'สภาปฏิรูป'ชงรัฐธรรมนูญ สูตรใหม่ยังคงอำนาจคสช.

TCIJ 12 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2028 ครั้ง

หัวหน้า คสช. เผยร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีไม่เกิน 50 มาตรา คงอำนาจ คสช. ไว้ควบคู่รัฐบาลแต่งตั้ง เปิดสูตรสภาปฏิรูป แบ่ง 11 กลุ่ม 250 คน ส่งข้อเสนอให้ทั้งสภานิติบัญญัติและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2557 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและที่มาสภาปฏิรูปว่า สำนักงานปฎิรูปของคสช. ได้รวบรวมบุคลากรและข้อมูลจากหลายภาคส่วนสำหรับการทำความเข้าใจกันและกันไว้แล้ว และต้องการให้ทุกภาคส่วนเตรียมส่งผู้แทนเพื่อสมัครเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป โดยกระบวนการคัดสรรจะแบ่งเป็น 11 กลุ่ม ประมาณ 550 คน

อีกส่วนคือตัวแทนของแต่ละจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดจะมีผู้แทนของตน 5 คน รวมเป็น 380 คน แล้วจึงทำการคัดเลือกให้เหลือจังหวัดละ 1 คน เท่ากับในส่วนของตัวแทนแต่ละจังหวัดจะมีทั้งสิ้น 76 คน

ทั้งสองส่วนนี้รวมกันจะทำการคัดเลือกอีกครั้งหนึ่งให้เหลือเพียง 250 คนและแบ่งลงใน 11 กลุ่ม สภาปฏิรูปนี้จะจัดทำข้อเสนอส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป

ในส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ฝ่ายกฎหมายของ คสช. จัดทำไว้จะมีไม่เกิน 50 มาตรา ระบุให้รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นภายในเดือนกันยายนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อจำกัดบางประการอยู่บ้างในรัฐธรรมนูญ หากใช้วิธีการบริหารราชการปกติทุกเรื่องและจะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ จึงจำเป็นต้องให้เวลา ให้โอกาส และเครื่องมือแก่ คสช. ในการทำงานนี้ด้วย

ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจึงกำหนดบทบาทอำนาจของ คสช. และรัฐบาลให้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ การบริหารจะเน้นหนักให้รัฐบาลเป็นผู้บริหารราชการ ขณะที่ คสช. จะรับผิดชอบด้านความมั่นคง ส่วนความร่วมมือระหว่าง 2 ฝ่ายจะเป็นไปในลักษณะการหารือร่วม ประชุมร่วม แลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล มีการประชุมเมื่อจำเป็น และเสนอแนะข้อพิจารณาต่างๆ ให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: