คนไทยรู้ยัง : การประมาณการการเดินทางของคนไทยในช่วงปีใหม่ 2559

ทีมข่าว TCIJ : 17 ธ.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2785 ครั้ง

หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดเตรียมพื้นที่สถานีขนส่ง ชานชาลาและพื้นที่จอดรถสำรองให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชน รวมทั้งจัดเตรียมและเพิ่มจำนวนรถโดยสารประจำทาง เพิ่มจำนวน ตู้โดยสารรถไฟ และเที่ยวบินเสริมพิเศษ เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2558 – 4 มกราคม 2559 จำนวน 217,983 เที่ยว รองรับผู้โดยสารจำนวน 14,312,529 คน-เที่ยว โดยมีมาตรการรองรับการเดินทางของประชาชน ดังนี้ 1) จัดเตรียมรถโดยสารประจำทางและรถโดยสารเสริมให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างจังหวัด และภายในจังหวัดทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ รวมทั้งบริการเชื่อมโยงรับ-ส่งระหว่างสถานีผู้โดยสารกับหมู่บ้าน 2) ขอความร่วมมือสมาคมขนส่งสินค้า สมาคมรถบรรทุกและผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกให้หลีกเลี่ยงการใช้รถบรรทุกในช่วงเทศกาลเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรและป้องกัน การเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในช่วงเทศกาล 3) จัดรถ Shuttle Bus รถเฉพาะกิจฟรี ช่วงวันที่ 29 - 30 ธันวาคม 2558 เวลา 16.00 - 22.00 น. (ขาออก) และวันที่ 3 - 4 มกราคม 2558 เวลา 05.00 - 08.00 น. (ขาเข้า) จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ สาย 3 วงกลมอู่หมอชิต 2 - สถานีรถไฟฟ้า BTS จตุจักร และสาย 54 อู่หมอชิต 2 – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  4) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ขยายเวลาในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2559 5) จัดตั้งหน่วยบริการประชาชนในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ จำนวน 20 จุด 6) จัดเรือด่วนเสริมพิเศษ ท่าเรือสะพานสาทร – ท่าเรือเอเชียทีค ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2558 – 1 มกราคม 2559 ตั้งแต่เวลา 18.00 – 24.00 น.

ด้านการอำนวยความสะดวกด้านโครงข่ายถนน 1) ยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาจราจรบริเวณ หน้าด่าน 1.1) ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์สายตะวันออก) และ 9 (ถนนกาญจนาภิเษก (ตะวันตก) ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 3 มกราคม 2559 1.2) ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี) ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 3 มกราคม 2559 2) หยุดดำเนินการก่อสร้าง/ซ่อมแซมถนนและสะพานในช่วงเทศกาล พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องหมายเตือน ป้ายแนะนำ และไฟสัญญาณเป็นระยะๆ ให้ชัดเจนก่อนถึงบริเวณก่อสร้าง/ซ่อมบำรุงทาง 3) ติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อบริหารจัดการสภาพการจราจรบนถนนสายหลัก 210 ตัว และติดตั้ง CCTV Mobile บนจุดเฝ้าระวัง 35 ตัว รวมเป็น 245 ตัว 4) รายงานสภาพการจราจรแบบ Real Time ในระบบบริหารงานภัยพิบัติและสภานการณ์ฉุกเฉิน และรายงานสภาพการจราจรหนาแน่นและติดขัดทุกชั่วโมง และหัวหน้าทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมพร้อมอำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหา บริหารจัดการได้ตลอด 24 ชั่วโมง 5) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่จัดตั้งจุดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนให้ครอบคลุมพื้นที่จุดเสี่ยง โดยเน้นในบริเวณถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 10 อันดับแรก ของช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558

มีการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าเรือ/ สถานีขนส่ง/ ท่าอากาศยานและอาคารผู้โดยสาร/ สถานีรถไฟ/ สถานีรถไฟฟ้า ให้มีความพร้อมรองรับปริมาณการใช้บริการของประชาชน รวมทั้งเข้มงวดเรื่องความสะอาดของห้องน้ำภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร และต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์ รถจักรยานที่สะดวกและปลอดภัยอย่างเพียงพอ

มีการอำนวยความสะดวกในด้านข้อมูลการจราจร ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม จัดตั้งศูนย์ปลอดภัยคมนาคมจัดให้มีเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ (Call Center) สายด่วน 1356 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวก บรรเทาและแก้ไขปัญหาการเดินทาง รวมทั้งรายงานสถานการณ์ให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมทราบและพิจารณาสั่งการกรณีฉุกเฉินและเร่งด่วนได้ทันท่วงที และศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงคมนาคม (MOTOC) ให้บริการระบบบริหารจัดการอุบัติเหตุด้านการขนส่ง (TRAMS) แก่หน่วยงาน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่อำนวยความสะดวกและวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุ

ด้านมาตรการด้านการบริหารจัดการผู้ขับขี่/ผู้โดยสารปลอดภัย ผู้ขับรถโดยสารประจำทางและผู้ประจำรถทุกคน ถูกตรวจความพร้อมของร่างกายก่อนรถโดยสารประจำทางออกจากสถานีทุกแห่งทั่วประเทศ โดยต้องมีเวลาพักผ่อนเพียงพอและไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระหว่างการให้บริการ โดยมีระดับแอลกอฮอล์เป็นศูนย์มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เป็นจำนวนร้อยละ 100 และผู้โดยสารรถโดยสารประจำทาง ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง

ด้านมาตรการยานพาหนะปลอดภัย การตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจบนถนนสายหลัก/สายรอง สถานีขนส่งผู้โดยสาร/จุดจอด ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค ควบคุมความเร็วรถโดยสารของ บขส. จำนวน 800 คัน ด้วยระบบ GPS ประสานผู้ประกอบการรถร่วม บขส. ให้ควบคุมความเร็วด้วยระบบ GPS ตรวจสภาพความพร้อมของเรือโดยสารให้มีความมั่นคง แข็งแรง พร้อมทั้งมีอุปกรณ์ช่วยชีวิต เป็นต้น

ด้านมาตรการถนนปลอดภัย ตรวจสอบป้ายจราจรเครื่องหมายควบคุมการจราจร สัญญาณไฟจราจร ไฟฟ้าแสงสว่างและไฟกระพริบให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน เป็นต้น

ด้านมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ตรวจจับรถที่ใช้ความเร็วเกินกำหนดด้วยเครื่องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ ตรวจวัดแอลกอฮอล์ และห้ามจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บนรถ/รถไฟ และภายในพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร

ด้านมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ จัดหน่วยพยาบาลเพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุโดยการประสานองค์กรต่างๆ เช่น หน่วยกู้ภัย มูลนิธิ ทีมอาสาท้องถิ่น หน่วยพยาบาล เป็นต้น

ด้านมาตรการด้านความมั่นคง มีการติดตั้งกล้อง CCTV ประจำสถานีขนส่งผู้โดยสาร จัดพนักงานและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้เพียงพอ และจัดพนักงานตรวจความปลอดภัยยืนประจำจุดตรวจสัมภาระ (Walk through Scanner) ที่กำหนดเพื่อตรวจสอบการเข้าใช้ระบบของผู้โดยสารร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร

ด้านมาตรการด้านการประชาสัมพันธ์ จัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ด้านความปลอดภัย ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนรถ/รถไฟ และภายในบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

และการรายงานผลการปฏิบัติและการประเมินผล ในช่วงเทศกาล ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสถิติการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และสถิติอุบัติเหตุมายังศูนย์ปลอดภัยคมนาคม ภายในเวลา 08.00 น. ของวันรุ่งขึ้นเป็นประจำทุกวันตลอด ช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ และช่วงหลังเทศกาล ภายหลังเสร็จสิ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมมีการประมวลสรุปผลการปฏิบัติงาน พร้อมข้อเสนอแนะรายงานเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: