องค์กรผู้บริโภคถามเกิดอะไรขึ้นกับสื่อมืออาชีพอย่างเนชั่น

10 มี.ค. 2558 | อ่านแล้ว 1658 ครั้ง


	องค์กรผู้บริโภคถามเกิดอะไรขึ้นกับสื่อมืออาชีพอย่างเนชั่น

10 มี.ค. 2558 'สุพัตรา จันทร์เรือง' ฝ่ายสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคและพัฒนานโยบาย เขียนบทความ "เกิดอะไรขึ้นกับสื่อมืออาชีพอย่างเดอะเนชั่น" เผยแพร่ให้สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2558 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เกิดอะไรขึ้นกับสื่อมืออาชีพอย่างเดอะเนชั่น

ตามรายงานของเดอะเนชั่น มีกลุ่มทุนชื่อบริษัท​SLC ได้แจ้งข้อมูลต่อตลาดฯ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 ว่า บริษัทได้ถือหุ้น NMG จำนวน 12.27% และยังถือวอร์แรนท์หุ้นเนชั่นฯ อีก 6.79%  

อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริง SLC และพวกได้ถือหุ้นใน NMGมากกว่า 30% แล้ว นั่นคือ การถือหุ้น NMG ในนามบริษัท โพลาริสแคปปิตัล จำกัด (มหาชน) และนายศิรวิสิษฐ์ สายน้ำผึ้ง รวม 16.68 % และการถือหุ้น NMG ในนามบุคคลอีกไม่ต่ำกว่า 13 ราย ทำให้ SLCและพวกถือหุ้น NMG รวมกันมากกว่า 30% แล้ว

การเข้าถือหุ้นใหญ่ดังกล่าว ทำให้ในอนาคตกลุ่ม SLC สามารถเข้ามามีบทบาทกำหนดทิศทางการทำธุรกิจของ NMG ได้ ตามกฏเกณฑ์ของตลาดหุ้น หากใครเข้าซื้อหุ้นในบริษัทใดเกินกว่า 25% จะต้องประกาศรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ ด้วย แต่ SLC เลือกแจ้งต่อตลาดฯ ว่า ถือหุ้น NMG เพียง 12.27%จึงสะท้อนว่า กลุ่ม SLC ไม่ได้รายงานข้อเท็จจริง และต้องการหลีกเลี่ยงกฎของตลาดหุ้นด้วย  

อีกประเด็นสำคัญคือการเข้ามาถือหุ้นจำนวนมากชั่วข้ามคืนทำให้บริษัทนั้นสามารถแต่งตั้งกรรมการเข้ามาบริหารงานได้ นั่นหมายถึงความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนนโยบายจากการทำงานแบบสื่ออิสระตามหลักวิชาชีพสื่อ อาจถูกสั่งการให้เกิดความเบี่ยงเบน การชี้นำ หรือการปลดพนักงานที่ซื่อสัตย์กับวิชาชีพ ออกได้ชั่วข้ามคืนเช่นกัน

​เหตุที่เห็นว่า การ เข้าถือครองหุ้นบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ของ SLC  เป็นการครอบงำสื่อ และขัดต่อเจตนารมณ์ ปฏิรูปสื่อ ? 

​จากข้อมูลของเดอะเนชั่น ปัจจุบัน SLC คือ เจ้าของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ หนึ่งในช่องทีวีดิจิตอลกลุ่มข่าว ดังนั้นเมื่อ SLC เข้ามาถือหุ้นใน  NMG ซึ่งเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี เท่ากับว่า SLC จะเป็นเจ้าของสถานีดิจิตอลทีวีช่องข่าวถึง 2 ช่อง ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์การเปิดประมูลโทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่ต้องการเปิดเสรีอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย และปกป้องสิทธิการรับรู้ข่าวสารของภาคประชาชน  

สื่อมืออาชีพอื่นๆมีมากมาย ทำไมต้องมาปกป้องเดอะเนชั่น

เดอะเนชั่นถือว่ามีความน่าเชื่อถือในฐานะสื่อมวลชนมืออาชีพมาเป็นเวลายาวนาน และถือได้ว่าได้ขยายส่งทางสื่อออกไปหลายช่องทางทั้งทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์และสื่ออนไลน์ที่เข้าถึงคนเป็นจำนวนมาก และถือว่าเป็นสื่อที่มีอิทธิพลทางความคิดของสังคมที่แข็งแกร่งสื่อหนึ่ง

หากเสียฐานสื่อมืออาชีพฐานนี้ไป อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสูญเสียสื่อมวลชนมืออาชีพไปทีละองค์กร จากการเข้ามายึดครองสื่อจากกลุ่มทุนใหญ่ และนำเอาสื่อจอมปลอมสวมแทนจนไม่เหลือสื่อมืออาชีพอีกต่อไป ซึ่งจุดนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของทฤษฎีโดมิโน่ ที่เห็นการโค่นล้มสื่อวิชาชีพอย่างสิ้นทราก โดยการล้มโดมิโน่ตัวแรกให้สำเร็จ

มีนักธุรกิจมากมายที่เป็นเจ้าของกิจการประเภทเดียวกันมากกว่าหนึ่งกิจการ ทำไมการเป็นเจ้าของสถานีสองช่องจึงเป็นปัญหา ?

เพราะการเป็นเจ้าของสถานีข่าวถึงสองช่อง ย่อมหมายถึงการผูกขาด การกำหนดทิศทางการนำเสนอข่าวสารให้เป็นไปตามที่ต้องการ เช่นเดียวกับบทบาทการตรวจสอบของสื่อในสังกัดที่จะกลายไปในทิศทางเดียวกัน 

ดังนั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันการเป็นเจ้าของสถานีประเภทเดียวกันมากกว่าหนึ่งสถานีว่า  

​นิติบุคคล 1 ราย เข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลได้สูงสุด 3 ช่อง  และห้ามประมูลช่องรายการประเภทเดียวกัน และห้ามประมูลช่องเอชดี พร้อมกับช่องข่าว 

​นอกจากนี้ กสทช. ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ห้ามผู้ถือหุ้นที่มีผลประโยชน์ร่วมกับบริษัทที่เข้าร่วมประมูล  ถือหุ้นเกิน 10% เพราะถือว่าเข้าข่ายเป็นนิติบุคคลเดียวกัน 

​กรณี SLC ซึ่งมีช่องข่าวสปริงนิวส์ได้เข้ามาถือหุ้นใน NMG  ซึ่งเป็นเจ้าของช่องข่าวเนชั่นทีวี จึงเป็นการถือหุ้นเกินหลักเกณฑ์การประมูล และขัดต่อเจตนารมณ์ของ กสทช. 

แม้ว่าในเบื้องต้น คณะกรรมการ กสทช.  จะมีความเห็นที่แตกต่าง ในการตีความว่า 

กฎหมายถือหุ้นไขว้ข้ามสื่อ ไม่มีผลหลังการประมูลทีวีดิจิทัล หรือไม่ ? แต่เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2558 เมื่อคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฏหมาย กสทช.ได้ประชุมหารือร่วมกัน  มีข้อยุติ  หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ ฯ เป็นหลักเกณฑ์ ที่ต้องรักษาไว้ และยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ หลังการประมูลด้วย  เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายระบุไว้ชัดเจน   

​นอกจากประเด็นการผูกขาด โดยเป็นเจ้าของช่องดิจิตอลประเภทเดียวกันเกินกว่า 1 ช่องแล้ว การเข้าถือหุ้น NMG ของ  SLC ยังขัดกับเป้าหมายการปฏิรูปสื่อ ที่ต้องการคุ้มครองการทำหน้าที่ของสื่อไม่ให้ถูกแทรกแซงโดยรัฐและกลุ่มทุน ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ กำลังขับเคลื่อนร่วมกับภาคสังคมในขณะนี้

การซื้อหุ้นเดอะเนชั่น เป็นการลงทุนหรือเก็งกำไรในตลาดหุ้นแบบปกติมิใช่หรือ

การรุกคืบด้วยการถือหุ้นจำนวนมากโดยไม่ทราบเจตนาที่แท้จริง ทำให้สังคมรู้สึกถึงจุดอ่อนของการดำรงอยู่ของสื่อวิชาชีพในตลาดทุน ธุรกิจสื่อมวลชน มิใช่ธุรกิจที่ทำกำไรสูง หรือหวือหวาเช่นธุรกิจประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อทีวี เพราะมีการลงทุนสูง ได้กำไรช้า จึงเป็นการผิดสังเกตุที่มีนายทุนนำเงินจำนวนกว่าสองพันล้านมาทุ่มซื้อหุ้นเดอะเนชั่นในตลาดหุ้น และเจ้ามาถือหุ้นรวมกันเกิน 30% ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเข้ามายึดกิจการ หรือเปลี่ยนนโยบายการดำเนินงานของ NMG

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: