บทวิเคราะห์: ปัญหา ‘4 ไร้’ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

กานต์ ยืนยง 3 ก.พ. 2558 | อ่านแล้ว 1634 ครั้ง

ในขณะที่สภาปฏิรูปแห่งชาติกำลัง ‘ออกแบบ’ ระบบเลือกตั้งในร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ก็มีการนำเสนอปัญหาของระบบการเมืองที่เป็นอยู่ออกมาเป็นระยะ แต่ผมเกรงว่าข้อวิเคราะห์ของสมาชิกสภาปฏิรูปบางท่านยังทำได้ไม่แยบคายและไม่รอบด้านพอ เผลอๆ แล้ว เมื่อข้อวิเคราะห์ทำได้ไม่ถูกต้อง การสังเคราะห์ออกมาเป็นทางแก้ไข และในที่สุดเป็นรูปแบบของรัฐธรรมนูญใหม่ อาจผิดพลาดและคลาดเคลื่อนจากการแก้ไขปัญหาที่ควรจะเป็นไปได้ด้วย

(1)

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์คมชัดลึกลงรายงานข่าวการปาฐกถาเรื่อง ‘ทิศทางและอนาคตของการเมืองไทย’ โดย นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองของสภาปฏิรูปแห่งชาติอยู่ด้วย

ความตอนหนึ่ง พาดพิงถึงพรรคการเมืองในประเทศมาเลเซียว่า

“นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วมีการเลือกตั้ง โอกาสที่จะมีกลุ่มการเมืองพรรคเดียวคล้ายกับ ‘อัมโน’ ที่เป็นรัฐบาลผูกขาดของมาเลเซียมีสูงมาก โดยมีพรรคที่ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งเป็นหลัก และมีพรรคร่วมรัฐบาลอีก 3-4 พรรค และมีแนวโน้มผูกขาดเป็นรัฐบาลยาวนานพอสมควร หากไม่มีการทุจริตและบริหารงานดี แต่ถ้ามีการทุจริต มีการโกง ประชาชนก็จะออกมาคัดค้าน ประเทศชาติก็จะจมปลักกับความขัดแย้งเหมือนเดิม”    

ในความเป็นจริงแล้ว การเมืองของมาเลเซีย เป็นการต่อสู้ระหว่าง ‘การเมืองแบบเชื้อชาตินิยม’ กับ ‘การเมืองแบบอุดมการณ์นิยม’ ในขณะที่ฐานการเมืองใน มาเลเซียตะวันออก ในรัฐ ซาบาห์ ซาราวัก และลาบวน มีฐานะเป็น ‘the king maker’ และไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมาเลเซียในภาคพื้นทวีปมากนัก

พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเรียกว่า ‘แนวร่วมแห่งชาติ’ หรือ Barisan Nasional, บาริซัน เนชันแนล (บีเอ็น) ประกอบไปด้วย พรรคอัมโน (ตัวแทนเชื้อชาติมลายู), พรรคสมาคมจีนมาเลย์ (เอ็มซีเอ-ตัวแทนเชื้อชาติจีน), และพรรคสภาอินเดียมาเลย์ (เอ็มไอซี-ตัวแทนเชื้อชาติอินเดีย) ในภายหลังมีพรรคขบวนการประชาชนมาเลเซีย (เกราคาน-เคยมีฐานมวลชนเป็นคนหัวก้าวหน้า/ปัญญาชนมาเลเซีย มีฐานสำคัญอยู่ที่ปีนัง) เข้ามาสมทบ หลังถูกกำกับกิจกรรมของพรรคภายหลังเหตุการณ์จราจล 12 พฤษภาคม 2512 นอกนั้นก็รวมพรรคเล็กพรรคน้อยในมาเลเซียตะวันออกเข้ามา

ส่วนพรรคการเมืองฝ่ายค้านเรียกว่า ‘แนวร่วมประชาชน’ (Pakatan Rakyat) ประกอบไปด้วย พรรคกิจประชาธิปไตย (ดีเอพี-เป็นพรรคปีกซ้าย), พรรคประชายุติธรรม (พีเคอาร์-เป็นพรรคกลางขวา) และพรรครวมอิสลามมาเลเซีย (พรรคปาส-พรรครณรงค์ศาสนาอิสลาม)

รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติล้วนขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนที่แท้จริง ต่างก็ถือตนว่ามีอำนาจ คิดว่าตนมีความรู้ จึงสามารถตัดสินใจกระทั่งออกแบบอนาคตประเทศชาติตามที่ตนคิดว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้องได้

พรรคการเมืองกลุ่มแรกมักจะมีสมาชิกเป็นคนเชื้อชาติตามที่กำหนดในชื่อของพรรค แต่รวมใต้ร่มแนวร่วมพรรคใหญ่ มหาธีร์มักจะบอกว่าเป็นเสมือนครอบครัวของคนต่างเชื้อชาติกัน ในขณะที่พรรคการเมืองกลุ่มหลังยกเว้นพรรคปาสจะมีลักษณะรวมเอาคนหลากหลายเข้ามาโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ แต่เนื่องจากกระแสประชาธิปไตยแรงขึ้นในมาเลเซีย คนเชื้อสายจีนจึงรวมศูนย์ไปที่พรรคดีเอพีมากขึ้น ประกอบกับการหาเสียงของดีเอพีก็เน้นโจมตีเรื่องความไม่เท่าเทียมของคนมาเลย์และคนเชื้อชาติอื่น ตามนโยบายภูมิบุตรของรัฐบาล ซึ่งจับใจฐานมวลชนคนจีนอย่างมาก ในระยะหลังพรรคอัมโนจึงต้องพยายามหาเสียงแบบเน้นการเมืองเรื่องเชื้อชาติและเอาใจคนมาเลย์มากขึ้น ซึ่งการเมืองแบบนี้มีปัญหาเพราะเสียงของคนมาเลย์พื้นถิ่นจะถูกแบ่งคะแนนไปให้กับพรรคฝ่ายค้านอีกสองพรรค แยกตามแนวทางแบบหัวก้าวหน้า (พรรคพีเคอาร์) หรือไม่ก็เน้นเรื่องศาสนาไปเลย (พรรคปาส)

ที่ผ่านมาแม้แนวร่วมรัฐบาลจะได้ที่นั่ง ส.ส. มากกว่า แต่จำนวนคะแนนป็อบปูลาร์โหวตแพ้แนวร่วมฝ่ายค้าน เนื่องจากลักษณะการกระจายตัวของที่นั่ง ส.ส. ในเขตชนบท ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายรัฐบาล จะมีสัดส่วนมากกว่าที่นั่ง ส.ส. ในเขตเมืองที่มีลักษณะกระจุกตัว ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายค้าน (โดยเฉพาะเขตปีนังและเขตสลังงอร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ด้วย แต่กัวลาลัมเปอร์อยู่ในการปกครองของรัฐบาลกลาง) อันเป็นปัญหาเรื่องความเบี่ยงเบนของเขตเลือกตั้ง (gerrymandering)

การเมืองในการเลือกตั้งสมัยหน้าของมาเลเซีย หากมีแนวโน้มเช่นนี้ต่อไป แนวร่วมฝ่ายค้านอาจมีศักยภาพได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคอัมโนจะมีทางเลือกสองทางคือ สลายการเมืองแบบเชื้อชาตินิยม แล้วจัดตั้งพรรคใหม่ภายใต้ร่มบีเอ็น สลายพรรคต่างๆ แล้วสนับสนุนการเมืองแบบพหุนิยมอย่างแท้จริง หรือทางเลือกอีกทางคือการหาเสียงแบบแบ่งแยกเชื้อชาติหนักขึ้น ในขณะที่วิธีแรกจะใช้เวลายาวนานกว่าและประสบแรงต้านจากทั้งภายในพรรคและภายนอกพรรคเอง แต่คาดหวังความแน่นอนของผลเลือกตั้งได้ยาก ส่วนการหาเสียงด้วยวิธีที่สองใช้เวลาและทรัพยากรน้อยกว่าและสามารถคาดหวังผลการเลือกตั้งได้ระดับหนึ่ง แต่ผลสะท้อนกลับก็คือ จะทำลายที่นั่งของพรรคพี่น้องในแนวร่วมรัฐบาลที่เป็นพรรคของคนเชื้อชาติอื่นไปด้วย แล้วยิ่งจะกีดกันทำให้คนจีนหันไปหาพรรคฝ่ายค้านมากขึ้น นี่จึงเป็นสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของพรรคอัมโนเอง

ดังนั้น แกนกลางของความขัดแย้งในแต่ละประเทศ จึงอยู่ที่ปัญหาอัตลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาในขณะการสร้างชาติหลังได้รับอิสรภาพจากการเป็นประเทศใต้อาณานิคม (ในกรณีของมาเลเซียอยู่ที่นโยบายภูมิบุตรและสถานภาพพลเมืองชั้นหนึ่ง-พลเมืองชั้นสองของเชื้อชาติต่างๆ) ไม่ใช่ปัญหาจากรูปแบบของการเลือกตั้ง/เขตเลือกตั้งโดยตรง

ปัญหาใจกลางหลักของการเมืองไทยก็อยู่ที่ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ด้วยเช่นกัน แต่ไม่มีใครกล้าพอที่จะพูดถึงใน สปช. ชุดนี้ เมื่อไม่มีใครพูดถึงหรือหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างเป็นรูปธรรม วิกฤตการเมืองไทยก็ยังคงอยู่ต่อไปและจะกลายเป็นปัญหาใหญ่หลวงมากยิ่งขึ้นในอนาคต ยิ่งแก้ก็ยิ่งผิด เพราะกลัดกระดุมผิดแต่เม็ดแรกแล้ว

(2)

นอกเหนือจากปัญหาเรื่องระบบการเลือกตั้งแล้ว คุณรสนา โตสิตระกูล ก็เคยเข้าใจผิดและสับสนเรื่อง ‘รถยนต์ใช้ไฮโดรเจน-รถยนต์วิ่งด้วยน้ำ’ มาก่อน

เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&amp%3Bview=article&amp%3Bid=247397%3Aqq-&amp%3Bcatid=176%3A2009-06-25-09-26-02&amp%3BItemid=524#.VCzrb76dLzI รายงานว่า คุณรสนาโพสต์ในเฟสบุ๊คของตัวเองเกี่ยวกับรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนว่า

"รถยนต์วิ่งด้วยน้ำ รัฐบาลที่เห็นว่าการใช้พลังงานของคนไทยสิ้นเปลือง โดยเฉพาะต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป รัฐบาลสมควรพิจารณาส่งเสริมเทคโนโลยีแบบนี้ โดยใช้เงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานมาส่งเสริมการผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำ เพื่อใช้ในรถยนต์แทนน้ำมันจากฟอสซิล ประเทศจะประหยัดเงินได้มากมาย และยังเป็นช่วยสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องพึ่งน้ำมันเกรดยูโร 4”

โดยความเห็นนี้อ้างอิงมาจากเฟสบุ๊คของหม่อมกร เรื่อง ‘รถยนต์วิ่งด้วยน้ำ’  https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=907548289272934&id=605419889485777

สิ่งที่หม่อมกรพูดถึง (แล้วคุณรสนาเอาไปอ้างต่อ) มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่มาก เพราะที่หม่อมกรกำลังพูดถึง คือรถยนต์ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงหรือ Fuel-Cell Vehicle (FCV) ซึ่งกำลังถูกจับตาว่าจะมาเป็นคู่แข่งของรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ประจุไฟฟ้าหรือ Battery Electric Vehicle (BEV)

รถยนต์สองประเภทนี้ในที่สุดแล้วจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน เพราะต้นทางของพลังงานมาจากพลังงานไฟฟ้าทั้งคู่ (พลังงานไฟฟ้านั้นอาจผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือพลังงานทดแทนก็ได้ แต่ตามอุดมคติเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนก็ตั้งสมมติฐานว่าผลิตมาจากพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ทั้งหมด) รถทั้งสองประเภทนี้ต่างกันตรงที่รถแบบ BEV อย่างที่เราเห็นใน Prius หรือพวกไฮบริดทั้งหลาย เก็บพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่แบบลิเธียมอิออนโดยตรง แต่รถแบบ FCV ใช้พลังงานไฟฟ้าในการแยกก๊าซไฮโดรเจนออกจากน้ำ แล้วนำไฮโดรเจนนั้นไปเติมในเครื่องยนต์ที่ทำปฏิกริยากับอ็อกซิเจนแล้วได้พลังงานและคายน้ำออกมา (ในแง่นี้ ไฮโดรเจนจึงไม่ใช่ตัวเชื้อเพลิงโดยตรง แต่เป็นตัวเก็บพลังงาน)

ถ้าดูจากชาร์ตในภาพประกอบ จะเห็นว่ารถแบบ FCV จะสูญเสียพลังงานระหว่างทางมากกว่า คือถ้าต้องการให้ได้พลังงาน 60 kWh เท่ากัน รถแบบ FCV จะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าถึง 202 kWh ในขณะที่รถแบบ BEV จะใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าคือ 79 kWh

ทีนี้หากอัตราการสูญเสียพลังงานระหว่างทางของรถแบบ FCV สู้รถแบบ BEV ไม่ได้ ทำไมรถแบบ FCV ถึงถูกพูดถึงตอนนี้

เรื่องของเรื่องคือบริษัทโตโยต้า ซึ่งเคยร่วมมือกับ Tesla ลงทุนวิจัยรถแบบ BEV จนได้รถอย่าง Prius หรือ Camry Hybrid แล้วมาทำตลาดจนประสบความสำเร็จพอสมควร ในตลาดรถตอนนี้รถใช้แบตเตอรี่หรือรถไฮบริดจ์เริ่มได้รับความนิยม แต่โตโยต้ากลับไปซุ่มเงียบวิจัยรถแบบ FCV และแยกทางกับ Tesla เมื่อเร็วๆ นี้เอง แล้วเปิดตัวรถแบบ FCV ซึ่งตั้งเป้าว่าจะทำตลาดปีหน้า ข้อได้เปรียบของ FCV ที่มีเหนือกว่า BEV คือรถจะวิ่งได้ระยะทางไกลกว่า และการเติมเชื้อเพลิง (ในที่นี้คือเติมไฮโดรเจนหรือตัวเก็บพลังงานมากกว่า) ทำได้เร็วกว่ารถแบบ BEV คือใช้เวลาเพียง 3 นาทีในขณะที่ต้องรอให้ประจุแบตเตอรี่อย่างต่ำครึ่งชั่วโมง (ไม่นับอาจมีกรณีแบตเตอรี่เสื่อมอีก) เวลาที่ใช้ในการเติมไฮโดรเจนจึงแทบไม่ต่างจากการเติมน้ำมัน

ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลญี่ปุ่น (โดย MITI) อนุญาตให้ใช้ขนาดความจุถังไฮโดรเจนขนาดความดัน 875 bar (จากเดิม 700 bar) ทำให้สามารถเคลื่อนที่ได้ไกลขึ้นอีกราวร้อยละ 20 (เป้าหมายคือให้รถเคลื่อนที่ได้ราว 700 กิโลเมตร เมื่อใช้พลังงานจนหมดถังเชื้อเพลิง) นอกจากนี้ ยังมีการแก้กฎหมายให้มีการน้ำเข้าและส่งออกรถยนต์ประเภท FCV ให้ทำได้ง่ายขึ้น แต่ปัญหาใหญ่ของรถแบบ FCV คือ การสร้างสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจน (การสร้างสถานีเติมพลังงานไฟฟ้าให้รถใช้แบตเตอรี่ทำได้ง่ายกว่า เพราะมีโครงข่ายไฟฟ้าอยู่แล้ว) เรื่องนี้เป็นเหมือนไก่กับไข่ รถยนต์จะเกิดก่อนหรือสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจนจะเกิดก่อน (คล้ายกับกรณี NGV/LPG ของบ้านเรา) ค่ายรถอย่างนิสสันถึงยังไม่เห็นด้วยว่ารถแบบ FCV จะเป็นที่นิยมได้จริง

ด้วยปัญหาแบบนี้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ค่ายอื่นจึงมองว่า สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือการเกิดรถยนต์ลูกผสมเทคโนโลยีสองแบบเข้าด้วยกัน หรือเทคโนโลยีแบบ hydrogen fuel cell plug-in hybrid vehicles (FCHEV) แต่อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งก็ระบุว่า กว่าจะถึงเวลาที่รถยนต์ประเภทนี้ถึงจุดคุ้มทุนและเป็นที่นิยมแพร่หลายก็คือในปี 2030 ในขณะนี้ราคารถแบบ FCV ก็ไม่ได้มีราคาถูกมากนัก

(3)

ความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนทั้งสองเรื่องนี้ ซึ่งจะมีผลนำไปสู่การออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งในแง่การออกแบบระบบการเลือกตั้งก็ดีหรือการกำหนดแนวนโยบายเรื่องทรัพยากรพลังงานของประเทศชาติในอนาคตก็ดี (อันที่จริงหากรวมไปถึงปัญหาเรื่องนโยบายที่มีปัญหาในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจดิจิตัล หรือนโยบายรถไฟความเร็วสูง ฯลฯ) ต่างก็ล้วนสะท้อนสภาพพื้นฐานของปัญหาบางอย่างร่วมกัน

นั่นคือ รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ ล้วนขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนที่แท้จริง ต่างก็ถือตนว่ามีอำนาจ คิดว่าตนมีความรู้ จึงสามารถตัดสินใจกระทั่งออกแบบอนาคตประเทศชาติตามที่ตนคิดว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้องได้ แต่อย่างที่ผมยกตัวอย่างสองกรณีมาข้างต้นแล้ว ว่าข้อมูลพื้นฐานมีความผิดพลาดอย่างชัดเจนอย่างไรบ้าง

ปัญหานโยบายหรือการตัดสินใจในวาระเฉพาะหน้าจากรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปัจจุบันอาจหาทางแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลชุดถัดไปได้ แต่ปัญหาการวางรากฐานและการออกแบบรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาพื้นฐานร่วมกันของสังคมในอนาคตอาจมีการแก้ไขได้ยากหรืออาจถึงกับทำการแก้ไขไม่ได้เลย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจะต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า ตนมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมของที่มาที่ไป ในบทความครั้งก่อนของผมที่ตีพิมพ์ใน TCIJ ก็ได้พูดถึงปัญหาความชอบธรรมของสภาปฏิรูปแห่งชาติในแง่ความรับผิดชอบต่อสาธารณะตามหลักธรรมาภิบาล (คือไม่ยอมรับการตรวจสอบจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการไม่ยอมเปิดเผยทรัพย์สินของตนต่อสาธารณะเช่นเดียวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งที่เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินและการกำหนดกรอบกติกาที่สมาชิกในสังคมส่วนใหญ่ต้องยอมรับในอนาคต) http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5256

มหาตมะ คานธี เคยเขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่าน ซึ่งหนังสือเล่มนี้แปลออกมาเป็นฉบับภาษาไทยในชื่อว่า ‘ข้าพเจ้าทดลองความจริง: อัตชีวประวัติของมหาตมะ คานธี’ และได้กล่าวถึง ‘บาปเจ็ดประการ’ ในทัศนะของคานธีเอาไว้ว่า

“(1) เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ (2) หาความสุขสำราญโดยไม่ยั้งคิด (3) ร่ำรวยเป็นอกนิษฐ์โดยไม่ต้องทำงาน (4) มีความรู้มหาศาล แต่ความประพฤติไม่ดี (5) ค้าขายโดยไม่มีหลักศีลธรรม (6) วิทยาศาสตร์เลิศล้ำ แต่ไม่มีธรรมแห่งมนุษย์ (7) บูชาสูงสุด แต่ไม่มีความเสียสละ”

ผมไม่แน่ใจว่าปัญหา ‘4 ไร้’ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ-ไร้ความชอบธรรม, ไร้ความรับผิดชอบ, ไร้ความรู้ และไร้ความกล้าหาญ จะเป็นบาปตามข้อเสนอเรื่อง ‘เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ’ ของมหาตมะ คานธีหรือไม่

แต่ผมมั่นใจอย่างหนึ่งว่า หากการตัดสินใจของสภาปฏิรูปแห่งชาติสะท้อนถึงความ ‘ไม่รู้จริง’ ในหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบดังที่ผมได้นำเสนอไปตอนต้นของบทความนี้  อีกทั้งยังขาดความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะนำเสนอปัญหารากฐานของสังคมดังที่ควรจะเป็น และยังขาดการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อถูกบังคับใช้แล้ว จะนำไปสู่ความแตกแยกของสังคมอย่างรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา แทนที่จะนำไปสู่ความปรองดองอย่างที่ตั้งใจไว้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: