ส่องเหรียญอีกด้าน 'นักท่องเที่ยวจีน' ฤามีอะไร ? มากกว่าการเป็น 'ตัวร้าย'

ทีมข่าว TCIJ : 3 เม.ย. 2559 | อ่านแล้ว 4190 ครั้ง

หากอยากเป็นประเทศที่ทำรายได้มหาศาลจากธุรกิจท่องเที่ยว คนไทยคงต้องเปิดใจ ใช้ข้อมูล ตัวเลข สถิติมากว่าอคติและความรับรู้จากโซเชียลมีเดียที่หยิบจับด้านเลวร้ายของนักท่องเที่ยวจีนมาขยายความจนเกินจริง จากข้อมูลของหลายแหล่ง พบภาพรวมคุณภาพการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีนสูงขึ้น โดยการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 4,425 บาท ในปี 53 เป็น 5,748 บาท ในปี 2558 และปี 2557 พบใช้จ่ายเฉลี่ยในเมืองไทยสูงกว่านักท่องเที่ยวจากยุโรป-อเมริกา ส่วนปี 2559 นี้คาดนักท่องเที่ยวจีนจะทะลักไทยถึงหลักสิบล้านคน พบปัญหาบุคลากรด้านท่องเที่ยวไทยไม่พอ-นายทุนจีนแห่ตามมาเปิดธุรกิจรองรับด้วย ที่มาภาพประกอบ: scmp.com

“ส่งเสียงดัง เอะอะ โวยวาย ไร้ระเบียบ แซงคิว แย่งกันกิน เอาเท้าไปแกว่งในอ่างล้างหน้า ขากถุย ขับถ่ายไม่เลือกที่ ขับรถมาเองขับขี่อันตราย ขี้เหนียว จับจ่ายใช้สอยน้อย ยึดประเทศไทย ฯลฯ”

ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนที่ทะลักเข้าไทย ถูกฉายภาพในแง่ลบและเปี่ยมไปด้วยอคติตามสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทั้งด้านมารยาทและการประพฤติตัวที่ดูไม่เข้ากับวัฒธรรมอันดีของไทย หลายภาพ-ข่าวเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวจีนนั้นเกินเลยไปถึงขั้นการเหยียดหยามเชื้อชาติ และหลายภาพ-ข่าวได้รับการพิสูจน์ในภายหลังว่าไม่ใช่ฝีมือนักท่องเที่ยวจีน

TCIJ จึงชวนเปิดมุมมองส่องเหรียญอีกด้านของนักท่องเที่ยวจีน

นักท่องเที่ยวจีนกับเศรษฐกิจไทย

จากบทวิเคราะห์ ‘นักท่องเที่ยวจีนยังแกร่ง แม้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว’ โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ออกมาในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา ระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 2559 จะเติบโตต่อเนื่องได้อีกจากปี 2558 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยายตัวราวร้อยละ 9 นำโดยนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งมีการใช้จ่ายต่อหัวสูงขึ้นมาก ในปีที่ 2558 ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติสร้างรายได้ให้กับไทยมากถึง 2.23 ล้านล้านบาท จากปริมาณที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 29.8 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีจำนวนมากถึง 7.9 ล้านคน หรือเติบโตร้อยละ 71 จากปี 2557 ทั้งนี้ ในปี 2559 คาดว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวจะยังคงเติบโตได้ดีจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากคุณภาพการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีนสูงขึ้น โดยการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 4,425 บาท ในปี 2553 เป็น 5,748 บาท ในปี 2558 (ส่วนตัวเลขของกลุ่มสถิติและเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว อยู่ที่  5,747.95 บาท) และแม้มีการคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง แต่จะไม่กระทบจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาไทย เนื่องจากไทยยังมีจุดแข็งในด้านราคา

ซึ่งในปี 2558 ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่าไทยถือเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามามากที่สุดในโลก ทั้งนี้ เดินทางเข้ามาไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา เป็นไปตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ของชาวจีนที่ขยายตัวสูงตามเศรษฐกิจที่เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11 ต่อปีในช่วงปี 2552-2557  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลง และเงินหยวนมีทิศทางอ่อนค่าลง รวมไปถึงการลดลงอย่างรุนแรงของตลาดหลักทรัพย์ในจีน ได้สร้างความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาไทย  อย่างไรก็ดี หากมองถึงรายได้ต่อหัวของชาวจีนที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และจำนวนผู้มีรายได้ปานกลางในจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของชาวจีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้จ่ายได้อยู่มาก และเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไทยที่ไม่ได้แพงนักและเพิ่มขึ้นในอัตราช้ากว่ารายได้  ดังนั้น การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงแต่ยังเติบโตในระดับสูงราวร้อยละ 6-7 จึงจะไม่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนมาไทยลดลง  ในทางกลับกัน อาจจะได้ประโยชน์จากการที่ผู้มีรายได้สูงได้รับผลกระทบจากราคาหลักทรัพย์ที่ลดลงและหันมาท่องเที่ยวในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายถูกลงอีกด้วย

สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ "เทศกาลตรุษจีนหนุนชาวจีนเที่ยวไทยไตรมาส 1 ปี 2559 เติบโตร้อยละ 18.4 YoY... ปรับกลยุทธ์รุกตลาด FIT และกลุ่ม Revisit"  ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าชาวจีนเป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและส่วนใหญ่จะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลต่างๆ ตลอดทั้งปี โดยชาวจีนนิยมเดินทางท่องเที่ยวอย่างคึกคักในช่วงเทศกาลตรุษจีน (ที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันถึง 10 วัน) ซึ่งเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการเติบโตของตลาดชาวจีนเที่ยวไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี จึงเป็นช่วงนาทีทองสำหรับธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง ที่ต่างงัดกลยุทธ์ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อเพิ่มยอดขายในระยะนี้  และ “ประเทศไทย” คือปลายทางยอดนิยมของตลาดกรุ๊ปทัวร์จีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2559 โดยคาดว่าจะมีชาวจีนกว่า 3 แสนคนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ และหนุนให้ตลาดจีนเที่ยวไทยเติบโตที่ร้อยละ 18.4 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 ในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ชาวจีนส่วนใหญ่เป็นการเดินทางไปท่องเที่ยวกับสมาชิกในครอบครัว โดยมีชาวจีนจำนวนไม่น้อยเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ  จากการสำรวจของเว็บไซต์ Ctrip.com ระบุว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ในปี 2559 ชาวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์  โดยแบ่งเป็นตลาดที่เดินทางท่องเที่ยวกับกรุ๊ปทัวร์มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 50.4 และกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวเองหรือตลาด FIT (Foreign Independent Traveler) คิดเป็นร้อยละ 49.6 ของตลาดชาวจีนเที่ยวต่างประเทศทั้งหมดในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้

ด้านสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยในปี 2559 นี้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ซึ่งถือว่าอาจจะเป็นสถิติใหม่สูงสุดของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเลยทีเดียว

นักท่องเที่ยวจีนจับจ่ายใช้สอยน้อยจริงหรือไม่?

ส่วนมุมมองที่ว่า นักท่องเที่ยวจีนจับจ่ายใช้เงินน้อยนั้น  พบว่ามาจาก ‘ความรู้สึก’ และการตัดสินนักท่องเที่ยวจีนแบบปากต่อปากหรือด้านลบจากโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่านักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ และหากจะนำข้อมูลมาวัดเรื่องการจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ  จากข้อมูลที่เก็บเป็นระบบจากกลุ่มสถิติและเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว พบว่าข้อมูล ณ ปี 2558 พบว่านักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวในไทย 7,934,791 คน ถือว่ามากที่สุดในปีนั้น และจับจ่ายใช้สอยเฉลี่ย 5,747.95 บาท บาทต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นอันดับที่ 6 จาก 10 ชาติที่จับจ่ายใช้สอยมากที่สุดในไทย ซึ่งประกอบด้วยประเทศ 1) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 6,355.71 บาท 2) คูเวต 6,227.66 บาท 3) ซาอุดิอาระเบีย 6,223.70 บาท 4) ฮ่องกง 6,131.13 บาท 5) สิงคโปร์ 6,001.02 บาท 6) จีน 5,747.95 บาท 7) อียิปต์ 5,739.65 บาท 8) อินเดีย 5,645.95 บาท 9) ออสเตรเลีย 5,587.14 บาท และ 10) บรูไน 5,578.45 บาท (อ่านเพิ่มเติม ‘จับตา: 10 อันดับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวไทยและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในไทยมากที่สุด’)

นอกจากนี้ข้อมูล ณ ปี 2557 เมื่อเทียบค่าเฉลี่ยการจับจ่ายใช้สอยในไทยของนักท่องเที่ยวจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 5,497.49 บาทต่อวัน  ยังมากกว่าค่าเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวจากประเทศยุโรปทุกประเทศรวมกันที่ 4,221.65 บาทต่อวัน, นักท่องเที่ยวจากทวีปอเมริกาเฉลี่ยที่ 4,833.91 บาทต่อวัน นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียนเฉลี่ยที่ 4,828.64 บาทต่อวัน, นักท่องเที่ยวจากจากเอเซียตะวันออกเฉลี่ยที่ 5,163.34 บาทต่อวัน และนักท่องเที่ยวจากแอฟริกาเฉลี่ยที่ 5,368.71 บาทต่อวัน ส่วนการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวจีนในไทยต่อวันนั้น เป็นรองเพียงนักท่องเที่ยวจากเอเชียใต้เฉลี่ยที่ 5,546.59 บาทต่อวัน นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางเฉลี่ยที่ 5,556.79 บาทต่อวัน และนักท่องเที่ยวจากโอเชียเนียเฉลี่ยที่ 5,591.79 บาทต่อวัน ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศที่จับจ่ายใช้สอยในประเทศไทยนั้นอยู่ที่ 4,808.92 บาทต่อวัน ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนก็ยังใช้จ่ายมากกว่าค่าเฉลี่ยนี้ถึง 688.57 บาท

ส่วนในรายงานผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs ในจังหวัดเชียงใหม่จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน ของศูนย์เตือนภัยธุรกิจ ภาคเหนือ (Business Warning Center: BWC) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สำรวจภาคธุรกิจ 300 แห่งใน จ.เชียงใหม่ ช่วงเดือน ก.ย. ปี  2557 พบว่าการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในระดับมาก ซึ่งหมายถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น โดยกิจการ SMEs ในเชียงใหม่ร้อยละ 58 มีการขายสินค้าและให้บริการแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งกิจการส่วนใหญ่นั้น เป็นกิจการที่อยู่ในประเภทอุตสาหกรรมการให้บริการเป็นหลัก จากการสำรวจพบว่า หมวดธุรกิจให้บริการอาหารและเครื่องดื่มและหมวดธุรกิจที่พักแรมสำหรับนักท่องเที่ยวมีการขายสินค้าและให้บริการแก่นักท่องเที่ยวจีนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 73 และ 95 ตามลำดับ และกิจการ SMEs ส่วนใหญ่มีสัดส่วนจำนวนลูกค้านักท่องเที่ยวจีน ประมาณร้อยละ 10 ของลูกค้าทั้งหมด และเมื่อสอบถามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในช่วงปี 2556-2557 พบว่า กิจการส่วนใหญ่มีลูกค้าชาวจีนเพิ่มมากขึ้นประมาณ ร้อยละ 10 – 20 มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 60 ส่งผลให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 10  มากที่สุ คิดเป็นร้อยละ 57.80 โดยธุรกิจที่พักแรมสำหรับนักท่องเที่ยวมีรายได้เพิ่มขึ้นมากที่สุดโดยร้อยละ 16 ระบุว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวจีนมากกว่าร้อยละ 50  โดยภาพรวมแล้วผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอยู่ในระดับมาก ในขณะที่ผลกระทบด้านสังคมอยู่ในระดับน้อย การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ในทิศทางที่ดี เนื่องจากทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้และกำไรเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ พบว่าแนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนที่มีศักยภาพสูงจะมาเที่ยวในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่กำลังชะลอตัว ทำให้นักท่องเที่ยวศักยภาพสูงเหล่านี้เปลี่ยนปลายทางการท่องเที่ยวจากประเทศแถบยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น มายังประเทศไทย ซึ่งข้อมูลจากรายงานขั้นสุดท้าย (Final Report) โครงการศึกษาตลาดนักท่องเที่ยวศักยภาพสูง จีน อินเดีย รัสเซีย ของ In-Touch Research & Consultancy ที่นำเสนอต่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เมื่อปี 2557  พบว่านักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงชาวจีนมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปค่อนข้างมาก พิจารณาได้จากนักท่องเที่ยวศักยภาพสูงส่วนใหญ่มีรายได้ตั้งแต่ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีขึ้นไป (ร้อยละ 83.67 มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 20,000-59,999 ดอลลาร์สหรัฐ และร้อยละ 14.57 มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยตั้งแต่ 60,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีขึ้นไป) ขณะที่ส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยวทั่วไปมีรายได้น้อยกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ร้อยละ 63.26 มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 20,000-59,999 ดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 35.78 มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยน้อยกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยมีเพียงร้อยละ 1.37 เท่านั้น ที่มีรายได้ตั้งแต่ 60,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีขึ้นไป)

‘ช็อก บ่น ก่นด่า และปรับตัว’ ประสบการณ์ ‘เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์’ และ ‘ร่องขุ่นโมเดล’

ในบทสัมภาษณ์ "นักท่องเที่ยวจีนไม่ผิด มึงต่างหากที่ไม่พร้อม" เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2559 ‘เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์’ ศิลปินผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นักท่องเที่ยวจีนต่อสารธารณะเป็นคนแรก ๆ ได้เปิดเผยถึงการปรับตัวของตัวเขาเองและวัดร่องขุ่น ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ที่นักเที่ยวจีนอยากมาเยือน โดยเฉลิมชัยได้ให้ข้อคิดไว้ว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนนั้น ผู้ประกอบการและสถานที่ท่องเที่ยวของไทยต้องลงมือปรับปรุงตัวเองก่อน ทั้งความพร้อมของบุคลากร ด้านการสื่อสาร ข้อบังคับระเบียบวินัยต่าง ๆ ต้องเข้มงวด รวมถึงตัวแปรที่สำคัญนั่นก็คือ ‘ไกด์’ ที่มากับนักนักท่องเที่ยวจีนที่ต้องให้ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในเรื่องวัฒนธรรมและมารยาทแก่นักท่องเที่ยวจีนก่อนเป็นอันดับแรก

“เราปฏิเสธคนจีนไม่ได้ เราจะด่านักท่องเที่ยวจีนไปตลอดไม่ได้ เพราะยังไงเขาก็เข้ามา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเราเอง” เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กล่าว ( อ่านเพิ่มเติม:  "นักท่องเที่ยวจีนไม่ผิด มึงต่างหากที่ไม่พร้อม" เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์)


ปัญหามีจริง

นอกเหนือจากเรื่องมารยาททางสังคมและความแตกต่างทางวัฒนธรรมแล้ว ปัญหาจากการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนก็มีอีกมาก ดังเช่น อันดับแรก พบว่าไทยกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการท่องเที่ยวไทย-จีน โดยสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือน มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา เพื่อขอความช่วยเหลือให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวทัวร์จีน ที่ขาดแคลนมัคคุเทศก์ภาษาจีน ทั้งนี้การขาดแคลนมัคคุเทศน์ภาษาจีน ในการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยผู้ประกอบการต้องเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย ด้วยการใช้มัคคุเทศก์ที่ไม่มีใบอนุญาต จึงขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือ  ส่วนปัญหาที่ผู้ประกอบการได้รับจากการขายสินค้าหรือให้บริการแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน ส่วนใหญ่นั้นก็ได้แก่ภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งลูกค้าชาวจีนไม่เข้าใจมารยาทและวัฒนธรรมของไทย

นอกจากนี้  ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่าจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เติบโตทำให้มีนักลงทุนจีนสนใจลงทุนในธุรกิจบริการในไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบริการของไทยเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาไทยเป็นจำนวนมากกลายเป็นปัจจัยดึงดูดให้มีนักลงทุนจีนเข้ามาทำธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับชาวจีนด้วยกันมากขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ FDI ในภาคธุรกิจบริการที่มีนักลงทุนจากจีนและฮ่องกงหันมาลงทุนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยมีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารที่มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 20 และ 23 ตามลำดับ

โดยปัจจุบัน  นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเที่ยวผ่านบริษัททัวร์เป็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 44  ทำให้นักท่องเที่ยวเหล่านี้จำเป็น ต้องเที่ยวตามโปรแกรมที่บริษัททัวร์จัดไว้ รวมถึงการใช้บริการตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งร้านขายของที่ระลึกตามที่บริษัททัวร์กำหนด ทำให้รายได้ในส่วนนี้อาจจะไม่กระจายไปถึงผู้ประกอบการไทยเมื่อนักลงทุนจีนมาลงทุนในธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น โดยธุรกิจที่คาดว่ามีโอกาสทำเงินรั่วไหลออกจากประเทศนั้นมีตั้งแต่ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้าปลีกค้าส่งที่ขายของให้ชาวจีน ซึ่งแต่ละปีนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมากับทัวร์มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหาร และ ช้อปปิ้งมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ในขณะที่นักท่องเที่ยวรัสเซียส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเองถึงร้อยละ 74 ส่งผลให้เกิดมีข้อจำกัดในการท่องเที่ยวและใช้บริการธุรกิจท่องเที่ยวในไทยไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ ยังรวมถึงปัญหา ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ อีกด้วย

ทัวร์ศูนย์เหรียญ

ที่มาภาพ: 20min.ch

จากรายงาน “Taking Off Travel and Tourism in China and Beyond” ของ The Boston Consulting Group ที่เผยแพร่เมื่อ มี.ค. 2554 ได้แบ่งนักท่องเที่ยวจีนเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 นักท่องเที่ยวที่ขาดประสบการณ์ท่องเที่ยว มักไม่ต้องการหาข้อมูลท่องเที่ยวมากและขาดทักษะภาษา ทำให้นิยมเดินทางมากับคณะทัวร์ (Group tour) แบบจัดตารางกิจกรรมเต็มวัน (Full Schedule) ซึ่งสะดวกและค่าใช้จ่ายต่ำกว่า กลุ่มที่ 2 นักท่องเที่ยวที่มีประสบการณ์ มักเน้นหาประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบเจาะลึกมากขึ้นและหาสถานที่ผ่อนคลาย ส่วนใหญ่จะวางแผนท่องเที่ยวด้วยตนเอง โดยหาข้อมูลออนไลน์ แต่ยังมีบางส่วนที่จองแพคเกจทัวร์อยู่บ้าง กลุ่มที่ 3 นักท่องเที่ยวที่มีประสบการณ์และรายได้สูง เน้นการชอปปิ้ง ที่พักและสถานบันเทิงหรูหรา โดยส่วนใหญ่จะวางแผนโดยหาข้อมูลออนไลน์หรือจองแพคเกจทัวร์แบบพรีเมี่ยม  โดยการเดินทางแบบคณะทัวร์ของนักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ประเภทแรก Tour Fare ปกตินักท่องเที่ยวจะซื้อแพคเกจทัวร์ จากบริษัททัวร์จีน (China’s outbound top operators, OTOs) ที่รวมค่าโดยสาร ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าทัวร์ และอื่นๆ แล้วหลังจากนั้นจะส่งต่อนักท่องเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยวในประเทศปลายทาง (Inbound tour operator, ITOs) และไกด์นำเที่ยวอีกทอด เพื่อนำนักท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ โดยบริษัททัวร์จีนจะแบ่งกำไรให้บริษัทนำเที่ยวในประเทศปลายทาง

ส่วนประเภทที่สอง "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" (Zero Dollar Tour) จากจีน นักท่องเที่ยวจะจ่ายค่า Tour Fare ในระดับต่ำเกือบเท่าต้นทุนรวมของทัวร์แก่บริษัททัวร์จีน หลังจากนั้นบริษัททัวร์จีนจะส่งต่อนักท่องเที่ยวให้แก่บริษัทนำเที่ยวในไทยโดยไม่ได้แบ่งกำไรให้แก่บริษัทไทยและไกด์ทัวร์ที่มักเป็นไกด์ผี จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘Zero Dollar Tour’ เมื่อบริษัทนำเที่ยวในประเทศปลายทางและไกด์ทัวร์ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ทำให้ต้องจัดบริการเสริมเพื่อหารายได้จากค่านายหน้า (Commission) อาทิ การพานักท่องเที่ยวไปชอปปิ้งแล้วโก่งราคาสินค้าสูงกว่าปกติ บังคับให้นักท่องเที่ยวซื้อโปรแกรมทัวร์เสริม (Option Tour) ในราคาแพงมาก เป็นต้น ดังนั้นโดยรวมนักท่องเที่ยวประเภททัวร์ศูนย์เหรียญอาจจะจ่ายค่าทริปเที่ยวไทยสูงกว่าทัวร์แบบปกติ โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 2 ส่วนคือ Tour Fare และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นอกจากทัวร์ศูนย์เหรียญข้างต้นแล้ว ยังมีทัวร์อีกรูปแบบที่คล้ายกันเรียกว่า ทัวร์ติดลบ ซึ่งบริษัททัวร์ประเทศปลายทางต้องจ่ายเงินค่าหัวนักท่องเที่ยวหรือเรียกว่า ‘Kick Back’ หรือ KB เพื่อให้บริษัททัวร์จีนในการหาลูกทัวร์ให้ในปริมาณมาก โดยไกด์ทัวร์และบริษัททัวร์ประเทศปลายทางจะหารายได้จากค่าคอมมิชชั่นในบริการเสริมแอบแฝงต่าง ๆ เช่นเดียวกัน

สำหรับการแก้ไขปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญของไทย ล่าสุดเมื่อปลายเดือน มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ออกมาเปิดเผยว่าจะเร่งผลักดันให้พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยว ฉบับปรับปรุง โดยการตั้งราคากลางแพ็กเกจทัวร์ต่างชาติเที่ยวไทยเน้นการห้ามทัวร์ขายต่ำกว่าต้นทุน เพื่อแก้ไขปัญหาธุรกิจทัวร์จำหน่ายทัวร์ต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งเป็นที่มาของการทำทัวร์ศูนย์เหรียญ นอมินี ฯลฯ ตามมา โดยจะนำร่องแก้ไขปัญหาตลาดจีนเป็นตลาดแรก วิธีการตั้งราคากลางดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานนักท่องเที่ยวจีนรวมถึงตลาดอื่น ๆ ที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยได้


ปรับตัวและรับมืออย่างไร?

ข้อแนะนำของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุไว้ว่าผู้ประกอบการไทยควรหากลยุทธ์การตลาดที่เข้าถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนได้มากขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและได้ประโยชน์จากตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ยังเติบโต  ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องติดตามเทรนด์ใหม่ ๆ ของชาวจีนและสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจตัวเองเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งและออกแบบสถานที่ เช่น นักท่องเที่ยวชาวจีนไม่นิยมโรงแรมและสถานที่ที่มีการออกแบบและตกแต่งสไตล์จีนมากนัก แต่ก็ยังต้องการสิ่งของอำนวยความสะดวกที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมจีน เช่น เครื่องต้มชากาแฟ  รวมถึง อ่างล้างหน้าแบบคู่ที่แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะต้องใช้เวลาให้คุ้มค่ามากที่สุด และภาครัฐควรมีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจท่องเที่ยวไทย รัฐบาลควรเข้ามาช่วยเหลือในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการด้านการท่องเที่ยวได้หลากหลายและง่ายขึ้น  รวมถึงการใช้สื่อต่าง ๆ ในการให้ข้อมูลและสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเที่ยวได้เอง ตลอดจนเข้มงวดขึ้นในการตรวจสอบการเข้ามาทำธุรกิจของชาวต่างประเทศ

ส่วนในรายงานผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs ในจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า แม้ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าตนเอง มีความพร้อมในการขายสินค้าและให้บริการแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน เนื่องจากมีสินค้าพร้อมที่จะจำหน่ายและมีบุคลากรที่ให้บริการอยู่แล้ว แต่เมื่อสอบถามลึกลงไปในระดับความพร้อมในแต่ละด้าน พบว่าระดับความพร้อมในการทำธุรกิจกับนักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่อยู่ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด เช่น ความรู้ทางด้านภาษาจีนของพนักงาน การจัดทำป้ายต่าง ๆ เป็นภาษาจีนในกิจการ การจัดทำเอกสารสำคัญเป็นภาษาจีน การอบรมพนักงานให้มีความพร้อมในการขายสินค้าหรือให้บริการแก่นักท่องเที่ยวจีน เป็นต้น  ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ในส่วนของภาครัฐนั้นควรจะมีมาตรการในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ในเรื่องการปฏิบัติตน เช่น การจัดทำเอกสารเผยแพร่สิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ (Do's and Don'ts) ในการท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นภาษาจีน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรง เช่น ธุรกิจให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจที่พักแรมสาหรับนักท่องเที่ยว ควรร่วมกันออกข้อกำหนดในการเข้าพักและใช้บริการของนักท่องเที่ยวชาวจีนไว้เป็นมาตรฐานเพื่อใช้ร่วมกัน

รวมทั้งประเด็นที่คนไทยพื้นถิ่นยังมีมุมมองว่าตนเองได้รับประโยชน์น้อยและถูกคุกคามจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนนั้น ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาดูแลและในการสร้างความเข้าใจและการสื่อสารให้กับทั้งสองฝ่าย ก่อนที่จะเกิดกระแสต่อต้านนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งอาจจะบานปลายไปเป็นปัญหาด้านการท่องเที่ยวและความสำพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคตได้

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
จับตา: 10 อันดับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวไทยและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในไทยมากที่สุด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: