คสช.แถลงโรดแมปรธน. ไม่ห้าม'ประยุทธ์'เป็นนายก

TCIJ 23 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1615 ครั้ง

ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. รับสนองพระบรมราชโองการ ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 กรกฎาคม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ศาตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้า คสช. และนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษากฎหมาย คสช. ร่วมแถลงชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ และกระบวนการทำงานต่อจากนี้ไป

โดยนายวิษณุกล่าวถึงโรดแมปหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกใช้นับจากนี้ไม่เกิน 1 ปีบวกลบ และเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วเสร็จ กฎหมายลูกดำเนินการเสร็จสิ้น จึงจะเข้าสู่ระยะที่ 3 คือ การจัดการเลือกตั้งเพื่อคืนการปกครองประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศชาติ โดยเชื่อว่าในช่วงเวลา 1 ปีจากนี้จะสามารถจัดการปัญหาที่ค้างคาอยู่และเป็นชนวนความขัดแย้งเป็นผลสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่เพื่อไม่ให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าการรัฐประหารเป็นการสูญเปล่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจึงต้องวางหลักเกณฑ์บางประการที่ดูเข้มงวดกวดขัน ยุ่งยาก แต่ก็ถือว่าจำเป็น เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเหมือนต้นทางของแม่น้ำอีก 5 สายที่จะไหลพรั่งพรู นายวิษณุ ขยายความต่อว่า

สายที่ 1 คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกิดจากการคัดเลือกโดย คสช. ด้วยการใช้ฐานข้อมูลที่จัดทำไว้แล้ว เพื่อให้ครอบคลุมสาขา อาชีพ ภูมิภาค เพศ วัย คุณสมบัติ ซึ่งผู้ที่จะรับได้คัดเลือกเป็น สนช. จะต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ไม่มีตำแหน่งในพรรคการเมือง สนช. จะมีอำนาจ 4 ประการ คือ ออกกฎหมาย, ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี, การควบคุมการทำงานของรัฐบาล โดยการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี อภิปรายทั่วไป แต่ไม่มีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจ และให้ความเห็นชอบบางเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่สภา เช่น แต่งตั้งบุคคลขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

สายที่ 2 คณะรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดให้มีอำนาจเพิ่มขึ้นจากอำนาจบริหารราชการแผ่นดินอีก 2 อย่าง คือ อำนาจปฏิรูปในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะริเริ่มขึ้นเองหรือมีการเสนอมาจากส่วนอื่นๆ รวมถึงมีอำนาจสร้างความสามัคคีปรองดองและความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น

สายที่ 3 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหาจากจังหวัดต่างๆ 77 คน ส่วนอีก 173 คน มาจากทั่วประเทศ โดยกำหนดหัวข้อการปฏิรูป 11 ด้าน โดยให้องค์ต่างๆ เป็นผู้เสนอชื่อองค์กรละ 2 คน เพื่อให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือก ด้านละไม่เกิน 50 คน รวมแล้ว 11 ด้าน 550 คน เพื่อทำการคัดเลือกขั้นตอนสุดท้ายอีกครั้ง โดยสมาชิก สปช. ไม่มีข้อห้ามการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือเป็นข้อราชการ เพราะถือว่าการปฏิรูปเป็นเรื่องของประเทศ

อำนาจหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ คือเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ หากปฏิบัติได้ทันที หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับไปดำเนินการเลย แต่หากต้องมีกฎหมายรองรับก็จะทำการยกร่างกฎหมายและนำเสนอ สนช. ต่อไป รวมถึงการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่มีคณะกรรมาธิการยกร่างขึ้น

สายที่ 4 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีเวลาทำงานยกร่าง 120 วัน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ คุณสมบัติต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง 3 ปี ย้อนหลัง ห้ามบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปอีก 2 ปี เมื่อร่างเสร็จอาจมีการแปรญัตติได้ ก่อนส่งให้สภาปฏิรูปให้ความเห็นชอบ การร่างต้องร่างภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 35

สายที่ 5 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปฏิบัติ ซึ่ง ครม. มีสิทธิ์ ไม่ดำเนินการตามนั้นได้ และสอง-เชิญ ครม. หารือร่วมกับคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ คสช. จะไม่มีอำนาจปลดนายกรัฐมนตรี หรือ ครม. ไม่มีอำนาจบังคับ ครม. หรือข้าราชการ คสช. มีอยู่เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของ ครม. ในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงเวลา 1 ปีนี้ เพื่อไม่ต้องใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญอื่นใดอีก ซึ่งอำนาจนี้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 44

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้กำหนดกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ เช่น การป้องกันขจัดการทุจริต การป้องกันไม่ให้คนที่เคยได้ชื่อว่าทุจริตหรือโกงการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาดในอนาคต การกำหนดหลักการในการป้องกันไม่ให้มีการนำงบประมาณแผ่นดินมาใช้ในการมุ่งหาเสียงหรือประโยชน์ใส่ตนโดยทุจริต การทบทวนความจำเป็นของการมีอยู่ขององค์กรอิสระ เป็นต้น

“ลำธาร 5 สายนี้จะอยู่จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สนช. จะอยู่จนกว่าจะมี ส.ส.สมัยหน้า ครม. จะอยู่จนกว่าจะมี ครม. ใหม่มารับไม้ต่อ สนช. ก็จะอยู่จนกว่าจะมีรธน.ฉบับใหม่ที่ร่างไว้ว่าจะให้ สนช.เป็นอย่างไร กมธ.จะทำหน้าที่เสร็จเมื่อมีพระปรมาภิไธย รวมถึง คสช. ก็จะอยู่จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อร่างเสร็จแล้วจะเปิดให้ลงประชามติหรือไม่ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้เขียนไว้ แต่ไม่ได้ปิดทางเป็นสิ่งที่สามาถไปพิจารณาตามความจำเป็นในอนาคตได้” นายวิษณุ กล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร กล่าวด้วยว่า อำนาจตาม มาตรา 44 ของ คสช. ที่มีการกล่าวว่าเป็นอำนาจเด็ดขาดเช่นเดียวกับมาตรา 17 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ความจริงไม่แรงเช่นที่ว่า แต่เขียนไว้เพื่อสร้างความสงบ เป็นปึกแผ่น สร้างบรรยากาศที่ดีไปสู่การปฏิรูป หากมีสิ่งใดที่รัฐบาลปกติทำไม่ได้ ก็ให้อำนาจ คสช. เป็นผู้ปฏิบัติ

นอกจากนี้ พล.อ.ไพบูลย์ ยังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ไม่ปิดกั้นหัวหน้า คสช. ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: