เปิดความลับโทษประหาร ไทยถูกตัดสินแล้ว678ราย

28 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3630 ครั้ง

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงว่า การลงโทษประหารชีวิตในเอเชียแปซิฟิก เต็มไปด้วยการปกปิดความลับ โดย ริชาร์ด เบนเน็ต ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสะท้อนลักษณะการปกปิดความลับอย่างน่ากลัว เกี่ยวกับการประหารชีวิตในปี 2556 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุในรายงานประจำปีว่าด้วยโทษประหารทั่วโลก ในหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม ทางการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยความโปร่งใสเกี่ยวกับโทษประหาร โดยไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขการประหารชีวิต หรือไม่แจ้งให้ญาติ ทนายความ หรือสาธารณชนได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการประหารชีวิต

การปกปิดข้อมูลการประหารชีวิตเป็นความลับเกิดขึ้นทั่วไปในเอเชีย เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง และไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ทำให้เกิดคำถามว่า ในการทำเช่นนี้รัฐบาลพยายามปกปิดอะไร?

            “โลกกำลังมุ่งหน้าสู่การยกเลิกโทษประหาร แต่หลายประเทศในเอเชียกลับพยายามว่ายทวนน้ำ และพยายามปกปิดข้อมูลการสังหารโดยได้รับอนุญาตจากรัฐ”

สิบประเทศในเอเชียมีการประหารชีวิตในปี 2556 มากกว่าปีก่อนหน้าสองครั้ง ทั้งอินโดนีเซียและเวียดนามเริ่มประหารชีวิตอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว หลังจากพักการประหารชีวิตมาเป็นเวลานาน ตลอดทั่วทั้งภูมิภาคในปีที่แล้วมีการประหารชีวิตอย่างน้อย 37 ครั้ง น้อยกว่าปี 2555 จำนวนหนึ่งครั้ง ทั้งนี้ไม่รวมจำนวนการประหารชีวิตในประเทศจีน ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่ามีผู้ถูกประหารหลายพันคน มากกว่าจำนวนผู้ถูกประหารทั้งโลกรวมกัน แต่รัฐบาลจีนปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการประหารชีวิตเป็นความลับทางราชการ ทำให้ไม่สามารถจำแนกตัวเลขที่ถูกต้องได้

เราไม่สามารถยืนยันตัวเลขในเกาหลีเหนือที่เต็มไปด้วยความลับได้ แม้จะมีรายงานที่น่าเชื่อถือแต่ไม่สามารถยืนยันจากแหล่งข้อมูลอิสระได้ว่า มีผู้ถูกประหารอย่างน้อย 70 คน ในปี 2556 อินโดนีเซียรื้อฟื้นการประหารชีวิตเป็นครั้งแรกในรอบสี่ปีเมื่อเดือนมีนาคม โดยเป็นการประหารบุคคลสัญชาติมาลาวีในข้อหายาเสพติดด้วยการยิงเป้า และยังมีการประหารชีวิตอีกสี่คนในปีดังกล่าว รวมทั้งรัฐบาลยังมีถ้อยแถลงที่น่ากังวลระบุถึงแผนการที่จะเพิ่มการประหารชีวิตมากขึ้น

การประหารชีวิตเกิดขึ้นโดยแทบจะเป็นความลับทั้งหมด

ริชาร์ดกล่าวต่อว่า อินโดนีเซียก้าวถอยหลังครั้งสำคัญในแง่สิทธิมนุษยชนเมื่อปีที่แล้ว ด้วยการเริ่มการประหารชีวิตใหม่ รัฐบาลอินโดนีเซียมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำด้านสิทธิอย่างแท้จริงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การกระทำเช่นนั้นทำให้เกิดการก้าวถอยหลัง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างยิ่ง หากรัฐบาลคิดว่าเป็นการใช้การประหารชีวิตเป็นนโยบายประชานิยมเพื่อเรียกความสนับสนุน ก็นับเป็นเรื่องน่าตกใจที่เอาชีวิตมนุษย์มาล้อเล่น

ส่วนเวียดนามเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ถือว่า ข้อมูลการประหารชีวิตเป็นความลับทางราชการ โดยมีการฉีดยาเพื่อประหารบุคคล 7 คนในปี 2556 นับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบ 18 เดือน ในปี 2555 รัฐบาลเวียดนามไม่ประสบความสำเร็จในการประหารชีวิตเนื่องจากทางประชาคมยุโรปมีคำสั่งห้ามส่งออกยาที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการฉีดให้เสียชีวิต และรัฐบาลได้ประกาศเมื่อปีที่แล้วว่าอาจหวนกลับไปใช้การยิงเป้าแทนในอนาคต

การปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการประหารชีวิตเป็นความลับเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ในอินเดียมีการประหารชีวิตผู้ชายเพียงคนเดียวในปี 2556 โดยเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายต่อรัฐสภาอินเดียเมื่อปี 2545 โดยรัฐจัดให้มีการประหารชีวิตโดยไม่แจ้งล่วงหน้า แม้จะมีผู้แสดงข้อกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีนี้

รัฐบาลญี่ปุ่นและมาเลเซียยังคงไม่แจ้งต่อสาธารณะล่วงหน้าก่อนจะมีการประหารชีวิต ในญี่ปุ่น นักโทษประหารไม่มีโอกาสได้ทราบข้อมูลว่าวันใดจะเป็นวันสุดท้ายในชีวิตของตนเอง แม้จะมีความถดถอยเหล่านี้ แต่มีพัฒนาการเชิงบวกอยู่บ้างในเอเชียสำหรับปี 2556 ในปากีสถาน รัฐบาลใหม่ได้สั่งชะลอการใช้โทษประหาร หลังจากมีการประหารชีวิตหนึ่งคนเมื่อปี 2555 และเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ไม่มีการประหารชีวิตในสิงคโปร์ และยังมีการเปลี่ยนโทษประหารของนักโทษจำนวนหกคน ภายหลังการทบทวนกฎหมายบังคับใช้โทษประหารของประเทศเมื่อปี 2555

แม้แต่จีนก็มีความก้าวหน้าอยู่บ้าง เนื่องจากศาลสูงสุดได้สนับสนุนมาตรการคุ้มครองด้านกฎหมายในคดีที่มีโทษประหาร ส่วนอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขประกาศแผนยุติการนำอวัยวะของนักโทษประหารไปใช้ประโยชน์ภายในกลางปี 2557 แม้ปาปัวนิวกินีขู่ว่าจะเริ่มประหารชีวิตใหม่ แต่ภูมิภาคแปซิฟิกยังคงเป็นอนุภูมิภาคเดียวที่ปลอดจากการประหารชีวิตหรือการใช้โทษประหาร

ในประเทศไทย ช่วงที่ผ่านมายังไม่มีการประหารชีวิต มีคำตัดสินลงโทษประหารครั้งใหม่อย่างน้อย 50 ครั้งในคดีฆาตกรรมและยาเสพติด รวมทั้งจำเลยที่เป็นพลเมืองต่างชาติ ตัวเลขตามรายงานของกรมราชทัณฑ์ชี้ให้เห็นว่า จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2556 มีนักโทษประหารอยู่ 678 คน

อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ตีพิมพ์รายงานประจำปี ว่าด้วยโทษประหารระดับโลกในวันนี้ ครอบคลุมทั้งการใช้โทษประหารและการประหารชีวิตในปี 2556 จากข้อมูลในรายงาน การใช้โทษประหารอย่างกว้างขวางในอิหร่านและอิรัก ทำให้ตัวเลขจำนวนการประหารชีวิตทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นมากสำหรับปี 2556 สวนทางกับแนวโน้มของโลกที่มุ่งสู่การยกเลิกโทษประหาร

ถ้าไม่นับประเทศจีนซึ่งปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนการประหารชีวิต เรามีข้อมูลว่ามีการประหารชีวิต 778 ครั้งในปี 2556 เทียบกับ 682 ครั้งในปี 2555 ประเทศที่มีการประหารชีวิตมากสุดรองจากจีนได้แก่ อิหร่าน (369 ครั้ง) และอิรัก (169 ครั้ง) ตามมาด้วยซาอุดิอาระเบีย (79 ครั้ง) และสหรัฐฯ (39 ครั้ง)

ติดตามข้อมูลข่าวสารจากแฟนเพจเฟสบุ๊คของ TCIJ

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: