เตรียมขอ ครม.เปิดใช้น้ำบาดาลแก้ภัยแล้งปี 2559

17 ธ.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2162 ครั้ง


	เตรียมขอ ครม.เปิดใช้น้ำบาดาลแก้ภัยแล้งปี 2559

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเตรียมเสนอขอ ครม.เปิดใช้น้ำบาดาลแก้ภัยแล้งปี 59 คาด 40 จว.ภาคเหนือ-อีสาน-กลางเจอปัญหาขาดแคลนน้ำในปี (ที่มาภาพประกอบ: dgr.go.th)

17 ธ.ค. 2558 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่านายสุพจน์โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่ากระทรวงทรัพยากรฯ เตรียมเสนอต่อที่ประชุม ครม. ให้ยกเลิกมติครม.ที่ห้ามสูบน้ำบาดาลในเขตกทม.และปริมณฑลเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือฤดูแล้งในปี2559 โดยคาดว่าในปีหน้าสถานการณ์ภัยแล้งจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อยกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในเขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยาถ้าเราปฏิบัติตามแผนการระบายน้ำคาดว่าจะมีน้ำใช้ไปจนถึงเดือน ก.ย.2559 แต่เราไม่แน่ใจว่าจะสามารถปฏิบัติตามแผนได้หรือไม่ จึงต้องเตรียมมาตรการอื่นไว้รองรับและการนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในกรณีที่จำเป็น  ทั้งนี้ตนคาดว่าในเดือน ม.ค.2559 กระทรวงทรัพยากรฯ จะนำเสนอต่อที่ประชุมครม.เพื่อขอให้สามารถสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้เพียงพอต่อการใช้อุปโภคในชีวิตประจำวันของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาโดยตั้งแต่ปี 2548 ครม.มีมติให้ยกเลิกการใช้น้ำประปาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเนื่องจากปัญหาดินทรุดตัวในเขตเมือง โดยช่วงเวลาดังกล่าวมีการใช้น้ำบาดาลถึงวันละ 1.2 ล้านลบ.ม. โดยคิดว่าหากนำน้ำขึ้นมาใช้วันละประมาณ 5 แสนลบ.ม. จะไม่กระทบต่อการทรุดตัวของแผ่นดิน

นายสุพจน์กล่าวว่า ทั้งนี้ เราคาดการณ์ว่าในปี 2559 จะมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 40 จังหวัดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนืออีสาน และภาคกลาง ส่วนภาคตะวันออกและภาคใต้ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะระดับน้ำสะสมในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์ดีแต่เพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว กรมทรัพยากรน้ำจะดำเนินโครงการประปาหมู่บ้าน เพื่อให้แต่ละหมู่บ้านมีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงฤดูแล้งที่เริ่มขึ้นแล้วในเดือนธ.ค.2558-พ.ค.2559 ทั้งนี้ 4,100 หมู่บ้านจะมีแหล่งน้ำขนาดเล็กสำหรับหล่อเลี้ยงคนในชุมชน และมีการก่อสร้างบ่อกักเก็บน้ำสำหรับรองรับน้ำฝนในฤดูฝนต่อไปด้วย

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: