ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดราคายางพาราปี 58 ยังไม่ฟื้น

27 มี.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2994 ครั้ง


	ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดราคายางพาราปี 58 ยังไม่ฟื้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยผลวิเคราะห์ คาดสถานการณ์ราคายางพาราปี 2558 ยังคงตกต่ำ แนะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ายางพารา อาทิ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อยโรงงานที่สอดคล้องกับทิศทางการสนับสนุนของรัฐบาลด้วยการเร่งลดพื้นที่เพาะปลูกยางพาราอย่างเป็นรูปธรรม โดยการให้เงินชดเชยแก่ชาวสวนยางหากเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ในอัตราไร่ละ 26,000 บาท

27 มี.ค. 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยผลวิเคราะห์ว่าราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ของไทยในปี 2558 อาจเคลื่อนไหวลดลงมาอยู่ในกรอบ 45-48 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 11.0-16.6 (YoY)  เทียบกับปี 2557 ที่ 53.9 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 46.1 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 26.1 (YoY) สอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 51.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือลดลงร้อยละ 50.9 (YoY)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนยางคือ การพิจารณาปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ายางพารา อาทิ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน เป็นต้น อันสอดคล้องกับทิศทางการสนับสนุนของรัฐบาลด้วยการเร่งลดพื้นที่เพาะปลูกยางพาราอย่างเป็นรูปธรรม โดยการให้เงินชดเชยแก่ชาวสวนยางหากเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ในอัตราไร่ละ 26,000 บาท

ด้วยผลตอบแทนกำไรที่น่าดึงดูดของปาล์มน้ำมันเมื่อเทียบกับพืชเกษตรอื่นในพื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่เท่ากัน นับเป็นทางเลือกหนึ่งของชาวสวนยาง เพื่อใช้ในการพิจารณาปรับเปลี่ยนไปปลูก โดยปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่นิยมปลูกในภาคใต้ คิดเป็นผลผลิตในภาคใต้กว่าร้อยละ 91.4 ของผลผลิตปาล์มน้ำมันทั้งประเทศ ซึ่งการปลูกปาล์มน้ำมันจะใช้แรงงานเก็บเกี่ยว ระยะเวลาการให้ผลผลิต และการดูแลรักษาสวนน้อยกว่าการปลูกยางพารา ตลอดจนการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมของภาครัฐ ก็อาจช่วยหนุนให้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพ จากความต้องการที่มีรองรับ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนอย่างไบโอดีเซล

นอกจากนี้ ผลตอบแทนกำไรที่รองลงมา คือ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ก็นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ หากชาวสวนยางมีข้อจำกัดในเรื่องการปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้งในเรื่องทำเลที่ตั้ง คุณภาพดิน น้ำ ความสูงต่ำของพื้นที่ และแรงงาน เป็นต้น ดังจะสรุปได้จากความน่าสนใจของพืชเกษตรอื่นที่เป็นทางเลือก ในช่วงภาวะที่ราคายางพาราตกต่ำจนชาวสวนยางต้องประสบภาวะการขาดทุน

หากพิจารณาในแง่ของผลตอบแทนหรือกำไรของชาวสวนยาง ในกรณีที่หันไปปลูกพืชเกษตรอื่น เปรียบเทียบกับการปลูกยางพาราที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า จากขนาดพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 1 ไร่ เท่ากัน เกษตรกรที่ปลูกยางพาราจะขาดทุนจำนวน 3,244 บาทต่อไร่ ในขณะที่หากหันไปปลูกปาล์มน้ำมัน เกษตรกรจะมีผลตอบแทนกำไรสูงที่สุดราว 3,906 บาทต่อไร่ ตามมาด้วย มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ที่มีผลตอบแทนกำไรจำนวน 1,114 และ 523 บาทต่อไร่ ตามลำดับ

ทั้งนี้ จากการคำนวณข้างต้น ณ จุดที่เกษตรกรที่ปลูกยางพาราขาดทุนจำนวน 3,244 บาทต่อไร่ พบว่า เป็นระดับราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่ 53.9 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นระดับราคาขาดทุนในปี 2557 โดยราคาที่คาดการณ์ไว้ในปี 2558 ยังต่ำกว่า อันแสดงให้เห็นว่า หากชาวสวนยางยังคงปลูกยางพารา ก็อาจต้องประสบกับภาวะการขาดทุนเช่นในปีนี้ที่มากกว่าปีก่อนที่คำนวณไว้ข้างต้น อย่างไรก็ตาม ระดับราคาที่จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางไม่ขาดทุนหรือเท่าทุน (กำไรเป็นศูนย์) จะเฉลี่ยอยู่ที่ราคาราว 66.6 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งอาจเป็นระดับราคาที่มีความเป็นไปได้น้อยในปีนี้ ท่ามกลางภาวะที่ยางพาราไทยยังคงเผชิญความท้าทายหลายด้าน

แม้การคำนวณด้านผลตอบแทนกำไรข้างต้น จากการเปลี่ยนไปปลูกพืชเกษตรอื่นจะให้ผลกำไรเป็นบวก แต่เกษตรกรอาจต้องพิจารณาเงื่อนไขปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ด้านผลตอบแทนกำไรในการตัดสินใจร่วมด้วย อาทิ ทำเลที่ตั้ง สภาพดิน น้ำ ลม วิถีชีวิตดั้งเดิม/องค์ความรู้ของเกษตรกรในพื้นที่ สภาพตลาด (ราคา/แหล่งรับซื้อผลผลิต) ต้นทุนการผลิตทั้งต้นทุนคงที่ (ที่ดิน อุปกรณ์ทางการเกษตร) และต้นทุนผันแปร (แรงงาน ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช ค่าดูแลสวน) ระยะเวลาคืนทุนของพืชชนิดนั้นๆ รวมถึงแนวโน้มราคาพืชเกษตรในระยะข้างหน้า เป็นต้น ดังนั้น การปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชเกษตรอื่นของเกษตรกร จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาปัจจัยแวดล้อมข้างต้นด้วย เพื่อเลือกแนวทางที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรแต่ละราย ซึ่งหากคำนึงในด้านผลตอบแทนกำไร ก็เป็นเพียงหนึ่งเหตุผลที่แสดงให้เห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจเท่านั้น

 

"ปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่เกิดขึ้น นับเป็นบทเรียนสำคัญของภาคเกษตรไทย ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณอุปทานในระดับสูง ขณะที่การส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งในทางปฏิบัติ ประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าว ยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะข้อจำกัดของเกษตรกรแต่ละรายในแต่ละพื้นที่ ฉะนั้นแล้ว การตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการอุปทานผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร จึงนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ หากต้องเผชิญความเสี่ยงในระยะข้างหน้า" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: