ฟิสิกส์ล้านนา

ชัชวาล ปุญปัน อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 พ.ค. 2558 | อ่านแล้ว 2622 ครั้ง


กล่าวได้ว่าฟิสิกส์ตะวันตก คือคำอธิบายธรรมชาติของโลกรอบตัวเรา ด้วยจารีตทางความคิดแบบหนึ่งที่มีอิทธิพลมาช้านาน

ต่างจากตะวันออกที่ไม่แยก us ออกจาก the world ไม่มีใคร around ใคร ดังนั้น การมองโลกจึงแตกต่างกันตั้งแต่ทัศนะพื้นฐาน  คำอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ เรื่อยมาจนกระทั่งถึงวิธีคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีและท่าทีต่อเทคโนโลยีเลยทีเดียว

วิทยาศาสตร์ตะวันตกยอมรับความจริงที่สามารถชั่ง-ตวง-วัด ได้ ทดลองให้เห็นประจักษ์ได้ ทุกสิ่งจึงจำเป็นต้องมีเกณฑ์มาตรฐานที่เป็นทั้ง ภาษา และสิ่งอ้างอิงร่วมกัน หรือเรียกว่าต้องมีมาตรฐานร่วมกัน

“ระบบหน่วย” จึงเป็นมาตรฐานที่แสดงโครงส้รางทางความคิด กำหนดท่าทีการมองธรรมชาติ รวมถึงท่าทีที่มนุษย์จะปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วย

หน่วยมากมายที่ใช้สื่อสารกันในทางวิทยาศาสตร์นั้น จริงๆ แล้วมีพื้นฐานอยู่แค่ 7 หน่วย และ 3 ใน 7 คือหน่วยความยาว (เมตร)  หน่วยเวลา (วินาที) และหน่วยมวล (กิโลกรัม)  โดยทุกหน่วยจะมีขนาดเท่าใดก็ต้องไปเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน  เช่น  เวลาเทียบเอาจากนาฬิกาซีเรียม (cerium clock)เป็นมาตรฐาน มีไม้เมตรมาตรฐาน มีมวลมาตรฐานให้ประเทศต่างๆเทียบเอาไปใช้

สรุปแล้ว ความเป็นมาตรฐานเกิดจากสิ่งภายนอก เป็นเรื่องของวัตถุที่ใช้เทียบวัดกำหนดหมายกัน แล้วพูดกันในภาษาของระบบหน่วย แต่หน่วยพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ตะวันออก กลับแสดงความสัมพันธ์ระหว่างภายในกับภายนอกอย่างเป็นระบบ คือเทียบกลับไปกลับมาระหว่างรูปธรรมกับนามธรรม เชื่อมโยงจากภายในจิตใจไปสู่โลกภายนอกอย่างน่าสนใจ

คัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา ของ พระสิริมังคลาจารย์แห่งล้านนา ผู้เกิดร่วมสมัยกับโคเปอร์นิคัส (Nicholaus Copernicus) ได้รจนาคัมภีร์อธิบาย the world around us ไว้เช่นเดียวกับฟิสิกส์ตะวันตก แต่มีวิธีคิดแตกต่างกัน  คำอธิบายธรรมชาติก็เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น “ระยะ” หรือ”ขนาด” ที่เล็กที่สุด มีชื่อหน่วยว่าปรมาณู  คำว่า “ปรมาณู”นี้เป็นคำเดิมที่ใช้กันมานานก่อนที่จะเอามาเป็นคำแปลของคำว่า atom  ซึ่งจริงๆแล้วมีความหมายต่างกันมาก atom หมายถึงแบ่งจนแบ่งไม่ได้ ( invisible) ซึ่งยังเป็นเรื่องของวัตถุอยู่ แต่ปรมาณูในคัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา ท่านให้ความหมายว่าเป็น “ละอองละเอียด ควรแก่อารมณ์ของทิพยจักษุ หาเป็นอารมณ์ของประสาทจักษุไม่”  และอีกความหมายหนึ่งคือ “ย่อมไหว”

ดังนั้น ในมิติของระยะทางหรือความยาวนี้ แม้ส่วนที่ละเอียดที่สุดเกินพิสัยอินทรีย์ของมนุษย์  ในทัศนะของฟิสิกส์ตะวันออกแล้วเป็นเรื่องของนามธรรม เป็นเรื่องของความเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง ไม่คงตัว แต่แปร เปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยตลอดเวลา  คือชื่อหน่วยจะบอกความหมายไว้เลย ต่างจากคำว่า meter (เมตร) ซึ่งไม่มีความหมายนี้

คำว่า “วีหิ” เป็นหน่วยย่อยสุดของการชั่งน้ำหนัก และคำนี้มีความหมายน่าสนใจมาก “วีหิ” คือเมล็ดข้าวเปลือก เมื่อแจกแจงโดยศัพท์หมายถึง “ย่อมชุบเลี้ยงชีวิตสัตว์ทั้งหลาย”  ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ kilogram มาตรฐานที่ทำด้วยโลหะ platinum / iridium / alloy  ซึ่งไม่มีคุณสมบัติหล่อเลี้ยงชีวิตสัตว์ทั้งหลายแต่อย่างใด

มิติของมวลน้ำหนักดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเป็นของใหญ่โตขนาดไหน ก็ยังไปโยงเข้ากับชีวิตและเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตอยู่ตลอดเวลา ยิ่งมิติของเวลาด้วยแล้ว ยิ่งไม่แยกจากลมหายใจของมนุษย์เลย คำว่า “วินาที” ที่เราใช้กันมานาน ก่อนจะเอามาเป็นคำแปลของคำว่า second นั้น มีความหมายแตกต่างกัน และหน่วยวินาทียังมีหน่วยย่อยเป็น “ปราณ”  ซึ่งคือลมหายใจเข้าออกของมนุษย์  และย่อยไปอีกเป็น “อักษร”

จากอักษรหรืออักขระ – เป็นปราณ – จากปราณเป็นวินาที  ไปจนเป็นวัน-คืน-เดือน-และปีสืบเนื่องต่อกันไป  จากการคำนวณโดยใช้มาตรวัดเวลาใน ภูมิคณนากถา พบว่าเวลาที่โลกโคจรรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ ประมาณเท่ากับเราหายใจเข้าออก 7.76 ล้านครั้ง

การตระหนักรู้ว่าการหายใจเข้าออกของมนุษย์ กับการเคลื่อนที่ของเอกภพเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เป็นโลกทัศน์ที่ขาดหายไปจากวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ที่เน้นการมองโลกแบบแยกส่วนมานาน

ยังมีความหมายและคุณค่าในเรื่องอื่นๆที่ควรยกมากล่าวถึงอีก เช่น คำว่า “ภาระ” ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของหย่วยมวล (ในภาษาฟิสิกส์)  หรือน้ำหนัก (ในภาษาชาวบ้าน) คำว่าภาระ ปรากฎเป็นหน่วยของการชั่งที่เทียบได้กับ kilogram แต่ก็ให้ความรู้สึกต่างกันมาก  เช่น  ถ้าเราพูดว่า”ขยะ 10 กิโลกรัม” กับ”ขยะ 10 ภาระ”นั้น  คำว่าภาระให้นัยยะแห่งความรับผิดชอบอยู่ด้วย ในขณะที่ไม่มีความหมายนี้ใน kilogram

ในส่วนความเร็วของเทคโนโลยีทั้งหลาย เราบอกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็มองเห็นเป็นวัตถุภายนอกทั้งสิ้น แต่ถ้ามองจากฟิสิกส์ล้านนา คำว่า “ตัชชารี”  ซึ่งเป็นหน่วยวัดระยะทาง มีความหมายว่า ชรา,ความเสื่อม  และคำว่า “วา” อันเป็นหน่วยวัดระยะทางเช่นกัน มีความหมายอีกอย่างหนึ่งคือ ความเพียรพยายาม (วยามะ)

ความเร็วในมิติทางนามธรรม จึงหมายความได้ทั้งความเพียรพยายามต่อหน่วยเวลา หรือความเสื่อมไปในหน่วยเวลาก็ได้ กล่าวคือ ยิ่งเร็วมากยิ่งต้องใช้ความพยายามมาก ยิ่งเร็วมากยิ่งเสื่อมเร็ว

คำอธิบายธรรมชาติดังกล่าวมาทั้งหมดนี้  สามารถนำไปอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆได้มาก เห็นแง่มุมที่ลึกซึ้งอีกหลายแง่มุม ถ้าจะช่วยกันศึกษาค้นคว้า ก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งของฟิสิกส์ในสังคมไทย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: