เครื่องบินตกปี 2557 สูญเสียมากสุดรอบ 5 ปี-ความปลอดภัยสายการบินเอเซียต่ำ

ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ 5 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 4468 ครั้ง

ข้อมูลจาก The Bureau of Aircraft Accidents Archives (B3A) อันเป็นหน่วยงานที่เก็บรวบรวมสถิติเครื่องบินตก พบว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ในปี 2553 มีเครื่องบินตก 162 ลำ ในปี 2554 มีเครื่องบินตก 155 ลำ ในปี 2555 มีเครื่องบินตก 155 ลำ ในปี 2556 มีเครื่องบินตก 139 ลำ และในปี 2557 ที่ผ่านมามีเครื่องบินตก 120 ลำ

แต่ในด้านความสูญเสียนั้นพบว่าในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตก 1,130 คน  ในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตก 828 คน ในปี 2555 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตก 800 คน ในปี 2556 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตก 459 คน และในปี 2557 ที่ผ่านมา แม้จะมีเหตุเครื่องบินตกน้อยครั้งกว่า แต่กลับมีผู้เสียชีวิตมากถึง 1,329 คน

จำนวนเครื่องบินที่ตก 5 ปีหลังสุด (2010-2014)

ที่มา: baaa-acro.com (เข้าถึงข้อมูลออนไลน์เมื่อเดือน ก.พ. 2558)

จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตก 5 ปีหลังสุด (2010-2014)

ที่มา: baaa-acro.com (เข้าถึงข้อมูลออนไลน์เมื่อเดือน ก.พ. 2558)

เอเชียอ่วม อุบัติเหตุหนักสุด

แม้ว่าในปี 2557 จะถือว่าปีที่ปลอดภัยที่สุดเมื่อวัดในแง่ปริมาณการบินทั่วโลก เพราะมีอัตราการตกของเครื่องบินต่ำสุด ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากมีการปรับปรุงการออกแบบเครื่องบิน การฝึกหัดนักบินและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั่วโลกดีขึ้นตามลำดับ แต่กระนั้นสายการบินในภูมิภาคเอเชียกับสร้างความสูญเสียชีวิตของผู้โดยสารมากที่สุด โดยอุบัติเหตุที่เลวร้ายที่สุดของสายการบินจากทวีปเอเชียในปี 2557 ที่ผ่านมา อาทิ

-กุมภาพันธุ์ เครื่องบิน De Havilland DHC-6 Twin Otter ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบใบพัดคู่ของสายการบิน Nepal Airlines ประสบอุบัติเหตุตกทำให้ผู้โดยสารบนเครื่องเสียชีวิตไป 18 คน นับเป็นอุบัติเหตุทางการบินครั้งที่ 7 ของสายการบินเชิงพาณิชย์ของเนปาล นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินของสายการบินเชิงพาณิชย์ตกในปี 2551

-มีนาคม เครื่องบิน Boeing 777-200 ของสายการบิน Malaysia Airlines หายสาบสูญไปในมหาสมุทรอินเดีย คาดมีผู้เสียชีวิต 239 คน

มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของภูมิภาคเอเชีย ยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่จนนำไปสู่การก่อให้เกิด อุบัติเหตุหลายต่อหลายครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมา

-พฤษภาคม เครื่องบิน Antonov AN-74 ของรัฐบาลลาว ตกบริเวณแขวงเชียงขวาง บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ มีผู้เสียชีวิต 16 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนรวมทั้งรัฐมนตรีป้องกันประเทศของลาว ทั้งนี้เมื่อเดือนตุลาคมปี 2556 ลาวก็เพิ่งเกิดเหตุสลดจากการที่สายการบินแห่งชาติของลาวประสบอุบัติเหตุตกลงในแม่น้ำโขง มีผู้เสียชีวิต 49 คน ครั้งนั้นถือเป็นเหตุเครื่องบินตกที่เลวร้ายที่สุดของสายการบินของลาวนับตั้งแต่ปี 2497 เป็นต้นมา

-กรกฎาคม เครื่องบินเล็ก ATR72-500 ของสายการบิน Trans Asia ของไต้หวัน ตกที่กลางหมู่เกาะเผิงหู มีผู้เสียชีวิต 48 คน

-กรกฎาคม เครื่องบิน Boeing 777-200 ของสายการบิน Malaysia Airlines ถูกยิงตกในแคว้นโดเนตสก์ ทางตะวันออกของยูเครนซึ่งพื้นที่สู้รบระหว่างกองทัพยูเครนกับกองกำลังติดอาวุธฝักใฝ่รัสเซีย มีผู้เสียชีวิตรวม 298 คน

-ธันวาคม เครื่องบิน Airbus A320 ของสายการบิน Air Asia ของอินโดนีเซีย ตกในทะเลชวา มีผู้เสียชีวิตรวม 162 คน

เครื่องบิน Boeing 777-200 ของสายการบิน Malaysia Airlines ถูกยิงตกในยูเครน มีผู้เสียชีวิตรวม 298 คน ซึ่งถือว่าเป็นอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ร้ายแรงที่สุดในปี 2014 (ที่มาภาพ: baaa-acro.com)

ทั้งนี้มีการวิเคราะห์กันไว้หลายประเด็น เช่น เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่เครื่องบิน  Boeing 777-200 เที่ยวบิน MH 370 ของสายการบิน Malaysia Airlines หายสาบสูญไปในมหาสมุทรอินเดียนั้น ประเด็นเรื่องความหละหลวมในด้านความปลอดภัยถูกหยิบยกมาพูดถึงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภายหลังจากทางการของมาเลเซีย เปิดเผยชื่อผู้โดยสาร 239 คน ที่โดยสารในเที่ยวบิน MH 370 ออกมาโดยมีทั้งชาว จีน มาเลเซีย สหรัฐ ยูเครนออสเตรีย และอิตาลี แต่หลังจากนั้นกระทรวงต่างประเทศของออสเตรียกับอิตาลีได้ออกมาปฏิเสธว่ารายชื่อชาวออสเตรียกับอิตาลี ที่ระบุว่าเป็นผู้โดยสารบนเครื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากทางการของทั้งสองประเทศยืนยันว่าบุคคลทั้งสองยังปลอดภัยดีอยู่และเป็นไปได้ว่าหนังสือเดินทางที่ถูกนำไปใช้ในเครื่องบินเที่ยวดังกล่าวเป็นหนังสือเดินทางที่ทั้งคู่ถูกขโมยไปเมื่อหลายปีก่อนในระหว่างมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งกรณีนี้ทำให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นว่าสายการบิน Malaysia Airlines อาจจะตกเป็นเหยื่อของขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ ที่อาศัยหนังสือเดินทางที่โดนขโมยมาและแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นใช้ในการแอบแฝงตัวเพื่อขึ้นเครื่องบินพร้อมกับลงมือก่อวินาศกรรมขึ้น

และล่าสุดเมื่อเครื่องบิน Airbus A320 ของสายการบิน Air Asia ของอินโดนีเซีย ตกในทะเลชวา มีผู้เสียชีวิตรวม 162 คน เมื่อเดือนธันวาคม 2557 นักวิเคราะห์ก็ออกมาพูดถึงความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพของระบบควบคุมการจราจรทางอากาศในภูมิภาคนี้ว่ามีความแออัดเกินไปหรือไม่ ถึงแม้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าหน่วยงานส่วนนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่อง Air Asia เอเชียตกส่งท้ายปี

ชนชั้นกลางเติบโต อุตสาหกรรมการบินเอเชียคึกคัก แต่ความพร้อมมีเพียงพอหรือไม่?

ทั้งนี้อุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชีย ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วโดยมีแรงหนุนจากจำนวนชนชั้นกลางที่กำลังเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตขึ้นจากปัจจุบันที่ 500 ล้านคน ขึ้นไปอยู่ที่ 1,700 ล้านคนในปี 2573 ซึ่งจากรายงานของบริษัท Boeing ผู้ผลิตเครื่องบินจากสหรัฐอเมริกา ประเมินไว้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะครองสัดส่วนเกือบร้อยละ 50 ของการขยายตัวในอุตสาหกรรมการบินทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งมีปริมาณการสั่งซื้อเครื่องบินอีก 12,820 ลำ มูลค่าถึงประมาณ 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว

แต่กระนั้น มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของภูมิภาคเอเชียยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่จนนำไปสู่การก่อให้เกิดอุบัติเหตุหลายต่อหลายครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งมาตรฐานการบินของหลายประเทศในเอเชียก็พบว่ายังมีปัญหาเช่น เมื่อปี 2557 องค์การการบินพลเรือนของสหรัฐอเมริกา (FFA) ได้ลดระดับความปลอดภัยมาตรฐานการบินของสายการบินจากอินเดียลง หลังจากเข้าทำการตรวจสอบการวัดมาตรฐานขององค์การกำกับดูแลด้านการบินของอินเดีย

ส่วนในลิสต์รายชื่อของสายการบินที่ต้องจับตาและระมัดระวังในด้านความปลอดภัยของสหภาพยุโรปหรืออียูนั้น มีสายการบินของอินโดนีเซียหลายแห่งยังติดโผนี้อยู่ด้วย สืบเนื่องมาจากเหตุเครื่องบินโดยสาร Sukhoi ของรัสเซีย ตกลงที่อินโดนีเซียเมื่อปี 2555 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 45 คน โดยรายงานผลการสอบสวนเหตุครั้งนั้นระบุว่า ขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่คนหนึ่งซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่หอบังคับการบินในกรุงจาการ์ตาต้องรับภาระอันเกินกำลัง เมื่อต้องคอยติดต่อกับเครื่องบินพร้อมกันถึง 14 ลำเลย

นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวว่าที่เวียดนามเมื่อปี 2557 เครื่องบิน 2 ลำเกือบชนกันที่ท่าอากาศยานดานัง เพราะเด็กฝึกงานผู้หนึ่งถูกปล่อยให้รับผิดชอบหน้าที่ควบคุมการจราจรบนรันเวย์ที่แออัดเพียงลำพัง รวมทั้งอีกปัญหาที่มีความกังวล นั่นก็คือปัญหาการขาดแคลนนักบินที่มีประสบการณ์รองรับกับอุตสาหกรรมสายการบินที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในภูมิภาค โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดอยู่ในปัจจุบัน

หมายเหตุ: ตัวเลขเหตุเครื่องบินตกและผู้เสียชีวิตในรายงานชิ้นนี้อ้างอิงจาก The Bureau of Aircraft Accidents Archives (B3A) จากเว็บไซต์ baaa-acro.com (เข้าถึงข้อมูลออนไลน์เมื่อเดือน ก.พ. 2558)

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
จับตา: สถิติเครื่องบินตกระหว่างปี 2553-2557

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: