บทวิเคราะห์: ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติและประเทศไทย

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 25 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 3023 ครั้ง

นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่าได้ทำหนังสือถึงสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees–UNHCR) เกี่ยวกับปัญหาที่ เอกภพ เหลือลา หรือ ตั้ง อาชีวะ ผู้ต้องหาคดีดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่นิวซีแลนด์ โดยการช่วยเหลือของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติในประเทศไทย

ไม่ทราบว่าทำไมนายกรัฐมนตรีของไทยต้องทำหนังสือไปและมีเนื้อความว่าอย่างไร ท่านกล่าวแต่เพียงว่า “เราทำเรื่องไปแล้ว แต่เขาก็ยังเฉยๆ อยู่ โดยเขาอ้างว่าเป็นการดูแลทางด้านสิทธิมนุษยชน เราจะทำอย่างไรได้”

“กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ทำหนังสือไปแล้วทุกประเทศ ทำไปหมดแล้ว 7-8 ประเทศที่มีคนเหล่านี้หลบไปอยู่ แต่เขาก็ยังไม่ตอบกลับมา ซึ่งเราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเราเองก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะไปต่อสู้กับทั้งโลก รอให้เราเป็นมหาอำนาจก่อนค่อยคิดแบบนั้น ซึ่งยูเอ็นเอชซีอาร์ที่รับเงินบริจาคไปก็ไปช่วยคนทั้งโลก ไม่ใช่ไปช่วยนายตั้ง ต้องแยกแยะ”

อย่างไรก็ตาม เป็นบุญของชาวโลกที่ไทยไม่ได้เป็นมหาอำนาจ และการกล่าวของท่านนายกรัฐมนตรีเช่นนั้น ทำให้สากลโลกค่อยคลายความวิตกกังวลได้บ้างว่า อย่างน้อยแม้ท่านจะมีพื้นฐานมาจากทหารก็มีความเข้าใจโลกและฐานะของประเทศไทยอยู่ค่อนข้างมากว่า เดี๋ยวนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่แตกต่างจากคนทั้งโลกอย่างมาก (เป็นพวกข้างน้อยก็ว่าได้) ทั้งยังเป็นการเตือนให้ประชาชนไทยกลุ่มหนึ่งที่ออกจะมีแนวความคิดอนุรักษ์นิยมล้าหลังอยู่มากค่อยเพลาๆ การเคลื่อนไหวลงบ้าง อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการเห็นแก่หน้าและชื่อเสียงในอดีตของประเทศไทยในเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยเคยมีความสัมพันธ์อันดีกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติมานานและที่สำคัญเคยได้ให้ความช่วยเหลือคนประเภทเดียวกับ ตั้ง อาชีวะ มาแล้วนับไม่ถ้วน การจะไปเที่ยวต่อว่าต่อขานยูเอ็นหรือประเทศที่ให้ที่พักพิงเขา ดูจะเป็นการตระบัดสัตย์อย่างน่าละอาย

คดีหมิ่นประมุขของรัฐนั้น ในสากลโลกถือว่าเป็นคดีการเมือง เพราะผู้ต้องหาเพียงแต่ได้ใช้วาจาวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อให้กล่าวในทางร้ายดูหมิ่นดูแคลนอาฆาตมาดร้ายอะไรก็ตามที ก็ถือเป็นการแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างหนึ่ง ประมุขของรัฐไม่ว่าอยู่ในรูปแบบของกษัตริย์ ราชาธิบดี หรือประธานาธิบดีก็ตาม เป็นบุคคลสาธารณะล้วนถูกวิพากษ์วิจารณ์ติติงหรือแม้แต่ด่าทอได้อยู่แล้ว

โลกสมัยใหม่ไม่ถือสาเรื่องพวกนั้นแบบเอาเป็นเอาตาย แม้ในบางประเทศอาจจะมีกษัตริย์อยู่และมีกฎหมายคุ้มครองกษัตริย์อยู่ด้วย แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะไม่บังคับใช้กฎหมายนั้นอย่างเคร่งครัดนัก ไม่ถึงกับเอาเป็นเอาตายกันอย่างในประเทศไทย ประเทศที่หมกมุ่นอยู่กับการไล่ลงโทษพลเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำมักจะเป็นประเทศเผด็จการที่ระบบหรือตัวผู้นำเองไม่สู้จะมีความมั่นคงนักเท่านั้น

แต่ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้นำมักไม่ชอบให้ใครวิพากษ์วิจารณ์ ผู้นำในประเทศที่เจริญแล้วก็ออกมาต่อล้อต่อเถียงกับประชาชนที่วิจารณ์เขาในทำนองด่ามาก็ด่าไปแล้วเรื่องก็จบลงเพียงนั้น แต่ประเทศไม่เจริญนิยมออกกฎหมายหรือใช้อำนาจรัฐห้ามปราม ข่มขู่ หรือแม้แต่ลงโทษประชาชนประเภทนั้น นั่นเป็นที่มาของความขัดแย้งทางการเมือง คนเหล่านี้จำนวนมากต้องหลบหนีการคุกคามแบบนี้มากต่อมาก และพวกเขาเป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งที่สหประชาชาติต้องให้ความคุ้มครอง เพราะถือว่าการแสดงออกทางการเมืองหรือความเชื่อใดๆ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษยชาติที่รัฐไม่พึงจะลงโทษเขา

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติตั้งขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แรกๆ นั้นก็เพื่อช่วยเหลือชาวยุโรปที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้งในสงครามนั้นเป็นสำคัญ หลังจากนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองและสงครามได้ทำให้ผู้คนต้องอพยพหนีตายกันมากมายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในแอฟริกา ละตินอเมริกา หรือในเอเชีย สำนักข้าหลวงใหญ่ก็อาศัยอาณัติของสหประชาชาติและหลักการสิทธิมนุษยชนเข้าให้การช่วยเหลือคนเหล่านั้น ตั้งค่ายอพยพตามแนวชายแดนบ้าง หรือช่วยเหลือให้พวกเขาได้ไปลี้ภัยหรือตั้งถิ่นฐานในดินแดนใหม่ที่ปลอดภัยบ้าง

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยในราวปี 2518 เมื่อสงครามเวียดนามได้ผลักดันให้ผู้คนนับล้านหนีออกมาจากดินแดนที่เรียกว่าอินโดจีน สหประชาชาติบันทึกว่าประเทศไทยต้องรับผู้อพยพจากอินโดจีนมากถึง 1.3 ล้านคนในช่วงหลายปีหลังสงครามครั้งนั้น ผู้เขียนยังทันได้ทำข่าวการทยอยปิดศูนย์อพยพเหล่านั้นในช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 อีกทั้งยังมีผู้ตกค้างจากสงครามอินโดจีนครั้งนั้นอยู่อีกมากมายที่ทั้งถูกส่งกลับภูมิลำเนาเดิมและได้ไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3 ในช่วง 10 ปีแรกของศตวรรษที่ 21 นี้

ดังที่ทราบกันดี ในจำนวนคนเป็นล้านๆ คนนั้น ส่วนมากก็อาจจะเป็นผู้ที่ไม่มีความเห็นทางการเมืองใดๆ อพยพออกมาเพราะกลัวสงครามและก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าในบรรดาผู้ที่อพยพออกมานั้น มีอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นคู่ขัดแย้งกับผู้มีอำนาจหรือกำลังก่อสงครามนั้นอยู่โดยตรง พวกเขาไม่เพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์คู่กรณีของเขาเท่านั้น หากแต่ประกอบอาวุธต่อสู้ด้วย แต่เมื่อสู้ไม่ได้ ยอมวางอาวุธ หนีออกมา สหประชาชาติก็ให้การคุ้มครองและช่วยเหลือให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัย

ประมุขของรัฐไม่ว่าอยู่ในรูปแบบของกษัตริย์

ราชาธิบดี หรือประธานาธิบดีก็ตาม

เป็นบุคคลสาธารณะล้วนถูกวิพากษ์วิจารณ์ติติงหรือแม้แต่ด่าทอได้อยู่แล้ว

ถามว่าผู้นำที่มีอำนาจในประเทศนั้นต้องการตัวคนเหล่านี้หรือไม่ แน่นอนว่าต้องการและตามจับอย่างเอาเป็นเอาตายอีกด้วย ทั้งยังดำเนินการสารพัดเพื่อให้สหประชาชาติและประเทศไทยส่งคนเหล่านั้นกลับไป แรกๆ ประเทศไทยก็ไม่ได้ส่งให้ ตอนหลังเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลดีขึ้น เลิกเป็นศัตรูกัน คนเหล่านั้นกลับกลายเป็นพวกไร้ประโยชน์ทางการเมืองสำหรับไทย รัฐบาลไทยหลายต่อหลายชุดไม่ว่าภายการนำแบบไหน หาทาง ‘ซิกแซก’ ส่งคนเหล่านี้กลับไปลงโทษในประเทศนั้น ทุกครั้งที่ทำอย่างนั้นก็จะถูกชาวโลกติฉินนินทาถึงความไร้มนุษยธรรมของประเทศไทย

ปัจจุบันนี้ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติและประเทศไทยยังดูแลผู้อพยพอีกนับแสนคน (ตัวเลขทางการประมาณ 80,000 คน) จากพม่า ในจำนวนนั้นก็มีทั้งประชาชนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศของตัวเอง แต่อีกจำนวนมากเช่นกันที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับรัฐบาลและกองทัพพม่า คนเหล่านั้นมีทั้งชนกลุ่มน้อยที่ต้องการจะแยกตัวออกจากการปกครองพม่าและคนเชื้อสายพม่าเองที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาล (ทหาร) พม่าอพยพหนีออกมา โดยเฉพาะการอพยพระลอกใหญ่คือในราวๆ ปี 2531 (ค.ศ.1988) หลังการปราบปรามครั้งใหญ่ตอนที่คณะทหารชุดปัจจุบันขึ้นสู่อำนาจ พวกเขาอพยพมาหลายทางแต่ส่วนใหญ่ข้ามชายแดนทางบกมา

รัฐบาลไทยโดยความร่วมมือของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยและองค์กรเอกชนที่อาสาทำงานช่วยเหลือผู้อพยพ ตั้งค่ายที่พักพิงให้พวกเขาตามแนวชายแดน แรกๆ ก็หวังรอเวลาให้ความขัดแย้งนั้นยุติลงแล้วจะส่งกลับ แต่จากนั้นถึงปัจจุบันปาเข้าไปเกือบ 30 ปีแล้ว พวกเขายังอยู่และมีเด็กเกิดใหม่ในศูนย์พักพิงอีกมากมาย ปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าประชาชนส่วนใหญ่ของที่พักพิงเหล่านั้นก็เกิดที่นั่น พวกนี้ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าพ่อแม่ตัวเองหนีอะไรมา

การมาอยู่ในศูนย์อพยพก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาปลอดภัยแล้วและจบภารกิจของสหประชาชาติ แต่ปัญหาใหญ่คือ คนเหล่านี้จำนวนมากถูกติดตามและไล่ล่าอยู่ สหประชาชาติจำเป็นจะต้องให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่พวกเขาด้วย จึงได้ออกเอกสารให้เขาในฐานะที่เป็นประชาชนที่อยู่ความห่วงใยของยูเอ็น (Persons of concern) หมายความว่าประเทศไทยในฐานะที่ให้ที่พักพิง (แม้ว่าจะไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยผู้อพยพ) แต่ตอนหลังพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลทหาร ไม่สามารถใช้อำนาจของตัวเองแอบส่งให้คนเหล่านี้กลับเข้าซังเตหรือถูกประหัตประหารในพม่าได้ และหากปรากฏว่าพวกเขาปรารถนาจะตั้งรกรากในประเทศอื่น ประเทศไทยก็ต้องยอมและสหประชาชาติก็ต้องจัดหาให้

ปัจจุบันผู้อพยพทั้งจากอินโดจีนและพม่าเดินทางผ่านประเทศไทยภายใต้ความช่วยของสหประชาชาติไปอยู่ประเทศที่ 3 เป็นจำนวนนับหลายแสนคนแล้ว ประเทศที่ไปส่วนใหญ่ก็มักเป็นประเทศแถบตะวันตกที่ทำตัวเป็นผู้ใจบุญทั้งหลาย อันได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

มาถึงวันนี้โลกเกิดกลับตาลปัตร ประเทศไทยที่เคยเชื่อกันว่าสงบร่มเย็นไม่ขัดแย้งกัน ไม่มีสงคราม คนไทยรักใคร่สามัคคีกันดี กลับมีความขัดแย้งทางการเมืองกันรุนแรงแบ่งฝ่ายฆ่ากันกลางพระนครอย่างไม่อายใครทั้งสิ้น รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายผลัดกันมีอำนาจและไล่ล่าฝ่ายตรงข้ามอย่างเอาเป็นเอาตาย ด้วยกฎหมายบ้าง ด้วยอำนาจทางทหารแบบดิบๆ บ้าง เกิดมีคนอพยพหนีภัยคุกคามและลี้ภัยการเมืองกันบ้างแล้ว

สิ่งที่คนไทยจำนวนหนึ่งคงจะต้องทำความเข้าใจและยอมรับคือ สิทธิขั้นพื้นฐานของคนที่มีความเห็นแตกต่างกันนั้นเป็นสิ่งที่สากลโลกเขาให้ความเคารพกัน คนที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันไม่สมควรที่จะต้องถูกลงโทษทางกายภาพโดยการประหัตประหารหรือจับขังคุก แต่ถ้ารัฐบาลยังจะทำกันอยู่หรือมีกฎหมายประเภทนี้อยู่ พวกที่อยู่ตรงข้ามเขามีสิทธิจะหนี

ความจริงแม้แต่ฝ่ายของพวกที่กำลังล่าเขาอยู่นี้ก็ตาม หากสักวันหนึ่งกลับกลายเป็นผู้แพ้ ก็จะต้องร้องขอใช้สิทธินั้นเช่นกัน และสหประชาชาติในฐานะที่เป็นองค์กรที่อยู่ระหว่างรัฐต่างๆ แม้ในความเป็นจริงจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศตะวันตกอยู่มาก แต่โดยหลักการพื้นฐานคือต้องเป็นกลางและให้ความคุ้มครองสิทธิของพลเมืองโลกโดยเสมอหน้ากัน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: