เปิดปม PIA และ e-Tax Invoice ระบบใหม่อุดช่องทางเลี่ยงภาษีซื้อ-ขาย

ทีมข่าว TCIJ : 29 พ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 7781 ครั้ง

จากข้อมูลของกรมสรรพากรพบว่า ปัจจุบันยังมีผู้กระทำความผิดในการปลอมใบกำกับภาษีอยู่เนือง ๆ และมีการจับกุมได้หลายราย ซึ่งในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ฟ้องศาลต่อบริษัทที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอมนับ 1,000 ราย ทั้งนี้วิธีการหลีกเลี่ยงภาษีหลายรูปแบบ ทั้งการซื้อใบกำกับภาษีปลอม โดยไม่ได้ใช้บริการหรือซื้อสินค้าจริง หรือการขอซื้อใบกำกับภาษีจากร้านค้าหรือบริษัท ด้วยการจ่ายเงินเพียงบางส่วน เพื่อนำใบเสร็จไปใช้ประโยชน์ หรือการผลิตใบกำกับภาษีปลอม ตัวอย่างเช่น การจับกุมขบวนการปลอมใบกำกับภาษีครั้งใหญ่เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา กลุ่มแรกมีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) เพื่อแสดงยอดขายบังหน้าให้ดูสมจริงเป็นมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท กลุ่มที่ 2 มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) เพื่อแสดงยอดขายบังหน้าให้ดูสมจริงเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบใบกำกับภาษีเล่มเปล่าพร้อมออกขายอีกหลายหมื่นฉบับ ซึ่งหากไม่ถูกตรวจค้นและจับกุมได้ในครั้งนั้นก็จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอีกนับ 10,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

แม้จะมีกฎหมายที่ระบุความผิดและบทลงโทษไว้ชัดเจนสำหรับกรณีนี้ (อ่านเพิ่มเติมใน ‘จับตา : โทษและความรับผิดเกี่ยวกับ ‘ใบกำกับภาษีปลอม’) แต่กรมสรรพากรได้เปิดเผยว่า เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวอย่างเด็ดขาด จึงเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาออกกฎหมายฉบับใหม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สรรพากรจัดทำสำนวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด เพื่อส่งฟ้องต่ออัยการและฟ้องต่อศาลให้เอาผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา และยังมีอำนาจการยึดทรัพย์ผู้กระทำผิด เนื่องจากกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไม่ครอบคลุมในเรื่องดังกล่าว

สนช. เสนอ รัฐบาล ใช้ PIA และ e-Tax Invoice

ในช่วงเดือน พฤษภาคม 2558 คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา 'การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร กรณีศึกษา : โครงการการจัดเก็บภาษีจากข้อมูลทอดแรก’ (Primary Information Approach : PIA) และ’โครงการการจัดเก็บภาษีด้วยระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์’ (e-Tax Invoice) ต่อรัฐบาล

โดยคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่าได้ศึกษาสภาพปัญหาในการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มพบว่า เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไม่สามารถตรวจสอบยอดซื้อและยอดขายที่แท้จริงได้ ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายสาเหตุ เช่น บริษัทผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็ก ผู้ขายส่ง และผู้ขายปลีก จะออกใบกำกับภาษีขายและแจ้งยอดซื้อไม่ครบถ้วน และพบอีกว่า ผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษีปลอมทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ขายสินค้า และจะใช้ใบกำกับภาษีปลอมมาขอคืนภาษี

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะให้กรมสรรพากรดำเนินการ คือให้พัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างระบบการจัดเก็บภาษีอากรให้ทันสมัย มีมาตรฐาน และตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล โดยต้องวางแผนดำเนินการในภาพรวมทั้งระบบ พร้อมกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการแล้วเสร็จไว้ให้ชัดเจนและ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดเก็บภาษี ควรศึกษาถึงความเป็นไปได้และนำข้อที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ของ ‘การจัดเก็บภาษีด้วยการจัดเก็บภาษีจากข้อมูลทอดแรก’ (Primary Information Approach: PIA)  มาปรับใช้กับ ‘ระบบใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ ‘ (e-Tax Invoice และ e-Receipt)  โดยทั้ง 2 ระบบนั้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

การจัดเก็บภาษีจากข้อมูลทอดแรก (Primary Information Approach: PIA)

ปัญหาการจัดเก็บภาษีในปัจจุบัน พบว่าผู้เสียภาษีชำระภาษีไม่ครบถ้วน หากแบ่งเป็นทอด ๆ คือ ผู้ผลิตสินค้า - ผู้ขายส่ง - ผู้ค้าปลีกและผู้บริโภค ซึ่งปกติพบว่าผู้ผลิตและผู้นำเข้าที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่จะเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีขายทอดแรก ส่วนใหญ่แล้วจะออกใบกำกับภาษีครบถ้วน แต่ทอดต่อมาคือผู้ผลิตขนาดกลาง ขนาดเล็กและผู้ขายส่งรวมทั้งผู้ขายปลีก มักจะออกใบกำกับภาษีไม่ครบถ้วน ในขณะเดียวกันจะแจ้งยอดซื้อไม่ครบถ้วนในสัดส่วนเดียวกันด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่สรรพากรไม่สามารถตรวจสอบยอดซื้อ- ยอดขายที่แท้จริงได้

หนึ่งในแนวคิดที่จะนำมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้คือ  ‘การจัดเก็บภาษีจากข้อมูลทอดแรก’ (Primary Information Approach: PIA)  ซึ่งเสนอโดยนางสุพัตรา เปาอินทร์ อดีตสรรพากรกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธภาพการจัดเก็บภาษีจากข้อมูลทอดแรก โดยระบบ PIA นี้เป็นการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตรวจสอบการออกใบกำกับภาษีแบบ Cross Check  ระหว่างการขายแต่ละทอดเพื่อให้ผู้ขายทุกทอดแจ้งยอดขายและภาษีให้ครบถ้วน โดยเริ่มจากผู้ประกอบการทอดแรก คือ ผู้ผลิตและนำเข้า ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เสียภาษีทอดต่อ ๆ มา คือ ผู้ขายส่งและผู้ขายปลีก ต้องแจ้งยอดขายให้ครบถ้วนด้วย เพราะยอดขายที่ครบถ้วนของผู้ผลิต คือ ยอดซื้อและยอดขายที่ครบถ้วนของผู้ขายส่ง ไล่เรียงกันเป็นทอด ๆ จนถึงผู้ขายปลีก

ซึ่งในด้านการดำเนินการนั้น สามารถดำเนินการโดยให้ผู้ประกอบการทอดแรก (ผู้ผลิตและผู้นำเข้า) นำส่งข้อมูลการขายสินค้าพร้อมการยื่นแบบ ภ.พ. 30 ซึ่งเป็นข้อมูลรูปแบบเดียวกับรายงานภาษีขาย แต่เพิ่มเลขประจำตัวผู้เสียภาษีหรือเลขประจำตัวประชาชนของผู้ซื้อโดยให้จัดทำเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลการขายสินค้าของผู้ประกอบการทอดแรก กับข้อมูลการซื้อสินค้าของผู้ประกอบการทอดที่สอง (ผู้ขายส่ง) ซึ่งจะทำให้ผู้เสียภาษีทอดที่สองและทอดต่อ ๆ มาต้องแจ้งยอดขายและเสียภาษีให้ครบถ้วน  

แผนผังระบบการจัดเก็บภาษีจากข้อมูลทอดแรก (Primary Information Approach: PIA)  [ที่มา: เอกสารประกอบการชี้แจงคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของ นางสุพัตรา เปาอินทร์ อดีตสรรพากรกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธภาพการจัดเก็บภาษีจากข้อมูลทอดแรก]

โดยการเสนอของนางสุพัตราระบุว่า ระยะแรกเสนอให้ใช้กับผู้ประกอบการทอดแรก (ผู้ผลิตและผู้นำเข้า) ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการในทอดต่อ ๆ มามีการแจ้งยอดซื้อขายครบถ้วนตามไปด้วย หากนำมาตรการนี้มาใช้ จะทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มได้ 15% หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท ลดปัญหาภาษีอากรคงค้าง และลดปัญหาการคืนภาษี คาดว่าจะนำมาใช้กับผู้ประกอบการทอดแรกที่มีในประเทศไทยประมาณ 4 หมื่นราย ใช้งบประมาณดำเนินการ 100 ล้านบาทในระยะเวลา 1 ปี แต่แนวคิดนี้ยังคงมีความเห็นต่างจากกรมสรรพากรที่ต้องการ.shบังคับใช้กับผู้ประกอบการทุกรายที่อยู่ในระบบบัญชี ซึ่งมีประมาณ 500,000 ราย โดยกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ 3 ปี ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท และกรมสรรพากรขออัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มอีก 2,000 คน

ทั้งนี้จะต้องออกกฎหมาย อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติใน ม.17(2) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้ประกอบการทอดแรก คือ ผู้ผลิตและผู้นำเข้า นำส่งข้อมูลการขายสินค้าพร้อมการยื่นแบบ ภ.พ. 30 ซึ่งเป็นข้อมูลรูปแบบเดียวกับรายงานภาษีขาย แต่เพิ่มเลขประจำตัวผู้เสียภาษีหรือเลขประจำตัวบัตรประชาชนของผู้ซื้อโดยให้จัดทำเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลการขายสินค้าของผู้ประกอบการทอดแรก กับข้อมูลการซื้อสินค้าของผู้ประกอบการทอดที่สอง (ผู้ขายส่ง) ซึ่งจะทำให้ผู้เสียภาษีทอดที่สองและทอดต่อ ๆ มาต้องแจ้งยอดขายและเสียภาษีให้ครบถ้วน

มาตรการผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการหากนำระบบ PIA มาใช้

ในการประชุมคณะกรรมการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร ครั้งที่ 4/2554 ที่ประชุมมีมติว่าไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากมีข้อสรุปว่าควรจะต้องดำเนินการ ถึงแม้การ ศึกษาผลกระทบจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม โดยคณะกรรมการฯ ได้ขอให้คณะทำงานเตรียมดำเนินการด้านต่าง ๆ ให้รอบคอบ เพื่อให้ไม่เกิดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากจนเกินไป ซึ่งจะกระทบต่อภาพพจน์ของกรมสรรพากร โดยคณะทำงาน เสนอแนวคิดและมาตรการผ่อนปรนให้แก่ผู้ประกอบการดังนี้

ยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง กรมสรรพากรควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการกำกับดูแลภาษีแบบเดินหน้าโดยจะไม่นำข้อมูล Primary Information ที่รวบรวมได้ไปใช้เทียบเคียง ในการติดตามจัดเก็บภาษีของปีที่ผ่านมาจากผู้ประกอบการทอดที่สอง เพราะมีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการทอดที่สองอาจจะแจ้งตัวเลขยอดซื้อต่ำกว่าความเป็นจริงในปีที่ผ่าน ๆ มา ก่อนนำระบบใหม่มาใช้ยันใบกำกับภาษีจากผู้ประกอบการทอดแรก ทั้งนี้เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการทอดแรกและทอดที่สองเข้าสู่ระบบ

ยกเว้นการตรวจสอบยันใบกำกับภาษีกับผู้ประกอบการทอดแรก เนื่องจากผู้ประกอบการทอดแรกได้ยื่นรายงานภาษีขาย (ข้อมูล Primary Information) ในรูปแบบสื่อ Electronic ต่อกรมสรรพากรแล้ว จึงควรยกเว้นการตรวจสอบยันใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการทอดแรกในสถานประกอบการ ซึ่งถือว่าเป็นการผ่อนปรนและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทั้งในเรื่องการเก็บเอกสาร เพื่อรอการตรวจสอบเป็นเวลา 5 ปี และลดภาระในการจัดเตรียมพนักงานรอรับการตรวจของเจ้าหน้าที่สรรพากร

การหักค่าเสื่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต้องจัดหาเพิ่ม กรณีผู้ประกอบการทอดแรกยังไม่ได้จัดทำรายงานภาษีขายด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือต้องพัฒนาระบบที่มีอยู่แล้ว กรมสรรพากรควรออกกฎหมายให้หักค่าเสื่อมราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ 100% ในปีแรกที่ซื้อมาใช้งาน ทั้งนี้เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการที่อาจจะเกิดขึ้น

การเร่งรัดการคืนภาษีให้ผู้ประกอบการทอดแรก ในปัจจุบันกระทรวงการคลังมีมาตรการสนับสนุนด้านการคืนภาษีทุกประเภทอย่างรวดเร็วอยู่แล้วสำหรับผู้เข้าสู่ระบบ PIA ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีความโปร่งใสและให้ความร่วมมือที่ดี กรมสรรพากรควรจะมีมาตรการพิเศษในการคืนภาษีทุกประเภทอย่างรวดเร็ว เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และอากรแสตมป์ แล้วแต่กรณี

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขที่กำหนดอาจจะมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ประกอบการที่มีความผิดปกติของการดำเนินการ เช่น ขาดทุนสุทธิมากกว่าทุนดำเนินการ มีการขาดทุนขั้นต้นหรือกำไรสุทธิต่อยอดขายต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ประกอบการกิจการเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีประวัติถูกตรวจสอบความผิดที่มีนัยสำคัญ เป็นต้น

แนวคิดการใช้ e-Tax Invoice และ e-Receipt

จากข้อมูลของกรมสรรพากร ระบุว่า การจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice และ e-Receipt) เกิดขึ้นจากการร้องขอจากผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) และผู้ที่ออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีเป็นจำนวนมากในปัจจุบันอยู่แล้ว ประกอบกับหน่วยงานต่างๆ เช่น คณะทำงานระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในระดับผู้ประกอบการ (ทอป.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยมีความประสงค์จะให้กรมสรรพากร ผลักดันให้มีการใช้ e-Tax Invoice และ e-Receipt  ทดแทนการใช้กระดาษ และคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา ในอดีตก็เคยให้กรมสรรพากรดำเนินการออกแบบ จัดทำมาตรฐานเอกสารสำคัญทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ที่ระบุว่ากรมสรรพากรควรมีการจัดทำระบบใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเช่นกัน  ทั้งนี้ในปี 2555 กรมสรรพากรได้เริ่มมีการนำระบบใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงิน มาใช้ในระบบจัดเก็บภาษีนี้บ้างแล้ว

ตัวอย่างใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (ที่มาภาพ: กรมสรรพากร)

(อนึ่ง ผู้เสียภาษีที่ประสงค์จะจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการจัดทำส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับ อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2555 (ฉบับที่ 1) (ฉบับที่ 2) และมีหน้าที่พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ได้ตามที่กฎหมายกำหนด ก่อนยื่นคำขอ บ.อ.01 สามารถสมัครได้ตามลิ้งค์นี้ คลิ๊ก )

นโยบาย ใช้ e-Tax Invoice และ e-Receipt  นี้จะลดเรื่องใบกำกับภาษีปลอม ที่ทำให้รัฐเสียรายได้ไปกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี การแจ้งเท็จเพื่อขอคืนภาษี โดยที่ผู้ประกอบการไม่ได้มีการขายสินค้าแต่ออกใบกำกับภาษีปลอมและนำใบกำกับภาษีดังกล่าวมาขอคืนภาษี (เป็นการที่ไม่มีการเสียภาษีให้แก่รัฐแต่กลับมีการมาขอคืนภาษีจากรัฐ) จากตัวอย่างการใช้ระบบ e-Tax Invoice ในเกาหลีใต้พบว่า สรรพากรของเกาหลีใต้สามารถตรวจพบการออกใบกำกับภาษีปลอมได้ทันทีที่มีการบันทึกรายการ ก่อนที่จะมีการยื่นแบบแสดงรายการ และภายหลังหลังจากที่มีการยื่นแบบแสดงรายการแล้ว กรมสรรพากรเกาหลียังสามารถตรวจสอบผู้ซื้อที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอมจากข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการจำนวนประมาณ 150,000 ล้านบาท นอกจากนี้ผู้ประกอบการในเกาหลีใต้ยังสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อผลิตกระดาษใบกำกับภาษีลงถึงประมาณ 27,000 ล้านบาท

โดยกรมสรรพากร ได้ระบุว่าการนำระบบ  e-Tax Invoice และ e-Receipt  มาใช้ในระบบจัดเก็บภาษี  จะดำเนินการจากกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งมีจำนวน 3,500 รายก่อน ซึ่งจะใช้เวลาในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ระบบดังกล่าวภายในระยะเวลา 5 ปี และในปัจจุบันกรมสรรพากรได้รับงบประมาณการดำเนินการ (ปี 2558-2559) จำนวน 50 ล้านบาท ในการพัฒนาระบบรับส่งข้อมูล (ปัจจุบัน ณ มกราคม 2558 พบมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 10 ราย) โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ประมาณ 10 ล้านใบ

กระทรวงการคลังระบุ อยู่ในช่วงดำเนินการ

ล่าสุดในเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ในการประชุม สนช. ได้มีการแจ้งรับทราบผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง สนช.  ในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของสรรพากรฯ นั้น โดยหนังสือที่แจ้งกลับมานั้นระบุว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 รับทราบข้อสังเกตและรายงานฉบับนี้แล้ว โดยส่งต่อไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อ จากนั้นกระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วได้มีการชี้แจงผลดำเนินการในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 โดยกระทรวงการคลังระบุว่า ข้อเสนอของโครงการจัดเก็บภาษีจากข้อมูลทอดแรก (PIA) ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการและได้นำมาปรับใช้กับระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรดำเนินการอยู่ มีรายละเอียดดังนี้

ในประเด็นการปรับปรุงรายงานภาษีขายโดยเพิ่มเลขประจำตัวผู้เสียภาษีหรือเลขประจำตัวประชาชนของผู้ซื้อ ในประเด็นนี้กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 199) เรื่อง กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 (8) แห่งประมวลรัษฎากรและ (ฉบับที่ 202) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายงานในรายงานการเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร รวมทั้งข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนไว้ในใบกำกับภาษี และลงรายการดังกล่าวในรายงานภาษีขายและรายงานภาษีซื้อ ทั้งนี้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นมา

ประเด็นการกำหนดให้ผู้ประกอบการทอดแรกจัดทำรายงานภาษีขายด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากรได้มีการศึกษาแล้วพบว่า อาจจะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กรมสรรพากรจึงได้ดำเนินการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการรับส่งข้อมูลตามโครงการจัดเก็บภาษีด้วยระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ โดยกรมสรรพากรได้รับงบประมาณในการดำเนินการระหว่างปีงบ ประมาณ 2558 และ 2559 และมีแนวทางการดำเนินการโดยจัดแบ่งผู้ประกอบการเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีข้อมูลจำนวนมาก และมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ซับซ้อนจะสามารถส่งข้อมูลโดยตรงจากเครื่องคอมพิวเตอร์หรือระบบปฏิบัติการเครือข่าย (Sever) มายังเครื่องคอมพิวเตอร์หรือระบบปฏิบัติการเครือข่ายของสรรพากรได้ กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบการขนาดกลางกลางและขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลไม่มาก จะสามารถใช้ระบบโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปในการจัดส่งข้อมูลมายังกรมสรรพากรโดยผ่านผู้ให้บริการ (Service Provider) ได้ และกลุ่มที่ 3 ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีข้อมูลจำนวนไม่มาก และมิได้มีการใช้โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป จะสามารถใช้บริการการเชื่อมโยงระบบเว็บไซต์ (Web Portal) ที่กรมสรรพากรจัดทำขึ้นได้

นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังระบุว่า กรมสรรพากรได้พิจารณาเร่งรัดการดำเนินโครงการใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 ปี จากเดิมที่ได้กำหนดเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 10 ปี โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ (Large Business Tax Administration: LTO) ที่มีผลการจัดเก็บภาษีจำนวน 2,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนประมาณ 3,500 ราย จะให้เข้าร่วมโครงการภายใน 1 ปี นับตั้งแต่การพัฒนาระบบเสร็จสมบูรณ์ ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่อยู่นอกการกำกับดูแลของ LTO จะเข้าร่วมโครงการภายใน 3 ปี นับตั้งแต่การพัฒนาระบบเสร็จสมบูรณ์ และผู้ประกอบการทั้งหมดจะเข้าร่วมโครงการภายใน 5 ปี นับตั้งแต่การพัฒนาระบบเสร็จสมบูรณ์

อ่าน 'จับตา': “โทษและความรับผิดเกี่ยวกับ ‘ใบกำกับภาษีปลอม’”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=
5908

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: