มติ ครม. นำร่องใช้ "ข้อตกลงคุณธรรม" 2 โครงการ "รถเมล์ NGV - รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน"

21 ม.ค. 2558 | อ่านแล้ว 1603 ครั้ง

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 58 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2558 ตามที่คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เสนอ ให้นำหลักเกณฑ์วิธีการและแนวทางในการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ใน 2 โครงการคือ 1. โครงการจัดซื้อรถโดยสารก๊าซธรรมชาติ จำนวน 489 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ และ 2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
 
อนึ่งข้อตกลงด้านคุณธรรม (Integrity Pact: IP) คือ การตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐและผู้ต้องการเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐ ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยซื่อสัตย์สุจริตไม่มีการเรียกรับเงินสินบนหรือประโยชน์อื่นใด รวมทั้งจะต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการที่สําคัญในทุกกระบวนการให้โปร่งใส โดยยอมรับให้มีบุคคลที่สามที่มาจากภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ (Observer) ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ ตั้งแต่เริ่มเขียนทีโออาร์ (TOR) จนสิ้นสุดโครงการ
 
หลักสําคัญของข้อตกลงคุณธรรมคือ การที่คู่กรณีคือ ฝ่ายรัฐและฝ่ายเอกชนที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการดําเนินโครงการของรัฐ ตกลงยอมรับในบทบาทและอํานาจบางประการของผู้สังเกตการณ์ด้วยเจตนาเพื่อป้ องกันคอร์รัปชันร่วมกัน ดังนั้นคู่สัญญาจึงควรปฏิบัติตามด้วยความเคารพ และบางกรณีข้อตกลงคุณธรรมยังมีการกําหนดบทบังคับหรือลงโทษไว้ด้วย ซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ภายใต้บริบททางการเมืองและขอบเขตของกฏหมายที่เอื้ออํานวย เช่น อาจให้คณะผู้สังเกตุการณ์มีสิทธิเรียกเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาดู ให้มีการจ้างบริษัทหรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมทํางานโดยมีค่าใช้จ่าย การนําข้อมูลบางเรื่องออกเปิดเผยสู่สาธารณะ ตรวจสอบเส้นทางการเงินของโครงการหรือผู้เกี่ยวข้อง การกําหนดให้ข้อตกลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ให้ความเห็นหรือตัดสินข้อพิพาท หรืออาจให้มีอํานาจถึงขั้นให้สั่งหยุดโครงการหรือเสนอให้มีการยกเลิกสัญญาได้ (ที่เรียกว่า Arbitrator หรือ Monitor) หากเห็นว่าปล่อยปญหาค้างคา จะทําให้ประโยชน์ของรัฐหรือประชาชนเสียหายได้ เป็นต้น
 
ข้อตกลงคุณธรรมนี้ริเริ่มโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) และได้ถูกนําไปใช้แล้วกว่า 300 โครงการ ใน 15 ประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมันนี เม็กซิโก และปากีสถาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา ช่วยให้มีการประหยัดงบประมาณของรัฐและทําให้สังคมได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากเงินภาษีที่เสียไป ที่สําคัญยังช่วยสร้างความมั่นใจในระบบการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมแก่ทุกฝายที่เกี่ยวข้อง ข้อตกลงคุณธรรมนี้จะได้รับการยอมรับและถูกนํามาใช้เป็นเครื่องมือป้องกันคอร์รัปชัน จําต้องอาศัยนโยบายและความตั้งจริงใจของผู้มีอํานาจทางการเมือง (Political Will) และหน่วยงานของรัฐ เพราะเป็นแนวปฏิบัติที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นมากกว่าที่ขอบเขตของกฏหมายที่มีอยู่ และเพื่อไม่ให้กลายเป็นแค่ตรายางรับรองความชอบธรรมของโครงการจัดซื้อจัดจ้างฯ การใช้ข้อตกลงคุณธรรมจึงต้องให้อยู่ในสายตาของประชาชนมากที่สุด ข้อตกลงคุณธรรมจึงเป็นแนวโน้มใหม่ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในการป้องกันคอร์รัปชัน
 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: