เปิดบัลลังก์ศาลทหารไทยในยุค คสช. พลเรือนไร้สิทธิประกัน-ปิดลับวิธีพิจารณา 

ธนาธร ทนานนท์ : TCIJ School รุ่นที่ 2 4 มิ.ย. 2558 | อ่านแล้ว 5188 ครั้ง

รายงานเผยภายหลัง คสช.ใช้ศาลทหารดำเนินคดีเอาผิดผู้ถูกกล่าวหาว่าขัดขืนคำสั่งให้รายงานตัว กรณีมีอาวุธไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายและคดีเกี่ยวกับการเมือง  พลเรือนเกือบร้อยถูกนำขึ้นศาลทหารเข้าคิวพิจารณา ไร้สิทธิประกัน อุทธรณ์  อ้างใช้เพื่อเร่งคดีการเมือง ฮิวแมนไรต์วอทช์ชี้ เผด็จการทั่วโลกยังไม่ใช้ศาลทหาร  แนะเลิกนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร 

“ในโลกนี้ไม่มีพลเรือนขึ้นศาลทหาร”  นี่คือคำกล่าวที่อาจสรุปสถานการณ์กระบวนการยุติธรรม ที่ใช้จัดการกับความขัดแย้งทางการเมืองหลายประเทศ ได้อย่างดีที่สุด

แม้จะมีผู้โต้แย้งว่า การใช้ศาลทหารกับพลเรือนเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ก่อนการรัฐประหารประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่มีการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด เพื่อให้การรักษาความสงบของบ้านเมืองเป็นไปอย่างเรียบร้อย จึงสมควรใช้กฎอัยการศึกและศาลทหาร

ในอดีต ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศต่างๆ ต่างผ่านประสบการณ์ความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความไร้ประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมและการตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองแบบเผด็จการทหารมาแล้วทั้งสิ้น แต่ไม่เคยมีประเทศใด ใช้ศาลทหารกับพลเรือน

ตาราง 1: ตารางเปรียบเทียบสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศต่างๆและการใช้ศาลทหาร

ประเทศ

การครองอำนาจ

การละเมิดสิทธิมนุษยชน

การใช้ศาลทหาร

ประเทศฟิลิปปินส์

ประธานาธิบดีมากรอส[1]

การฆ่านอกระบบ การบังคับให้สูญหาย มากกว่า 1,000 กรณี[2]

ไม่ใช้

ประเทศอินโดนีเซีย

ประธานาธิบดีซูฮาร์โต[3]

การคอรัปชั่นอย่างร้ายแรง การจำกัดเสรีภาพในการรวมกุม การซ้อมทรมาน และการปราบปรามคนกลุ่มน้อย[4]

ไม่ใช้

ประเทศพม่า

ประธานาธิบดี
พลเอกเต็ง เส่ง[5]

การปราบปรามชนกลุ่มน้อย ความขัดแย้งทางศาสนา การจับกุมนักโทษทางการเมือง มากกว่า 1,100 คน[6]

ไม่ใช้

ขณะที่ประเทศไทย เมื่อครั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในคดีความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คดีเกี่ยวกับความมั่นคง ความผิดต่อชีวิต ร่างกาย ขึ้นสู่ศาลทหาร แต่ในทางปฏิบัติ พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาต่างๆก็ถูกดำเนินคดีในศาลทหารกรุงเทพ

หลังการรัฐประหาร 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557, 38/2557, และ 50/2557 กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ความผิดเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธ และความผิดอื่นๆที่เกี่ยวโยงกัน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารทั้งหมด

ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและในโลก ที่พลเรือนถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร

พลเรือนในศาลทหาร

แม้ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนถึงจำนวนพลเรือนที่อยู่ภายใต้ศาลทหาร แต่จากการรวบรวมพบว่า มีพลเรือนอย่างน้อย 70 รายที่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร แบ่งเป็น ภาคอีสาน 27 ราย ภาคเหรือ 9 ราย ภาคกลาง 1 ราย และกรุงเทพมหานคร มีอย่างน้อย 32 ราย[7] รวมอย่างน้อย 70 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง

ตาราง 2: จำนวนพลเรือนที่ขึ้นศาลทหารในคดีต่างๆ[8]

ประเภทคดี

จำนวนพลเรือนที่ถูกดำเนินคดี

คดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งรักษาความสงบแห่งชาติ

9

คดีฝ่าฝืนข้อห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน

18

คดีครอบครองอาวุธ

34

คดีดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

11

ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในบ้านเมือง

2

อื่นๆ

2

 

หมายเหตุ: พลเรือน 1 คน อาจถูกดำเนินคดีในหลายคดี เช่น ถูกดำเนินคดีทั้งข้อหาไม่ไปรายงานตัวและข้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

กองทัพอ้าง ศาลทหารดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชน

ก่อนหน้านี้แม่ทัพภาค 3 และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อธิบายถึงวิธีพิจารณาคดีของศาลทหารว่า ดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วยความยุติธรรม ตามที่ทั่วโลกยอมรับทุกประการ แต่เมื่อเปรียเทียบวิธีพิจารณาคดีของศาลทหารกับศาลยุติรรม พบว่า พลเรือนกลับไม่ได้สิทธิประกันตัว อุทธรณ์ อีกทั้งวิธีพิจารณาคดียังถูกปิดลับ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าฟังได้

ตาราง 3: แนวทางการปฏิบัติระหว่างศาลทหารและศาลพลเรือน ในคดีการเมือง[9]

 

ศาลพลเรือน

(ศาลยุติธรรม)

ศาลทหาร

ภายใต้กฎอัยการศึก

ผู้ที่ถูกจับ

ประชาชนทั่วไปที่ทำผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญา

ประชาชนที่ทำผิดในเรื่อง

1. สถาบันพระมหากษัตริย์

2. ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

3. ครอบครองอาวุธ

4. ความผิดตามประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

5. ความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับข้อ 1-4

การสอบสวน

เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้สอบสวน โดยต้องรวบรวม

1. พยานหลักฐานที่พิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา

2. พยานหลักฐานที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

3. พยานหลักฐานที่บรรเทาโทษผู้ต้องหา

เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้สอบสวน ในระยะเวลากักตัว 7 วัน ภายใต้กฎอัยการศึก

ก่อนฟ้องคดี

หากยังรวบรวมพยานหลักฐานไม่แล้วเสร็จ ผู้ต้องหายังไม่ถูกคุมขังในเรือนจำ

ผู้ต้องหาผู้คุมขังในเรือนจำทันที ภายหลังการกักตัว 7 วัน

ยื่นฟ้อง

จำเลยมีสิทธิให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ในกรณีที่ไม่มีทนายความ ศาลต้องจัดหาทนายความให้จำเลย เรียกว่า “ทนายขอแรง”

จำเลยมีสิทธิให้การหรือไม่ให้การก็ได้ หากจำเลยไม่มีทนายความ ศาลไม่สามารถหาให้ได้

การประกันตัว (ในคดี 112)

โดยหลักศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

โดยหลักศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

การพิจารณาคดี เกี่ยวกับความมั่นคง

1. พิจารณาคดีโดยเปิดเผย ทุกคนสามารถเข้าฟังได้

2. สามารถจดบันทึกได้

1. พิจารณาคดีลับ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าฟังได้ (ในคดี 112)

2. ห้ามจดบันทึก

ผู้พิพากษา

องค์คณะ 3 คน ต้องจบกฎหมายและเนติบัณฑิต

องค์คณะ 3 คน เป็นทหารทั้งหมด โดยจบกฎหมาย 1 คน และอีก 2 คน ไม่ต้องจบกฎหมาย

คำพิพากษา (ในคดี 112)

กรณีรับสารภาพ ลงโทษ 5 ปี

กรณีรับสารภาพ ลงโทษ 10 ปี

การอุทธรณ์ฎีกา

จำเลยสามารถอุทธรณ์ฎีกาได้

จำเลยสามารถไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้

ผู้บังคับบัญชา

ประธานศาลฎีกา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

 

จากตารางข้างต้น จึงเห็นได้ว่าการใช้ศาลทหารในเวลาไม่ปกติเป็นการตัดตอนกระบวนการยุติธรรม ทำให้ คำพิพากษาหรือคำสั่งจึงยุติอยู่ที่ศาลทหารชั้นต้น เพื่อต้องการให้คดีเสร็จไปโดยเร็ว[10] สอดคล้องกับความเห็นของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.  ที่ต้องการคงกฎอัยการศึก ทำให้การสอบสวนต่างๆดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว[11]

จากศาลทหารสู่มาตรา 44  

1 เมษายน ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ลงนามยกเลิกกฎอัยการศึกและใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งออกโดยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ในการรักษาความสงบเรียบร้อย อันเป็นการให้อำนาจอย่างไม่มีข้อจำกัดแก่หัวหน้า คสช. ในด้านการใช้ศาลทหาร แม้ว่าเมื่อยกเลิกกฎอัยการศึกจะไม่ทำให้เป็นศาลทหารในสถานการณ์พิเศษ แต่หากเป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2558 จำเลยก็ยังไม่สามารถอุทธรณ์ได้

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2558 ซึ่งให้ศาลสามารถตั้งทนายขอแรงให้แก่จำเลยในคดีที่มีโทษร้ายแรงได้  อย่างไรก็ตามการแก้ไขดังกล่าวองค์กรสหประชาชาติมีข้อกังวลว่าจะทำให้นายทหารมีอำนาจคุมตัวพลเรือนได้ โดยไม่ต้องมีหมายศาล และสามารถใช้อำนาจกักขังได้นานถึง 84 วัน อันเป็นการขัดกับหลักการสากล

ฮิวแมนไรต์วอทช์ แนะเลิกนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอทช์ ประจำประเทศไทย เห็นว่า หลักการที่สำคัญที่สุดคือพลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร และหลักประกันความยุติธรรมตามมาตรฐานสากลต้องถูกรับรอง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในศาลทหารไทย เพราะศาลขาดความเป็นอิสระ ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการนำศาลทหารมาใช้กับคดีทางการเมือง ซึ่งคือใช้กับพลเรือน ดังนั้น ข้อเรียกร้องมีเพียงอย่างเดียวและไม่สามารถผ่อนปรนได้คือ ยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร

เพื่อพิจารณาถึงข้อกฎหมายระหว่างประเทศ คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้โอนจำเลยในศาลทหารไปสู่ศาลพลเรือน เนื่องจากขัดกับกติการะหว่างเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรายงานของสหประชาชาติได้ระบุเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน[12]

ท้ายสุด กระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหารที่เกิดขึ้น  อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

อ่าน 'จับตา': “คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ม.44”  
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5593



[1] เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (11 กันยายน 2460 - 28 กันยายน 2532) ประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์ ครองอำนาจระหว่าง 30 ธันวาคม 2508 – 25 กุมภาพันธ์ 2529

[2] Karapatan Monitor, https://www.karapatan.org/files/2010_KarapatanMonitor_Jan-March.pdf, (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2558)

[3]  ซูฮาร์โต (8 มิถุนายน พ.ศ. 2464 - 27 มกราคม พ.ศ. 2551) ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอินโดนีเซีย ครองอำนาจระหว่าง 12 มีนาคม  2510 – 21 พฤษภาคม 2541

[4] Indonesia: Suharto’s Death a Chance for Victims to Find Justice, https://www.hrw.org/news/2008/01/27/indonesia-suharto-s-death-chance-victims-find-justice, (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2558)

[5] พลเอกเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า อยู่ในอำนาจตั้งแต่มีนาคม 2554 ก่อนหน้านั้นสหภาพพม่า อยู่ภายใต้การปกครองของพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย และพลเอกอาวุโส ซอ หม่อง ซึ่งเป็นผู้นำเผด็จการของรัฐบาลทหารของพม่า ตั้งแต่กันยายน 2531 – มีนาคม 2554

[6] BURMA 2013 HUMAN RIGHTS REPORT, https://www.state.gov/documents/organization/220394.pdf, (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2558)

[7] ประมวลตัวเลขจาก ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย ไอลอว์, https://ilaw.or.th/node/3119, (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2558)

[8] อ้างแล้ว.

[9] สภาพปัญหาการพิจารณาคดีภายในศาลทหาร สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “รายงานสถานการณ์สิทธิของพลเรือนไทยภายใต้ศาลทหารและกฎอัยการศึกปี 2557” โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน https://tlhr2014.wordpress.com/2015/01/23/รายงานสถานการณ์สิทธิขอ/

[10] สายันต์ ขุนขจี. พันตรี. ระบบของศาลทหาร. วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. พ.ศ. 2549. https://digi.library.tu.ac.th/thesis/la/0417/, (เข้าถึงเมื่อ 30 มกราคม 2558)

[11] พลเอกประยุทธ์" ย้ำ ไม่เลิกกฎอัยการศึก ชี้ทำให้การสอบสวนรวดเร็ว ไม่ต้องขอหมายศาล, https://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1418715352, (เข้าถึงเมื่อ 30 มกราคม 2558)

[12] Thailand: transfer all civilians to civilian courts, https://www.icj.org/thailand-transfer-all-civilians-to-civilian-courts/, (เข้าถึงเมื่อ 30 มกราคม 2558)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: