แรงงานพม่ากว่า2ล้านคนหวั่นตกสำรวจ รัฐบาลสำรวจประชากรครั้งใหญ่ใน30ปี

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 21 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 3676 ครั้ง

ดร.จอตู ประธานมูลนิธิปองกู ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนการทำงานของกลุ่มเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อมและชุมชนในประเทศพม่า เปิดเผยว่า ทางการพม่าเตรียมสำมะโนประชากรในประเทศพม่า ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี โดยจะดำเนินการในช่วงต้นเดือนเมษายน อย่างไรก็ตามการทำสำมะโนประชากรครั้งนี้มีปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้เลย นอกจากนี้ประชาชนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ก็ยิ่งไม่ทราบเรื่อง รวมแรงงานที่ไปทำงานอยู่ในประเทศไทย

ดร.จอตูกล่าวว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่สู้รบกว่า 1.5 แสนคน อาจต้องกลายเป็นผู้ตกสำรวจเพราะภาครัฐเข้าไม่ถึง ที่สำคัญคืออาจเกิดความสับสนขึ้น เพราะในแบบสำรวจให้ระบุว่า เป็นชนชาติพันธุ์ใดเพียง 1 ชาติพันธุ์ แต่ขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากที่ผสมผสานหลายชาติพันธุ์ เช่น คนปะโอแต่งงานกับคนกะเหรี่ยง หรืออย่างกรณีของคนจีนกลุ่มใหญ่ ที่เดินทางเข้าประเทศพม่า ตั้งแต่ปี 1990 ตามเขตชายแดนพม่า-จีนกว่า 2 ล้านคนและได้ซื้อบัตรประชาชน ซึ่งยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะดำเนินการกับเรื่องนี้อย่างไร

ประธานมูลนิธิปองกูกล่าวว่า อยากให้ประชาชนหรือผู้แทนองค์กรกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ประสบปัญหาอาจตกสำรวจครั้งนี้ ทำหนังสือถึงทางการพม่า เพื่อหามาตรการแก้ไขเป็นการด่วน เพราะมิฉะนั้นอาจกลายเป็นคนไร้สัญชาติอย่างถาวร เพราะในความเป็นจริงแล้วแรงงานที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ก็คงไม่สามารถเดินทางกลับประเทศพม่าได้ในวันที่มีการสำรวจ นอกจากนี้การสำมะโนประชากรครั้งนี้อาจสร้างความตรึงเครียดให้กับสถานการณ์ในกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยเช่นกัน โดยรัฐบาลบอกว่า จะสำรวจใน 7 กลุ่มชาติพันธุ์หลักคือ พม่า ชิน กะเหรี่ยง คะยา คะฉิ่น มอญ ยะไข่ และฉาน แต่ในความเป็นจริงคือ ภายในแต่ละชาติพันธุ์ก็ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย ๆ ดังนั้นคนที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย อาจรู้สึกไม่พอใจหากถูกระบุว่า เป็นชาติพันธุ์ในกลุ่มที่พวกเขาคิดว่าไม่ใช่ เช่น กรณีชาวโรฮิงยาในรัฐยะไข่ เป็นต้น

ข้อมูลจาก Wikipedia

            “การสำรวจครั้งนี้อาจเป็นเรื่องการเมืองเข้ามาปะปนด้วย เพราะขณะนี้มีข่าวว่า รัฐบาลพม่าได้ไปสำรวจและทำบัตรประชาชนแจกในหลายพื้นที่ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2015 โดยเฉพาะในรัฐยะไข่ และใช้กลุ่มพระสงฆ์ในนามกลุ่ม 1969 กระจายข่าวว่า พรรคเอ็นแอลดีสนับสนุนชาวมุสลิมมากกว่าชาวยะไข่” ดร.จอตู กล่าวและว่า พระสงฆ์กลุ่ม 1969 เกิดขึ้นเมื่อคราวเกิดเหตุจลาจลระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในยะไข่ แต่ข่าวออกมามุมเดียวว่า ชาวพุทธฆ่าชาวมุสลิม ทำให้เกิดขบวนการพระสงฆ์ขึ้นมา และแพร่ขยายไปยังรัฐต่าง ๆ โดยมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และผู้มีอำนาจในรัฐบาลบางกลุ่มก็ให้การสนับสนุน

ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่เดินทางมาจากประเทศพม่า ทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงการสำมะโนประชากรของทางการพม่าในครั้งนี้ ทำให้หลายคนหวั่นเกรงว่า แรงงานเหล่านี้จะตกสำรวจ และกลายเป็นผู้มีปัญหาด้านสถานะบุคคลในพม่าต่อไป

ข้อมูลจาก สถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามแรงงานพม่าที่ทำงานอยู่บริเวณสะพานปลามหาชัย จ.สมุทรสาคร โดยส่วนใหญ่ไม่ทราบเรื่องการสำมะโนครั้งนี้ และคิดว่าจะไม่เดินทางกลับไป เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงปากท้อง ขณะที่แรงงานพม่าระดับหัวหน้างานบางราย แม้รับรู้ว่าจะมีการสำมะโนประชากรในพม่าผ่านทางสื่อ แต่ก็ไม่กลับประเทศเช่นกันเพราะเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องกลับ เนื่องจากทราบว่า การสำรวจครั้งนี้เพราะรัฐบาลพม่าต้องการรับรู้ว่ามีประชากรและแรงงานในต่างประเทศเท่าไหร ซึ่งลูกเมียที่อยู่บ้านในประเทศพม่าก็แจ้งชื่อให้ได้

ทั้งนี้ในเว็บไซต์ของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (เอฟพีเอ) ระบุว่า จะมีการทำสำมะโนประชากรระหว่างวันที่ 29 มีนาคม -10 เมษายน โดยเป็นการสร้างข้อมูลทางสังคม เศรษฐกิจ ประชากรและลักษณะของครัวเรือนเพื่อเป็นฐานระหว่างการปฎิรูป การวางแผนพัฒนา และหลักธรรมาภิบาล เนื่องจากประเทศต้องมีข้อมูลและสถิติที่ถูกต้องจึงจะสามารถออกนโยบายและแผนงานการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนได้ โดยผู้ที่จะถูกนับรวม คือผู้ที่อยู่ในประเทศในคืนวันที่ 29 มี.ค.ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ต้องถูกนับรวม

ส่วนกลุ่มประชากรพิเศษก็จะถูกนับรวมเช่นกัน เช่น คนไร้บ้าน คนเดินทางในสนามบินหรือจุดผ่านแดน ผู้พลัดถิ่นในประเทศและผู้ลี้ภัย ทั้งนี้การประมาณการประชากรในพม่าปัจจุบันอยู่ระหว่าง 50-60 ล้านคน ซึ่งระหว่างการจัดทำสำมะโนจะมีการลงพื้นที่ประมาณ 12 ล้านครัวเรือน

นอกจากนี้จะมีการทำแผนที่ลงรายละเอียดในทุกพื้นที่ของประเทศ จะมีการจัดทำแผนที่สำหรับพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสำหรับผู้พลัดถิ่นในประเทศ โดยกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและประชากรได้มีข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการกับกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ในการจัดทำแผนที่โดยไม่มีการก้าวก่ายกัน

ขอบคุณภาพจาก Google และ tnews

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: