แฉขบวนการขาย 'สเตียรอยด์' สยายปีกทั่วอีสาน รถเร่ทะเบียนปลอม-อ้างยาแผนโบราณ 

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล 10 มี.ค. 2558 | อ่านแล้ว 5334 ครั้ง

เอ่ยถึง ‘สเตียรอยด์’ คนโดยมากรู้สึกว่าไกลตัวและเกี่ยวพันกับคนไม่กี่กลุ่ม เช่น นักเพาะกายที่เล่าลือว่าใช้สเตียรอยด์เพื่อบิดเบือนธรรมชาติของกล้ามเนื้อ แต่สเตียรอยด์ใกล้ตัวกว่าที่คิด มันเป็นสารเคมีมหัศจรรย์ที่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้เกือบทุกอาการไม่ต่างกับยาวิเศษ ทว่า พิษภัยของมันรุนแรงไม่แพ้สรรพคุณหากใช้โดยไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์

ปี 2526 สเตียรอยด์ถูกขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานอาหารและยา (อย.) เป็นครั้งแรก 32 ปีผ่านไป ประชากรไทยทุกๆ 1,000 คนจะมี 93 คนที่มีปัญหาทางคลินิกจากการใช้สเตียรอยด์ไม่เหมาะสม และมีอัตราการตายจากเหตุนี้ร้อยละ 6.4 ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีลักษณะตัวบวม หน้าอูม มีหนอกบริเวณหลังคอ ระบบการทำงานในร่างกายผิดปกติ จนถึงภาวะไตวายในที่สุด ซึ่งความเจ็บป่วยจากสเตียรอยด์นี้ นับเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจระดับ 1,900 ล้านบาทต่อปี

ในเขตเมือง อาจพบการแพร่ระบาดของสเตียรอยด์ค่อนข้างน้อย ทว่า ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ กลับมีการระบาดหนักหน่วง ด้วยเหตุผลทางด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ การเข้าถึงข้อมูล และการบริการสุขภาพยังไม่เท่าเทียมกับในเมือง ช่องทางที่สเตียรอยด์ใช้จู่โจมถึงตัวที่ดีที่สุดในบริบทนี้คือ ข้ออ้างยาแผนโบราณ

สเตียรอยด์ระบาดหนักอีสาน ใช้พระเป็นพรีเซ็นเตอร์

การตรวจสอบสเตียรอยด์ที่ปลอมปนในยาแผนโบราณที่ส่วนใหญ่ไม่มีทะเบียนยา โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่ปี 2553-2557 พบว่า จากตัวอย่าง 670 ตัวอย่าง มีถึง 118 ตัวอย่างหรือร้อยละ 17.6 ที่ตรวจพบสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนสเตียรอยด์เหล่านี้มาทั้งในรูปของยาลูกกลอน ยาฝุ่น ยาผง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ยาน้ำสมุนไพร ยาชุด ยาเดี่ยว น้ำหมักชีวภาพ น้ำผลไม้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไปจนถึงลูกอมและครีมทาผิว

ยาเหล่านี้ชาวบ้านมักจะรู้จักในชื่อเรียกต่างๆ เช่น ยาร้อยเอ็ด ยาสารคาม ยาประดงแก้ปวด ยาอีเขียวน้อย ยาสีส้มเพิ่มพลัง เป็นต้น ซึ่งทุกวันนี้เข้าถึงชาวบ้านได้ง่ายขึ้น ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์อย่างวิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี การขายตรง แม้กระทั่งการใช้เจ้าอาวาสวัดหรือพระในท้องถิ่นที่ได้รับการยอมรับนับถือเป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งตัวเจ้าอาวาสเองอาจจะมีทั้งที่รู้เห็นเป็นใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยคนขายยาจะนำไปให้เจ้าอาวาสทดลองใช้ เมื่อใช้ได้ผลก็จะเกิดการบอกต่อ หรืออีกวิธีคือการนำยาไปให้ปลุกเสกเพิ่มความน่าเชื่อถือ ซึ่งเล่ห์กลทางการตลาดนี้พบมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ อันเป็นผลจากการเปิดด่านชายแดน  และอีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญในการกระจายยาปลอมปนสเตียรอยด์ก็คือ รถเร่

 

ขอนแก่น: ฮับสเตียรอยด์ของอีสาน

ก่อนจะไปถึงขบวนการรถเร่ จำต้องเข้าใจกระบวนการได้มาของผลิตภัณฑ์ปลอมปนสเตียรอยด์ เนื่องจากรถเร่เปรียบ เสมือนตัวกลางทำหน้าที่เป็นผู้กระจาย (Distributor)  หรือบางกรณีก็เป็นผู้ผลิตด้วย

ปี 2526 จังหวัดขอนแก่นมีโรงงานผลิตยาแผนโบราณที่ได้รับอนุญาตจาก อย. 7 แห่ง ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 22 แห่งกับยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกว่า 354 ตำรับ เหตุใดจึงต้องยกข้อมูลจังหวัดขอนแก่น? นั่นเพราะที่นี่เป็นแหล่งกระจายยาปลอมปนสเตียรอยด์แหล่งใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เคยมีการตรวจสอบยาปลอมปนสเตียรอยด์ พบว่า ผลิตภัณฑ์กว่าร้อยละ 50 ผลิตขึ้นที่จังหวัดนี้

ที่น่าสนใจคือ ความพยายามเข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตของเจ้าหน้าที่รัฐหลายครั้ง กลับไม่เคยพบการปลอมปนสเตียรอยด์เลย แหล่งข่าวกล่าวกับ TCIJ ว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจ?

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าโรงงานผลิตยาน้ำสมุนไพรทุกแห่งร่วมอยู่ในขบวนการสเตียรอยด์ บางแห่งเป็นโรงงานถูกกฎหมาย และแน่นอนบางแห่งก็สวมบทบาททั้งถูกกฎหมายในที่แจ้งและผิดกฎหมายในมุมมืด การแยกแยะขบวนการปลอมปนสเตียรอยด์ลงในยาน้ำสมุนไพรจึงต้องจำแนกเป็น 2 ทาง หนึ่ง-โรงงานผลิตยาน้ำสมุนไพรรู้เห็นเป็นใจให้มีการปลอมปนสเตียรอยด์ ซึ่งปัจจุบันรูปแบบนี้เหลืออยู่ไม่มาก

สอง-โรงงานผลิตไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่มีขบวนการธุรกิจรถเร่อิสระเข้าไปรับซื้อต่อเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปผสมสเตียรอยด์เอง ซึ่งเป็นรูปแบบที่กำลังแพร่ระบาด

ขบวนการรถเร่

รถเร่ที่ใช้ในธุรกิจนี้มักเป็นรถ 6 ล้อหลังคาสูง ส่วนใหญ่ใช้ทะเบียนปลอมหรือสวมทะเบียนของผู้อื่นเพื่อป้องกันการติดตามและตรวจจับ ทั้งไม่นิยมวิ่งบนถนนเส้นหลัก รถเร่ยังมักจะมีสำเนาใบรับรองจากโรงงานผลิตติดรถเสมอ ไว้สำหรับแสดงให้เจ้าหน้าที่ดูว่า ผลิตภัณฑ์ของตนขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง

เดิมทีรถเร่แต่ละคัน มักเป็นเครือข่ายของโรงงานผลิตยาน้ำสมุนไพรตามที่กล่าวข้างต้น แต่ปัจจุบันรถเร่จะรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายย่อยๆ กันเองในกลุ่มญาติพี่น้องในหมู่บ้าน แหล่งข่าวในจังหวัดขอนแก่นให้ข้อมูลว่า พ่อค้ารถเร่บางรายสามารถผลักดันตัวเองขึ้นเป็นกลุ่มทุนการเมืองและคุมเศรษฐกิจของหมู่บ้านได้ ขยับฐานะจากชาวบ้านสู่นักการเมืองท้องถิ่น จนสร้างอิทธิพลกับเจ้าหน้าที่รัฐได้

“ถึงขนาดว่าถ้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะลงไปตรวจเยี่ยมชาวบ้านจะต้องแจ้งก่อนที่จะเข้าหมู่บ้าน”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตำบลหนึ่งในอำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น มีเครือข่ายย่อยๆ รวมกันกว่า 50 เครือข่าย แต่ละเครือข่ายย่อยๆ มีรถเร่ประมาณ 5-10 คัน ทั้งยังมีลูกข่ายในหมู่บ้านอื่นและจังหวัดอื่นอีก 3-5 คัน

ข้อมูลจากวารสาร ‘ยาวิพากษ์’ ปีที่ 6 ฉบับที่ 22 กันยายน-ตุลาคม 2557 ระบุว่า

‘การลงทุนในระยะเริ่มแรกของผู้เริ่มเข้าสู่ขบวนการรถเร่ขายยา โดยทั่วไปจะลงทุนกับการซื้อยาไว้สำหรับขาย 100,000 บาท (ไม่รวมค่ารถกระบะ/รถบรรทุก 6 ล้อที่ใช้เร่ขายยา) และลงทุนกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการฉายหนัง โครงหลังคาและอุปกรณ์อื่นๆ อีกประมาณ 30,000 บาท ใน 1 รอบของการออกเดินสายขายยาจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ (ไม่ต่ำกว่าครั้งละ 2 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน) กำไรที่ได้ต่อเดือนประมาณ 15,000-25,000 บาท ต่อรถเร่ 1 คัน ในการสั่งยาจากโรงงานยาแต่ละครั้งนั้น ทางโรงงานจะมีของแถมทุกครั้งที่สั่ง (ของสมนาคุณ) เช่น พัดลม ผ้าห่ม หมอน มุ้ง และบ่อยครั้งที่โรงงาน ผลิตยาเองเป็นผู้มาส่งยาให้ถึงบ้านของเจ้าของรถเร่ขายยาโดยตรง

ส่วนรูปแบบการสร้างลูกข่ายของแต่ละเครือข่ายนั้น แหล่งข่าวอธิบายว่า

“เจ้าของเครือข่ายจะบอกรถเร่ให้มารับที่ฉัน เดี๋ยวจะติดต่อให้ ไม่ต้องไปติดต่อที่โรงงานจะรับมาให้ ตัวนี้สูตรแรงกว่าโรงงาน ก็ซื้อขายกัน ตัวหัวหน้าเครือข่ายรับยาน้ำสมุนไพรจากโรงงานมาผสม ลูกข่ายจะมาวิ่งรับ วิ่งขายให้ เป็นอิสระต่อกัน คล้ายขายตรง ในพื้นที่ร้อยเอ็ด สารคาม กาฬสินธุ์ก็คล้ายกัน จังหวัดละสองสามเครือข่าย แต่ละเครือข่ายก็คือพี่น้องของเขามาวิ่งขายยาลังหนึ่งอาจจะรับมา 150 บาท ขายรถเร่ 600 เพื่อไปทำกำไร 1,200 คนที่มาเป็นลูกข่ายก็ต้องพยายามผูกมัดใจกัน เพราะสามารถไปตั้งเป็นเครือข่ายย่อยใหม่ได้ ไม่มีการผูกมัดว่าต้องอยู่ตลอดไป ถ้าขายดีก็ตั้งตัวเป็นโหนดใหม่ หน้านาทำนา หมดหน้านาไปทำรถเร่ ใช้เวลา 2 ปี แต่เท่าที่รู้ ไม่ง่ายที่จะเข้าไปเป็นรถเร่”

“หนึ่งรอบของการออก 7 วัน ได้กำไรประมาณ 12,500 หนึ่งเดือนออกประมาณสองสามรอบ ขยันก็ได้เยอะ พฤติกรรมที่เราเจอคือไม่วิ่งบนถนนสายหลัก วิ่งบนเส้นรอง เพราะจะได้ไม่เจอตำรวจ ทะเบียนใช้ทะเบียนปลอม น้อยมากที่เจอทะเบียนจริง ก่อนเข้าหมู่บ้านก็จะรู้ว่าหมู่บ้านนี้มีใครวิ่งเข้าหรือยัง ยาตัวไหนวิ่งเข้าบ้าง รถเร่ต้องทำการบ้าน”

แม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะประชาสัมพันธ์ถึงโทษภัยและกวดขันยาน้ำสมุนไพรปลอมปนสเตียรอยด์อย่างไร แต่ขบวนการเหล่านี้ก็จะหาวิธีหลบเลี่ยงได้เสมอ เช่น การเปลี่ยนฉลากใหม่ หรือการใช้เครื่องหมาย อย. ปลอม การระบุชื่อโรงงานที่ไม่มีอยู่จริง

รถเร่...ก็แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง

การรับยาน้ำสมุนไพรจากโรงงานมาผสมสเตียรอยด์เอง เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำสมุนไพรของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่พบการปลอมปนสเตียรอยด์

เจ้าของเครือข่ายหรือรถเร่แต่ละคันจะซื้อยาน้ำสมุนไพรและยาสเตียรอยด์จากแหล่งขาย แล้วนำมาผสมใส่ในขวดด้วยตนเอง ณ แหล่งพักยาของตน บางรายก็ผสมบนรถเร่ก่อนเข้าหมู่บ้าน ใช้ยาสเตียรอยด์ 25 เม็ดต่อ 1 ขวด บดผสมลงไป ซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูงและอันตรายมาก เพราะโดยปกติเพียง 1-3 เม็ดที่ใช้กับผู้ป่วยก็ถือว่ามากแล้ว

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ปัจจุบัน รถเร่เริ่มใช้วัตถุดิบสำหรับผลิตสเตียรอยด์ หรือเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) ผสมในยาน้ำสมุนไพรแทนการใช้ยาเม็ดสเตียรอยด์ เนื่องจากการใช้ยาเม็ดจะทำให้เห็นตะกอนจากผงแป้ง ขณะที่การผสมเดกซาเมทาโซนลงไปเลยจะไม่มีตะกอนอยู่ในขวด

นอกจากกระจายผ่านรถเร่แล้ว ยาน้ำสมุนไพรปลอมปนสเตียรอยด์ยังเป็นธุรกิจทำเงินที่ค้าขายผ่านการประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์หลายแห่ง ซึ่ง TCIJ คงไม่สามารถเอ่ยชื่อได้

คำถามที่น่าค้นหาคือ วัตถุดิบสำหรับผลิตสเตียรอยด์อย่างเดกซาเมทาโซนหรือเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ประเทศไทยไม่สามารถผลิตเองได้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และการนำเข้าจะต้องแจ้งปริมาณไปยัง อย. ทุกครั้ง เมื่อโรงงานผลิตนำวัตถุดิบไปตอกเป็นเม็ดยาและกระจายไปยังสถานพยาบาลและร้านขายยาแล้วก็ต้องแจ้ง อย.อีก  อย.เองก็มีการตรวจสอบปริมาณการกระจายของสเตียรอยด์ของสถานพยาบาลและร้านขายยาด้วย แล้วรถเร่ซื้อหาสเตียรอยด์ง่ายดายได้อย่างไร ?

เมื่อกลางเดือนธันวาคม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นได้เข้าตรวจค้นร้านขายยาแห่งหนึ่งในอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น พบยาสเตียรอยด์บรรจุในกระปุกเปลือย ไม่มีฉลาก กว่าล้านเม็ด นี้เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

แต่สิ่งที่หลบอยู่ข้างใต้หรือขบวนการลักลอบนำเข้าสเตียรอยด์ ‘ใต้ดิน’ คือต้นน้ำที่ทำให้สเตียรอยด์แพร่ระบาดทั่วภาคอีสาน

อ่าน 'จับตา': “สถานการณ์เสตียรอยด์นอกระบบ”  
http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5440

ติดตามรายงานเจาะลึกตอนต่อไป  “แฉขวนการใต้ดินสเตียรอยด์”  โปรดอย่าพลาด !

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ 
www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: