่ำ ก็มักจะมีคนพูดว่าต้องการเงินเพิ่มเพื่อไปแก้ไขปัญหาคุณภาพ แต่ NEA แสดงให้เห็นว่าไม่ได้สำคัญเฉพาะตัวเงิน แต่สำคัญที่วิธีการใช้เงินด้วย บางครั้งเงินก็ถูกใช้ไปอย่างสูญเปล่า บางทีก็ไปไม่ถึงโรงเรียน นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าการใช้จ่ายเงินของโรงเรียนเอกชนมีประสิทธิภาพมากกว่าโรงเรียนของรัฐ”  รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว

จากแผนภาพดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษาถึงกว่า 8 แสนล้านบาท เป็นจำนวนเงินที่มากสำหรับประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย และเป็นสัดส่วนถึง 20% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดและเงินงบประมาณที่ลงไปที่โรงเรียนมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม OECD ด้วยกัน  แต่ประเทศไทยก็ยังมีปัญหาคุณภาพการศึกษา ซึ่งเราจะต้องมาตรวจสอบหาว่าจุดรั่ว หรือจุดอ่อนว่าอยู่ตรงไหน เพื่อวิเคราะห์ว่าเราใช้จ่ายงบประมาณอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งข้อมูลจากการวิจัย ’บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ’ ( National  Education  Account of  Thailand : NEA ) พบว่างบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้จ่ายไปเป็นงบสนับสนุนการจัดการศึกษา ในส่วนของเงินเดือน และ ค่าจ้างครู ถึง 55.61% ในขณะที่งบพัฒนาผู้เรียนมีเพียง 2.41% เท่านั้น

ข้อมูลสำคัญจากการวิจัยดังกล่าว นำมาสู่บทสรุปว่า ประเทศไทยลงทุนเพื่อการศึกษาไม่น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับจีดีพี และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนา (OECD) แต่จำนวนเงินที่จัดสรรไปของไทยได้คุณภาพการศึกษาต่ำกว่า โดยดัชนีการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ (HDI) ขององค์การสหประชาชาติ จัดให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 93  ขณะเดียวกันการใช้จ่ายด้านการศึกษาของไทยยังเพิ่มขึ้นทุกปีกว่า 20 % ของงบประมาณประจำปี

 รศ.ดร.ชัยยุทธ เสนอแนะว่า ต้องเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายให้มากขึ้น และกระจายอำนาจบริหาร การศึกษาให้แก่สถานศึกษาเขตพื้นที่การศึกษา หรือท้องถิ่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  ขณะเดียวกันต้องมุ่งเน้นอุดหนุนเฉพาะกลุ่มที่ด้อยโอกาส เพื่อใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า สร้างความเสมอภาค และเป็นธรรม เพิ่มโอกาสทางการศึกษา และลดการออกกลางคันของเยาวชน

การจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาตินี้ ได้รับการขานรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดร.ปิยะนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาฐานข้อมูล และตัวชี้วัดภาวะสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ย้ำว่า การจัดทำบัญชีรายจ่ายฯ ต้องจัดทำข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และต้องนำข้อมูลมาเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ขณะที่ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สพฐ. ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาการใช้จ่ายด้านการศึกษาของไทยไม่มีใครตอบได้ว่านำไปทำอะไร และอย่างไร เพราะไม่มีการรวบรวมและจัดทำเป็นบัญชีรายจ่าย  ทั้งที่การจัดทำบัญชีรายจ่ายฯ จะเป็นเงื่อนไขให้การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จได้ด้วย นอกเหนือจากการกระจายอำนาจ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม และปรับปรุงแก้ไขระบบที่ไม่เอื้ออำนวย

อ่าน 'จับตา': “งบประมาณด้านการศึกษา ตามร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2560"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6341

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: